ศาลปกครองกลาง พิพากษาห้าม รฟม. ปิดจราจรบนถ.แจ้งวัฒนะ สร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาห้ามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ ปิดการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ กรณีก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระบุ หนังสือของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายใน ยังไม่ได้ออกหนังสืออนุญาตโดยตรง
วันที่ 11 เมษายน 2562 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 39/2562 หมายเลขแดงที่ 403/2562 ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลา ลูน่า ผู้ฟ้องคดี กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราว บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อดำเนินงานตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 นาฬิกา
โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า หนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2561 เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ทราบแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทเพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้หนังสือสั่งการภายในดังกล่าวเป็นหนังสืออนุญาตให้บริษัทซิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ออกหนังสืออนุญาตแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือบริษัทซิโน - ไทยฯ โดยตรง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวที่สั่งการให้ปิดเบี่ยงจราจรบนถนนตลอดความยาวของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยปิดเบี่ยงจราจร 1 ช่องทาง ด้านขวาชิดเกาะกลางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในพื้นราบ และปิดเบี่ยงเพิ่มอีก 1 ช่องทาง ทั้งฝั่งขาเข้า และขาออกในเวลากลางคืนบนสะพานข้ามแยก ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 นาฬิกา มีระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564 ซึ่งการปิดเบี่ยงจราจรดังกล่าวเป็นการห้ามรถทุกชนิดวิ่งในช่องทางที่ปิดจราจร อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนบนถนน โดยไม่ระบุเหตุจำเป็นที่ต้องปิดจราจรเฉพาะทางตอนใด ในช่วงเวลาใด ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มีผลกระทบต่อการใช้ถนนของประชาชนเท่าที่จำเป็นในแต่ละช่วงเวลา และระยะเวลาที่ขออนุญาตปิดเบี่ยงจราจรเป็นเวลาถึง 2 ปี กับอีก 8 เดือน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขออนุญาตปิดจราจรเป็นการชั่วคราวตามที่กฎหมายกำหนด
คดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 49/2 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วตามลักษณะคดีที่มีความจำเป็นต้องพิจารณา โดยเร่งด่วน ซึ่งคดีนี้ผู้ฟ้องคดได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 และเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปิดการจราจรในพื้นราบช่องทางด้านซ้ายที่ติดทางเท้าบนถนนแจ้งวัฒน ฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหลักสี่ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หลังจากนั้น ศาลปกครองกลางได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 และได้มีคำพิพากษาในวันที่ 11 เมษายน 2562 รวมระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองกลางทั้งสิ้น จำนวน 18 วัน
อ่านคำพิพากษา ได้ที่ http://www.admincourt.go.th/admincourt/site/08hotsuit_detail.php?ids=18086&fbclid=IwAR1RlT0iAoU5asT5fH-9OUTAfvkrveCJsm1dtLjtGHZ0R7TGiIT_4u4PRrA