- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ส่องร่าง กม.มั่นคง-ความลับราชการฯ มรดก'รบ.ประยุทธ์'ใครเปิดเผยข้อมูลคุก 5 ปี
ส่องร่าง กม.มั่นคง-ความลับราชการฯ มรดก'รบ.ประยุทธ์'ใครเปิดเผยข้อมูลคุก 5 ปี
“…ยกตัวอย่าง หากสื่อมวลชนหรือภาคประชาชนเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ ที่ส่อหรืออาจจะมีการทุจริต อาจถูกอ้างว่า เป็นการเปิดเผยข้อมูลความมั่นคงของรัฐหรือความลับของราชการ อาจถูกดำเนินคดี ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปีที่สำคัญตามร่างกฎหมายฉบับนี้ยังปฏิเสธอำนาจของศาลปกครองให้คณะกรรมการฯมีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลในการวินิจฉัยว่า ข้อมูลข่าวสารใดเป็นความเรื่องความมั่นคงหรือความลับของทางราชการ...”
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ พ.ศ. …. ให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว
“เราจะต้องทำอย่างไรก็ตามให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องการคุ้มครอง และเรื่องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นไปตามนั้น โดยมีขั้นตอนชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างในอดีตที่ผ่านมา” เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการพิจารณาร่างดังกล่าวในชั้น สมช.
ส่วน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการ สมช. แถลงถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 59 ระบุว่า รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ แต่จะเว้นข้อมูลที่เป็นความลับที่เกี่ยวกับทางราชการ จึงต้องออก พ.ร.บ.ฉบับนี้มาเพื่อชี้ให้เห็นว่า อะไรที่เป็นความลับ ความมั่นคงของราชการจะสามารถปกปิดได้ อย่างไรก็ดีเมื่อนึกถึงสิทธิประชาชนยังสามารถร้องเรียนตามระบบยุติธรรมได้ ตามหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ (อ้างอิงข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์)
นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงการ ‘ปิดหู-ปิดตา’ ไม่ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารการกระทำใด ๆ ของราชการ โดยอ้างเป็นเรื่องความลับของทางราชการ และเรื่องความมั่นคง โดยอาศัย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ?
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ พ.ศ. …. อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
เนื้อหาสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปให้ทราบ ดังนี้
หลักการของร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ พ.ศ. …. ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ พ.ร.บ.นี้มีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 41 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลความมั่นคงของรัฐ และความลับของทางราชการ อันเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การตรา พ.ร.บ.นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560
สำหรับนิยามคำว่า ‘ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ’ ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 3 ระบุว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่อยู่ในความครอบครองหรือความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่สามารถรู้หรือไม่สามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป หากเปิดเผยทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนอาจส่งผลให้เกิดประเทศต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทหาร การข่าวกรอง ความปลอดภัย และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน
ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากบังคับใช้จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ (ต่อไปนี้จะใช้คำว่า คณะกรรมการฯ) ประกอบด้วย เลขาธิการ สมช. เป็นประธาน รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นรองประธานฯ ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการ สมช. แต่งตั้งข้าราชการของ สมช. คนหนึ่งเป็นเลขานุการ อีกสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับบทบัญญัติสำคัญ เช่น มาตรา 5 ระบุว่า ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือผู้ใดเปิดเผยข้อมูลความมั่นคงของรัฐ และความลับของทางราชการ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามคำสั่งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูลนั้น หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนด
มาตรา 6 ผู้ใดมีส่วนได้เสีย หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อมูลความมั่นคงของรัฐ และความลับของทางราชการ อาจยื่นคำขอเปิดเผยข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการต่อหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลนั้น โดยในมาตรา 7 ระบุว่า คำขอดังกล่าวต้องใช้ถ้อยคำสุภาพ ระบุชื่อและที่อยู่อาศัย ชื่อหน่วยงานหรือชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการขอ ข้อมูลที่เป็นเหตุแห่งการขอ และคำขอที่ระบุวัตถุประสงค์แห่งการยื่นขอเปิดเผยข้อมูล
มาตรา 8 ระบุว่า ให้หน่วยงานของรัฐที่ได้รับคำขอตามมาตรา 6 มีคำสั่งให้เปิดเผยหรือมิให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่ต้องไม่เกินใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ เว้นแต่ผู้นั้นขอมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุอันควร มาตรา 9 กรณีหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแล้ว อาจกำหนดเงื่อนไขในการเข้าตรวจดู ขอสำเนา หรือขำสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลอย่างไรก็ได้ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐน้อยที่สุด ในกรณีหน่วยงานรัฐมีคำสั่งมิให้เปิดเผย ให้ผู้ยื่นคำขอ อุทธรณ์คำสั่งนั้น โดยยื่นต่อคณะกรรมการฯภายใน 15 วันนับตั้งแต่ได้รับแจ้ง
มาตรา 10 ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ แม้จะเข้ข่ายต้องมีความรับผิดตามกฎหมายใด ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดหากเป็นการกระทำโดยสุจริต เช่น ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ หัวหน้าหน่วยงานรัฐมีคำสั่งให้เปิดเผยเป็นการทั่วไป หรือเฉพาะแก่บุคคลใด เพื่อประโยชน์ในการปกป้องหรือแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ คำสั่งนั้นกระทำได้โดยสมควรแก่เหตุ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯชุดนี้คือ พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ในการเปิดเผยข้อมูล หากโดนหน่วยงานรัฐปฏิเสธจะให้ โดยใช้ดุลพินิจในการพิจารณาไปตามเห็นสมควร เพื่อให้การพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯกำหนด ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯชุดนี้ให้ถือว่าเป็นที่สุด โดยจะมีข้อสังเกตของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯชุดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้คณะกรรมการฯมีอำนาจในการออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา หรืออาจเรียกให้บุคคลใด ๆ มาชี้แจงด้วยก็ได้
สำหรับบทลงโทษ หากผู้ใดฝ่าฝืนให้ข้อมูลที่เป็นความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐกระทำผิด ถ้าการกระทำผิดนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือกรณีบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐนั้นกระทำควาผิด หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในความผิดนั้นด้วย
นอกจากนี้ผู้ใดที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯชุดนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายความว่า หากหน่วยงานของรัฐไม่ให้ข้อมูล เมื่ออุทธรณ์แก่คณะกรรมการฯชุดนี้แล้ว ถูกปฏิเสธ แต่ผู้ร้องขอยังคงดึงดันอยากได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว หรือใช้วิธีการอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวอีก อาจมีความผิดไปด้วยนั่นเอง ?
ขณะเดียวกันผู้ใดไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ตามคำสั่งของคณะกรรมการฯชุดนี้ หรือไม่มาชี้แจงแก่คณะกรรมการฯ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นี่คือโฉมหน้าของร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ พ.ศ. .... ที่ยังคงนิยามคำว่า ‘ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ’ อย่างคลุมเครือ ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า ข้อมูลแบบใดเข้าข่ายดังกล่าวบ้าง
ยกตัวอย่าง หากสื่อมวลชนหรือภาคประชาชนเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ ที่ส่อหรืออาจจะมีการทุจริต อาจถูกอ้างว่า เป็นการเปิดเผยข้อมูลความมั่นคงของรัฐหรือความลับของราชการ อาจถูกดำเนินคดี ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี
ที่สำคัญตามร่างกฎหมายฉบับนี้ยังปฏิเสธอำนาจของศาลปกครองให้คณะกรรมการฯมีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลในการวินิจฉัยว่า ข้อมูลข่าวสารใดเป็นเรื่องความมั่นคงหรือความลับของทางราชการ
อย่างไรก็ดีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคงอยู่ในการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา คงต้องรอการพิจารณาแล้วเสร็จ ก่อนตีกลับให้รัฐบาล และชงเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการแก้ไขรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมบ้าง หรือจะเป็นแค่เครื่องมือ ‘ปิดหู-ปิดตา’ ประชาชนเท่านั้น ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/