ข้อพึงสังวรถึง พล.อ.ประยุทธ์-ผู้สนับสนุนให้เป็นนายกฯ
"...แต่ขณะนี้กำลังมีการบิดเบือนที่ฉกรรจ์ โดยจะอ้าง ตะแบงนำบทเฉพาะการณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เพื่อให้วุฒิสมาชิก 250 เสียงมาร่วมพิจารณาลงมติกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนให้กฎหมายงบประมาณปี 2563 ผ่านความเห็นชอบเช่นเดียวกับการสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี..."
ผมเคยเขียนบทความพร้อมข้อเสนอแนะการแก้ไขไว้ในหลายบทความในกรณีที่พบว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีได้มีการกระทำที่เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญโดยร่วมกันในการแปรญัตติลดหรือตัดทอนรายจ่ายตามข้อผูกพันที่ตั้งไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้นำไปจัดสรรเพิ่มขึ้นในงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นว่าถ้าไม่รีบดำเนินการแก้ไขในชั้นที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ จะเกิดปัญหาความรับผิดรัฐธรรมนูญตามมาภายหลัง
แต่ข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ได้รับการไยดีหรือแม้จะชี้แจงออกมาแต่ประการใด กรณีนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบดี เพราะเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณปี 2560 ที่มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
บัดนี้ แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่การกระทำความผิดนั้นสำเร็จเด็ดขาดไปแล้วแต่ยังคงเป็นความผิดอยู่จนถึงปัจจุบันและ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่เมื่อใด และจะมีการเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม กรณีที่มีการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โฮชา เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าชื่อกันได้หนึ่งในสิบหรือจำนวน 50คน ส่งกรณีที่กระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่ผมจะแยกแยะวิเคราะห์ให้เห็นต่อไป
แต่ในชั้นนี้ขอนำมาตรา 144 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาให้ท่านอ่านกันก่อน เพราะมาตรานี้ยาวมากมีทั้งในส่วนที่เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและมีหลายวรรคหลายตอนที่เพิ่มเติมความรับผิดเข้ามาใหม่ที่ผมได้ “หมายเหตุ” ไว้ในท้ายวรรคนั้นแล้ว
มาตรา 144 ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจํานวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้
(2) ดอกเบี้ยเงินกู้
(3) เงินที่กําหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทํามิได้
หมายเหตุ มาตรา 144 วรรคหนึ่งและสองนี้ได้เคยบัญญัติมาแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2521-2540และ2550
“.... ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติตามวรรคสอง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทําการ ดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้กระทําการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้กระทําการหรืออนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรี พ้นจากตําแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และ ให้ผู้กระทําการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย
หมายเหตุ ความในวรรคสาม ตั้งแต่คำว่า “....ถ้าผู้กระทำ....ถึง....ชดใช้เงินคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย”และวรรคต่อๆไปจนจบมาตรานี้เป็นบทบัญญัติใหม่ เพิ่งเติมมาในรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ที่ได้กำหนดโทษการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาและคณะรัฐมนตรีถึงขั้นถูกถอดออกจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
".... เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทําโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดําเนินการ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือ แจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ให้พ้นจากความรับผิด
การเรียกเงินคืนตามวรรคสามหรือวรรคสี่ ให้กระทําได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรร งบประมาณนั้น
ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดําเนินการต่อไปตามวรรคสาม และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลรัฐธรรมนูญ หรือบุคคลใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้"
จะเห็นได้ว่ามาตรา 144นี้มีความยาวมากมีถึงหกวรรค ผมจึงได้นำมาให้ศึกษาอ่านกันก่อนที่จะพิจารณาต่อไปว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรัฐมนตรี ได้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 144 อย่างไร? จะต้องรับผิดประการใดบ้าง ?
อนึ่ง มีประเด็นสำคัญตามมาในกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะมีสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงสนับสนุน และท่านมีหน้าที่จะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563ที่มีวงเงินถึง 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุลถึง 450,000ล้านบาท ที่ท่านได้ทำไว้แล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 143 และ144 ที่วุฒิสมาชิก 250 คน ที่สนับสนุนให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้น ไม่มีอำนาจที่จะสนับสนุนท่านได้ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ในชั้นรับหลักการ การแปลญัตติในวาระที่ 1 2 และ 3 เพราะต้องพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เท่านั้น เมื่อผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงเสนอต่อวุฒิสภาที่มีอำนาจจำกัดเพียง “ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ” เท่านั้น โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆมิได้ และต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน
แต่ขณะนี้กำลังมีการบิดเบือนนที่ฉกรรจ์ โดยจะอ้าง ตะแบงนำบทเฉพาะการณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เพื่อให้วุฒิสมาชิก 250 เสียง มาร่วมพิจารณาลงมติกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนให้กฎหมายงบประมาณปี 2563 ผ่านความเห็นชอบเช่นเดียวกับการสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
จะวิเคราะห์ชี้ให้เห็นในบทความนี้ในครั้งต่อไปครับ