จะเสียหายใหญ่หลวง! 7 เหตุผล สพส.ค้าน ป.ป.ช.โอนสำนวนให้ พนง.สอบสวน
“…ด้วยเหตุผลข้อ 1-5 สมาคมพนักงานสอบสวน เห็นว่าพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งไม่ได้สังกัด บก.ปปป. ไม่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.เนื่องจากไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 234 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 หาก ป.ป.ช.ส่งมอบสำนวนและพนักงานสอบสวนรับไว้ดำเนินคดีย่อมเป็นเหตุให้จำเลยยกเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลได้ว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจทำการสอบสวน ก็ยังผลให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศโดยรวม…”
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงปลายเดือน มี.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในประเด็นการโอนสำนวนการไต่สวนคดีทุจริตให้กับพนักงานสอบสวน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ได้ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวนครั้งที่ 2/2562 ส่งมอบสำนวนการสอบสวนของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้กับพนักงานสอบสวนดำเนินการ โดยเป็นสำนวนที่ไม่ยุ่งยาก หรือซับซ้อน จำนวน 15,000 สำนวนนั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.โอน 15,000 สำนวน ‘ไม่ยุ่งยาก-ซับซ้อน’ ให้ ตร.สอบ-ค่าตอบแทน 3-8 พันบ.)
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ นายกสมาคมพนักงานสอบสวน ทำหนังสือของสมาคมพนักงานสอบสวนถึง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ในประเด็น 7 ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการโอนสำนวนจาก ป.ป.ช. มาให้พนักงานไต่สวน มีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่ ป.ป.ช. เตรียมส่งสำนวนการสอบสวนซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ให้กับพนักงานสอบสวน สตช.จำนวน 15,000 สำนวน สมาคมพนักงานสอบสวน (สพส.) พิจารณาแล้ว ขอนำเสนอหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้องอาจกระทบต่อการความยุติธรรมในภาพรวมของประเทศ ดังนี้
1.ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 รัฐจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเมื่อปี 2542 โดยมีแนวคิดให้เป็นองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อให้ปฏิบัติงานดำเนินคดีทางอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายการเมืองในความผิดเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ เนื่องจากมีความเห็นว่าพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติแม้จะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 แต่อาจถูกแทรกแซงได้โดยง่ายจึงมอบภาระหน้าที่การดำเนินคดีดังกล่าวให้กับองค์กร ป.ป.ช.ดังนั้นการที่ป.ป.ช.หรือปตท.กลับส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาขณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเองให้กับพนักงานสอบสวน สตช.ย่อมไม่ชอบด้วยแนวคิดและหลักการจัดตั้งองค์กร ป.ป.ช.มาตั้งแต่ต้น
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 มาตรา 234 บัญญัติอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการดำเนินคดีอาญาตามอนุมาตรา(1) (2) และ(3) และความในวรรคท้ายของมาตรา 234 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ชัดแจ้ง กรณีที่ ป.ป.ช.จะมอบหมายหน่วยงานของรัฐอื่นดำเนินการแทนโดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
2.1 ต้องเป็นกรณีมีความจำเป็น ซึ่งกรณีมีความจำเป็นนั้น จะต้องพิจารณาในเหตุผลทางกฏหมาย มิใช่เหตุผลมาจากการบริหารองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีอาญา ดังเช่นแนวทางศาลฎีกาได้วินิจฉัยวางหลักไว้
2.2 หน่วยงานของรัฐที่จะรับผิดชอบดำเนินการแทน ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท.นั้นต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยตรง
2.3 ต้องเป็นคดีที่มิใช่ความผิดร้ายแรง
3.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 6 บัญญัติอำนาจหน้าที่ของตำรวจโดยไม่ปรากฏว่าเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยตรง
4.แม้ว่าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 63 บัญญัติให้ ป.ป.ช.อาจส่งเรื่องที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่มิใช่ความผิดร้ายแรงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้ แต่หลักเกณฑ์ตามมาตรานี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 มาตรา 234 วรรคท้ายเสียก่อน
5.สมาคมพนักงานสอบสวนเห็นว่าพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจชาติ ซึ่งไม่ได้อยู่ในสังกัดกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนสำนวนของ ป.ป.ช.
6.ด้วยเหตุผลข้อ 1-5 สมาคมพนักงานสอบสวน เห็นว่าพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งไม่ได้สังกัด บก.ปปป. ไม่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.เนื่องจากไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 234 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 หาก ป.ป.ช.ส่งมอบสำนวนและพนักงานสอบสวนรับไว้ดำเนินคดีย่อมเป็นเหตุให้จำเลยยกเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลได้ว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจทำการสอบสวน ก็ยังผลให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศโดยรวม
7.กรณีหากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ตามธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ.ศ. 2561 แต่ในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหางานล้นมือ เพราะมติอนุ ก.ตร.บริหารงานบุคคล พ.ศ. 2533 กำหนดปริมาณงานให้พนักงานสอบสวนรับผิดชอบทำสำนวนไม่เกิน 70 คดีต่อปีต่อคนดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาให้รับผิดชอบเพิ่มมากยิ่งขึ้นย่อมส่งผลลดทอนประสิทธิภาพการดำเนินคดีอาญาของพนักงานสอบสวนในการอำนวยความยุติธรรม ขึ้นได้
อนึ่งก่อนมีการพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้สมาคมพนักงานสอบสวน เห็นควรให้ตั้งคณะทำงานจากผู้มีความรู้ประสบการณ์ทั้งด้านกฎหมายและคดีอาญาโดยสมาคมพนักงานสอบสวนพร้อมที่จะสนับสนุนส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าเป็นคณะทำงานด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/