เอฟทีเอวอช วอนจับตา ครม.10ก.ค. เปิดทางลดภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์ สร้างนักดื่มหน้าใหม่
กลุ่มศึกษาเอฟทีเอภาค ปชช.วอนสังคมจับตา ก.พาณิชย์ฯ อาจลักไก่ชง ครม.แก้ยุทธศาสตร์แอลกฮอล์ กีดกันนโยบายสารธารณะคุมสุรา-เปิดทางลดภาษีนำเข้าทำราคาภายในลด ส่งผลนักดื่มหน้าใหม่เพิ่ม
วันที่ 9 ก.ค.55 น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA WATCH) เปิดเผยข้อมูลและขอให้สังคมช่วยกันจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรีพรุ่งนี้(10 ก.ค.55) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) อาจจะขอปรับแก้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.ค.53 ที่ได้อนุมัติยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ โดยเสนอตัดยุทธศาสตร์ที่ 5.5.4 มาตรการปกป้องความเข้มแข็งของนโยบายแอลกอฮอล์จากผลกระทบของข้อตกลงระหว่างประเทศ ออกไป เพื่อกรุยทางสำหรับเปิดการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปให้ได้ภายในเดือนหน้า เพราะสหภาพยุโรปมีทีท่าที่ชัดเจนว่า ต้องการข้อตกลงที่ให้ประเทศไทยเก็บภาษีแค่เพียงแบบเดียวและลดภาษีลงร้อยละ 90 ภายในเวลา 7 ปี
“สาระสำคัญประเด็นแรกคือเปิดโอกาสให้มีการลดภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้ราคาในประเทศลดลง และกระตุ้นให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น ปัญหาสังคมจะตามมามากมาย ประเด็นต่อมาคือต่อไปจะห้ามออกนโยบายสาธารณะในประเทศที่เป็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ที่คาดว่าจะถูกขอตัดทิ้งนั้นมีแนวทางดังนี้
1.พิจารณาสนับสนุนการถอนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบริการที่เกี่ยวข้องออกจากข้อตกลงการค้าและผลกระทบที่พึงมี และ/หรือการละเว้นการบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าเป็นรายชื่อสินค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยให้มีกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายและคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ
2.นับสนุนการป้องกันนโยบายแอลกอฮอล์จากผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรี รวมถึงพิจารณาพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์ของประเทศเพื่อชดเชยผลกระทบหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยต้องเน้นที่มาตรการที่มีประสิทธิผลและความคุ้มค่า เช่น การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อชดเชยภาษีศุลกากรที่ลดลง
3.พัฒนากระบวนการเจรจาต่อรองข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยลดอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมจากอุตสาหกรรมสุรา
4.พัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมทุกภาคส่วนถึงผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีที่มีต่อสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติการนำเข้าของไทย พบว่าในปี 2553 ที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นการนำเข้าจากสหภาพยุโรปมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 75.0 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
________________