ทีโออาร์ ประมูลดิวตี้ ฟรี มีการล็อคสเปคอย่างไร
"...การตัดสินว่าจะให้ใครเป็นผู้ชนะการประมูลโดยให้คะแนนด้านผลตอบแทนแก่รัฐกับคะแนนด้านเทคนิคในอัตรา 20 : 80 ข้อนี้อ่านเกมไม่ออกแต่ยอมรับว่าประหลาดมาก เพราะต่ำกว่านานาชาติที่เขาใช้เกณฑ์ประมาณ 40 : 60..."
“ธุรกิจดิวตี้ฟรี” ถ้าทำกันอย่างตรงไปตรงมาธุรกิจนี้ใหญ่และให้ผลตอบแทนสูงมากแต่ไม่ซับซ้อน มีผู้รู้เล่าว่าสามารถทำกำไรจนคืนทุนได้ภายใน 3 - 4 ปีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าต้องจ่ายส่วนแบ่งเป็นทางการให้รัฐเท่าไหร่ ส่วนสัมปทานที่เหลืออีก 6 – 7 ปีก็กินสบายๆ หลายคนจึงอยากทำธุรกิจนี้ แต่การกำหนดให้ยื่นราคาภายใน 30 วันหลังขายทีโออาร์ ราคา 2.5 ล้านบาท (ที่เป็นภาษาไทย ความยาว 40 หน้า) ตรงนี้สร้างปัญหาให้รายใหม่แน่นอน
ผมมีข้อสังเกต 3 ประเด็นต่อคำถามนี้ ขอเปิดวงสนทนาชวนทุกท่านคิดและแสดงความคิดเห็นร่วมกันครับ
1. ปกปิดข้อมูลผู้ใช้บริการสนามบินและธุรกิจ !
ข้อมูลธุรกิจของแต่ละสนามบินถือเป็นข้อมูลของรัฐที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินว่าสามารถทำรายได้มากขนาดไหน ควรแบ่งกำไรให้รัฐเท่าไหร่ เช่น ที่ผ่านมาในสี่สนามบินแต่ละแห่งมีลูกค้าที่มาจากประเทศไหนบ้าง อย่างคนจีนชอบช้อปปิ้งแต่คนยุโรปเน้นเที่ยวพักผ่อนมากกว่า เครื่องประดับ น้ำหอมกำไรสูงมาก เครื่องไฟฟ้ากำไรน้อยกว่า เป็นต้น
ข้อมูลอย่างนี้ฮ่องกง สิงคโปร์ เขาเปิดเผยเพราะผู้ประกอบการเข้าใจสถานการณ์ง่าย ชัดเจน สร้างแรงจูงใจได้ดี ผลตอบแทนให้รัฐจึงมาก แต่วันนี้มีเพียง “เจ้าเก่า” ที่รู้
2. ช่วงเวลายื่นซองสั้นมากไป !
ที่เกาหลี ฮ่องกงรัฐบาลให้เวลา 60 - 90 วันซึ่งถือว่าเปิดโอกาสให้เตรียมตัวเพื่อแข่งขันได้ดีกว่า แต่บ้านเรากำหนดยื่นซองภายใน 30 วัน
อย่าลืมว่าเรามีเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเป็นผู้เคยทำธุรกิจนี้มาก่อน ดังนั้นบริษัทคนไทยที่ไม่ใช่รายเดิมจำเป็นต้องร่วมทุนกับต่างชาติ และแม้ว่าพวกเขาจะเจรจาจับมือกันมาก่อนแล้วแต่ก็มีเรื่องเร่งด่วนต้องทำคือ ต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทไทยให้ทัน เอกสารสำคัญของเขาก็ต้องผ่านการรับรองจากทางการของเขาเช่นกัน
ที่แย่กว่านั้นคือ ต้องรีบเร่งหาคนแปลเอกสารทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษและต้องเป็นคนแปลที่เป็นบุคคลที่สามที่ทั้งสองฝ่ายไว้วางใจด้วย ก่อนที่จะศึกษาเงื่อนไขได้ชัดเจน มั่นใจ
3. ตัดเชือกการชนะประมูลเน้นด้านเทคนิคมากกว่าการให้ผลตอบแทนแก่รัฐ!
การตัดสินว่าจะให้ใครเป็นผู้ชนะการประมูลโดยให้คะแนนด้านผลตอบแทนแก่รัฐกับคะแนนด้านเทคนิคในอัตรา 20 : 80 ข้อนี้อ่านเกมไม่ออกแต่ยอมรับว่าประหลาดมาก เพราะต่ำกว่านานาชาติที่เขาใช้เกณฑ์ประมาณ 40 : 60
ใครให้ผลประโยชน์มากน้อยเห็นได้ชัดเจน แต่ด้านเทคนิคมีแง่มุมหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะเลือกหยิบขึ้นมา
ขออนุญาตออกความเห็นเรื่องเกณฑ์ด้านเทคนิคว่า ทอท. น่าจะรวบรวมประเด็นที่เคยเป็นคดีความ ถูกร้องเรียนหรือถูกอภิปรายในรัฐสภา สปช. และ สปท. เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสหรือมีการทุจริตมาเป็นประเด็นพิจารณาด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เช่น ระบบการบันทึกและแจ้งยอดขายจริงทางอิเล็คทรอนิคส์ (POS) มาตรการป้องกันการนำสินค้าออกขายนอกระบบ ส่วนแบ่งที่ต้องจ่ายแก่รัฐจากการขายในร้านค้าที่สนามบินกับร้านค้าในเมือง เป็นต้น
นี่เป็นคำตอบจากประสบการณ์เรื่องคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปครับ
ส่วนเนื้อใน”ทีโออาร์” ขอให้เป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่เข้าใจลึกซึ้งเขาแสดงความเห็นครับ!
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/