แนวทางกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และบริการ OTT
"...บทบาทของการส่งเสริม กสทช. ควรจะพัฒนากิจการโทรทัศน์ของไทยให้กลายเป็นเศรษฐกิจนวัตกรรม (Creative Economy) ที่เน้นการผลิตเนื้อรายการที่สร้างสรรค์มีคุณภาพ และใช้ประโยชน์ของบริการ OTT เพื่อเป็นช่องทางในการส่งออกเนื้อหารายการดังกล่าวออกไปทั่วโลกแทน โดยอาจจะพัฒนาบริการ OTT ของประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่และแสวงหารายได้จากเนื้อหารายการของตนเอง..."
กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมต่างก็เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ถึงแม้ว่าทั้งสองกิจการจะถือว่าเป็นกิจการสื่อสารเหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารไปสู่สาธารณะหรือจากหนึ่งจุดเป็นยังหลาย ๆ จุด (One to Many Communication) ในส่วนของกิจการโทรคมนาคมมีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (One to One Communication) ดังนั้นที่ผ่านมาทั้งสองกิจการจึงต่างถูกพัฒนาแยกอิสระต่อกัน ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ และกฎหมายที่เป็นเครื่องมือการกำกับดูแลของภาครัฐ
กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีเป้าหมายหลักเพื่อสื่อสารไปสู่สาธารณะ ดังนั้นข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาที่ส่งผ่านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงการปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่แก่นสำคัญของกิจการโทรคมนาคมคือเรื่องความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารเพราะวัตถุประสงค์เป็นการสื่อสารส่วนบุคคลเป็นหลัก ดังนั้นกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์จึงให้ความสำคัญในการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่ส่งไปสู่ประชาชน ว่าจะต้องเป็นเนื้อหาที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และมีความหลากหลาย ในขณะที่กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมจะมุ่งเน้นให้การสื่อสารระหว่างบุคคลมีความเสถียร ทั่วถึง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
การเกิดขึ้นของบริการอินเทอร์เน็ตทำให้โครงสร้างของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงแม้ว่าบริการอินเทอร์เน็ตเป็นบริการที่อยู่ภายใต้กิจการโทรคมนาคม แต่บริการอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนสภาพกิจการโทรคมนาคมจากการสื่อสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (One to One Communication) ไปเป็นการสื่อสารจากหนึ่งจุดเป็นยังหลาย ๆ จุด (One to Many Communication) หรือทำให้โครงข่ายเพื่อการสื่อสารส่วนบุคคลกลายเป็นโครงข่ายเพื่อการสื่อสารสาธารณะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือการเกิดขึ้นและเป็นที่แพร่หลายของการรับชมภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (Over the Top: OTT) ต่างๆ อาทิ YouTube Facebook (live) Netflix ที่ใช้โครงข่ายในกิจการโทรคมนาคมไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ ในการนำพาที่มีลักษณะที่อาจถือได้ว่าเป็นบริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ไปสู่สาธารณะ
บริการ OTT ที่ทำให้อัตราการรับชมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เดิมลดลง ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นแล้วปัจจุบันบริการ OTT มิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลการประกอบกิจการเช่นเดียวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เดิม ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน เพราะถึงแม้แหล่งรายได้ของบริการ OTT และกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์จะมาจากค่าโฆษณาแหล่งเดียวกัน แต่ผู้ประกอบกิจการบริการ OTT ไม่จำเป็นต้องได้รับภาระที่เกิดจากการกำกับดูแล (Regulatory Cost) เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อาทิ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ข้อจำกัดในการออกอากาศตามเงื่อนไขของกฎหมาย เป็นต้น
การเกิดขึ้นของบริการ OTT นี้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อกระบวนทัศน์ของหน่วยงานกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในกรณีของกลุ่มประเทศยุโรปได้ปรับเปลี่ยนนิยามของกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้หมายรวมถึงบริการ OTT ซึ่งมีบทบาทในการคัดกรองเนื้อหา หรือบทบาทบรรณาธิการ (Editorial Responsibility) ด้วย และใช้วิธีการกำกับดูแลเนื้อหาร่วมกันระหว่างบริการ OTT กับหน่วยงานกำกับดูแล (Co-Regulate) พร้อมกันนั้นยังได้มีการลดความเข้มข้นในการกำกับดูแลโฆษณา และเพิ่มโอกาสในการที่จะแสวงหารายได้เพิ่มเติมได้สำหรับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันกับบริการ OTT
กรณีประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่พอที่จะต่อรองและไม่อาจต้านทานการไหลบ่าของบริการ OTT ก็ควรจะถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐโดย กสทช. อาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองที่เน้นการกำกับดูแล ไปสู่การส่งเสริม โดยจะต้องสร้างความร่วมมือกับผู้ให้บริการ OTT (Co-regulate) ในการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่เผยแพร่ในประเทศไทย พร้อมไปกับการลดภาระต้นทุนและลดเงื่อนไขการกำกับดูแลที่เป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. เพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขันกับบริการ OTT
บทบาทของการส่งเสริม กสทช. ควรจะพัฒนากิจการโทรทัศน์ของไทยให้กลายเป็นเศรษฐกิจนวัตกรรม (Creative Economy) ที่เน้นการผลิตเนื้อรายการที่สร้างสรรค์มีคุณภาพ และใช้ประโยชน์ของบริการ OTT เพื่อเป็นช่องทางในการส่งออกเนื้อหารายการดังกล่าวออกไปทั่วโลกแทน โดยอาจจะพัฒนาบริการ OTT ของประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่และแสวงหารายได้จากเนื้อหารายการของตนเอง
ในท้ายสุด กสทช. ควรจะเสริมศักยภาพในการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ เพื่อรองรับเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสมที่ไหล่บ่ามาจากทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในระยะยาว
พสุ ศรีหิรัญ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากข่าวหุ้น