ชำแหละ พ.ร.บ.ข่าวกรองฯใหม่ อำนาจล้นล้วงได้ทุกข้อมูล เพื่อความมั่นคงหรือกำจัดศัตรูการเมือง?
“…เนื่องจากตามมาตรา 6 กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติออกระเบียบ หลักเกณฑ์ ในการได้มาซึ่งข้อมูล และให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ แต่ตามหลักข้อเท็จจริงแล้ว นายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายบริหาร จะสามารถตรวจสอบดูรายละเอียด หรือพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียได้ครบถ้วนหรือไม่ และจะทราบได้อย่างไรว่า ข้อมูลดังกล่าวที่ ‘ล้วง’ ไป เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงจริง ไม่ได้เป็นการกำจัด ‘เสี้ยนหนาม’ ทางการเมือง ดังกรณีที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นแล้ว ?...”
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา
นับเป็นกฎหมายสำคัญอีกหนึ่งฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกทิ้งทวน ?
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว อยู่ในมาตรา 6 สรุปได้ว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติอาจดำเนินการ ‘ด้วยวิธีการใด ๆ’ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น ผลกระทบต่อบุคคล รวมถึงวิธีการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง หากเจ้าหน้าที่กระทำตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
อธิบายให้ง่ายคือ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเกิดกรณี ‘จำเป็น’ ต้องล้วงข้อมูลด้านข่าวกรองจากบุคคลใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้น การแฮ็กข้อมูล การดักฟังโทรศัพท์ หรือแม้แต่การเข้าถึงข้อความ ภาพ เสียง คลิปวีดีโอของบุคคลในโลกออนไลน์ ถ้าปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด ? (อ่านประกอบ : แพร่ พ.ร.บ.ข่าวกรองฯใหม่ ล้วงข้อมูลทุกอย่างไม่ผิด กม.-ตั้ง ศป.ข.เฝ้าระวังข่าว 24 ชม.)
มาตรา 6 นี้ ถือเป็นมาตราใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนใน พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 หรือในฉบับเดิม เมื่อกว่า 34 ปีก่อน
แล้ว พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ทั้ง 2 ฉบับ มีความแตกต่างกันอย่างไร เพิ่มอำนาจอะไรให้กับสำนักข่าวกรองแห่งชาติบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้
@แก้ไขนิยามใหม่จับตาบุคคล-องค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศ
นิยามการข่าวกรองตาม พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ระบุว่า “การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายกำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของต่างชาติ หรือองค์การก่อการร้ายที่อาจกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ”
ส่วน พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ระบุว่า “การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมาย กำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใด ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ที่อาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ และให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาการกำหนดนโยบายแห่งชาติ”
ความต่างที่เป็นสาระสำคัญในนิยามต่าง ๆ เรื่อง ‘ข่าวกรอง’ ระหว่างกฎหมายฉบับเดิม และฉบับใหม่ คือ ฉบับเดิม นิยามข่าวกรองในการจับตาติดตามความเคลื่อนไหวของต่างชาติ แต่ฉบับใหม่คือติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งบุคคล องค์กรภายในประเทศ และต่างประเทศ
@ให้อำนาจตรวจค้น-ดักฟังเทียบเท่า กฎอัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่บังคับใช้ในเหตุการณ์ปกติ
ประเด็นถัดมา คือการเพิ่มมาตรา 6 ที่ให้อำนาจสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ล้วงข้อมูลทุกอย่างที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติได้ หากเป็นการกระทำที่สุจริต ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนด โดยความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี
ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะการดำเนินการได้มาซึ่งข้อมูลใด ๆ จากสาธารณชน จำเป็นจะต้องขออนุญาตต่อศาล หรือมีหมายศาลก่อน แต่มาตรานี้ กำหนดให้ทำได้เลย โดยเป็นไปตามระเบียบที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติร่างขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการศาล ?
ที่ผ่านมามีกฎหมายสำคัญอยู่เพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้น หรือได้มาซึ่งข้อมูล โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ในมาตรา 8 และ 9 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น หรือยึด หรือทำลายได้ทุกสิ่ง และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 10 ที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการคำสั่งตรวจค้น ตรวจสอบ จดหมาย ดังฟังโทรศัพท์ โทรเลข หรือวิธีการสื่อสารทุกอย่าง หรือระงับยับยั้งวิธีการสื่อสารได้
อย่างไรก็ดีทั้ง กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่มีอำนาจมาก และจำเป็นต้องประกาศใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะมาตรา 6 กลับได้อำนาจคล้ายคลึงกับกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในส่วนของตรวจค้น แฮ็ก ดักฟัง หรือทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ออกขึ้นเพื่อบังคับใช้ในสถานการณ์ปกติ
@เข้าข่ายเป็นข้อมูลความมั่นคง ใครเปิดเผยโทษหนักคุก 5 ปี
ประเด็นถัดมา ข้อมูลความที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติใช้สารพัดวิถีทางได้มาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ถือเป็นข้อมูลความมั่นคง ดังนั้นตรงนี้จึงเข้าข่ายตามร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการฯ ด้วย ที่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ข้อมูลความมั่นคงในส่วนนี้ จึงถูกปิดเป็นความลับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการได้มาซึ่งข้อมูล และขั้นตอนการเยียวยาบุคคลผู้ได้รับผลกระทบ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐ ‘แพร่งพราย’ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อาจโดนโทษสถานหนักถึงขั้นติดคุก 5 ปีได้
นั่นหมายความว่า สาธารณชน หรือสื่อมวลชน ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า ข้อมูลที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติใช้ทุกวิถีทาง ‘ล้วง’ ไปนั้น เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจริงหรือไม่ ประการใด ? (อ่านประกอบ : ส่องร่าง กม.มั่นคง-ความลับราชการฯ มรดก'รบ.ประยุทธ์'ใครเปิดเผยข้อมูลคุก 5 ปี)
@ล้วงข้อมูลเพื่อความมั่นคง หรือกำจัดศัตรูทางการเมือง ?
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ในมาตรา 6 ให้อำนาจสำนักข่าวกรองแห่งชาติใช้ทุกวิถีทางในการได้มาซึ่งข้อมูล ทั้งการแฮ็กคอมพิวเตอร์ เจาะเข้าระบบอ่านข้อความ ภาพ เสียง คลิปวีดีโอในโลกออนไลน์ รวมไปถึงการดักฟังโทรศัพท์ในสถานการณ์ปกติด้วย
การดักฟังทางโทรศัพท์นั้นตามหลักวิชาการ หมายถึง การลอบฟังด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะที่เป็นการดักฟังการสื่อสารทางโทรศัพท์ที่บุคคลอื่นมีถึงกัน โดยปราศจากการยินยอมของคู่สนทนา ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการสื่อสาร
การดักฟังโทรศัพท์ในประเทศไทย ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรก ๆ เมื่อปี 2531 เมื่อ พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ รมว.ศึกษาธิการ (ขณะนั้น) ให้วิศวกรตรวจสอบเครื่องโทรศัพท์พบว่าถูกติดตั้งการดักฟัง ต่อมาในปี 2536 มีการเสนอข่าวว่า มีการดักฟังโทรศัพท์ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น)
แต่ที่กลายเป็นประเด็นคึกโครมหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับคือ เมื่อปี 2538 กรณีปลดนายเอกกมล คีรีวัฒน์ ออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขาธิการสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากนายเอกกมล ได้เปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุน ทำให้มีการสันนิษฐานกันว่า มีการดักฟังโทรศัพท์ระหว่างนายเอกกมล และผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีนายภุมรัตน์ ทักษาติพงศ์ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (ขณะนั้น) และนายวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าแบงก์ชาติ รวมถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.คลัง (ขณะนั้น) ได้ออกมาปฏิเสธ
ต่อมานายเอกกมล ได้ยื่นฟ้องนายสุรเกียรติ์ นายวิจิตร และนายภุมรัตน์ในกรณีดังกล่าว การพิจารณาของศาลใกล้ถึงบทสรุปแล้ว จนกระทั่งฝ่ายผู้ถูกฟ้องมา ‘ขอขมา’ นายเอกกมล และศาลไกล่เกลี่ยจนจบข้อพิพาทในที่สุด
ประเด็นนี้เองที่สำคัญมาก เนื่องจากตามมาตรา 6 กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติออกระเบียบ หลักเกณฑ์ ในการได้มาซึ่งข้อมูล และให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ แต่ตามหลักข้อเท็จจริงแล้ว นายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายบริหาร จะสามารถตรวจสอบดูรายละเอียด หรือพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียได้ครบถ้วนหรือไม่
และจะทราบได้อย่างไรว่า ข้อมูลดังกล่าวที่ ‘ล้วง’ ไป เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงจริง ไม่ได้เป็นการกำจัด ‘เสี้ยนหนาม’ ทางการเมือง ดังกรณีที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นแล้ว ?
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เขียนบทความวิเคราะห์ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ระบุถึงปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจไม่สุจริต และไม่ชอบธรรม เป็นการใช้อำนาจเกิดกว่าสมควรแก่เหตุ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่ (อ่านประกอบ : ข้อสังเกตต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่)
ทั้งหมดคือหลักใหญ่ใจความสำคัญ เกี่ยวกับเงื่อนปมปัญหา และอำนาจเหลือล้นในการทำงานของ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา
อ่านรายละเอียด พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0022.PDF
อ่านรายละเอียด พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับเดิม พ.ศ. 2528 ฉบับเต็ม : https://www.nia.go.th/FILEROOM/CABFRM01/DRAWER01/GENERAL/DATA0017/00017367.PDF
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/