พนักงาน อปท.โวยนักการศึกษาไร้วิทยฐานะ แต่ลูกจ้างดูแลเด็กได้บรรจุเป็น ขรก.ครู
มีจดหมายร้องเรียนถึงสำนักข่าวอิศรา เรื่อง “การบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูที่มาจากลูกจ้างผู้ดูแลเด็กเล็ก" ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศ 25,000 ตำแหน่ง โดยไม่ต้องสอบแข่งขันวัดความรู้
จดหมายดังกล่าวระบุว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้เซ็นต์แต่งตั้งพี่เลี้ยงเด็กซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้าง(สัญญา 4ปี) แต่ไม่มีความรู้ความสามารถใดๆด้านการศึกษา เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้จบปริญญาตรีแล้วสอบได้ ซ้ำกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นยังส่งให้เรียนด้วยเงินภาษีหลักสูตรละ 120,000 บาทจนจบปริญญาตรีสาขาปฐมวัย และบรรจุเป็นข้าราชการครูรับเงินในตำแหน่งครูผู้ช่วย กินเงินแท่ง คศ.(เงินเดือนครู) ทั้งที่คุรุสภาไม่ออกใบประกอบวิชาชีพครูให้เพราะไม่มีคุณภาพ เพราะเรียนแบบ 10 เทอม (เทอมละ 4 เดือน) เสาร์-อาทิตย์(เดือนละ 1 ครั้ง) ไม่สามารถเทียบกับผู้ที่เรียนในระบบ 4-5 ปีได้
จดหมายร้องเรียนดังกล่าวยังระบุว่า ในปี 2549 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มท.เคยปลดนักวิชาการศึกษาและบุคลากรด้านการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรีด้านการศึกษาโดยตรงและมีคุณสมบัติอยู่ใน พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยตรงออกจากแท่งคศ.(เงินเดือนครู) จนไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน เงินเดือนต่ำ ทั้งๆที่ทำงานหนัก แต่ปัจจุบันกลับบรรจุผู้ดูแลเด็กเล็กเป็นข้าราชการ เป็นการทำลายขวัญของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก
เพราะทุกวันนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ได้ต่างจากสถานรับเลี้ยงเด็ก ผู้ดูแลเด็กไม่ได้ทำตัวต่างจากพี่เลี้ยงเด็ก โดยมีหน้าที่ประจำวันคือไปรับเด็ก ป้อนข้าว เช็ดอุจาระปัสสาวะ และส่งเด็กนอน โดยส่วนใหญ่จะนอนพร้อมเด็ก ตื่นมาพาเด็กล้างหน้า รอพ่อแม่มารับ ไม่มีคุณสมบัติและความเหมาะสมจะเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ใน อปท.ยังมีลูกจ้างประจำที่ทำงานดีแต่ไม่ได้พิจารณาเป็นข้าราชการ คนเหล่านี้เสียขวัญกับนโยบายบรรจุดังกล่าวของ มท. ทุกวันนี้ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่นต้องสำรองจ่ายก่อน เงินเดือนก็น้อยกว่าข้าราชการ กพ. ต่ำกว่าข้าราชการครู รวมถึงไม่ได้ค่าวิทยฐานะและค่าวิชาชีพ เสมือนข้าราชการชั้น 3 ซึ่งข้าราชการส่วนภูมิภาค หรือ กพ. หรือครูจะโอนมาเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้หมด แต่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นโอนไปไหนไม่ได้เลย
จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาประเด็นดังนี้ 1.ให้บุคลากรด้านการศึกษากลับเข้าแท่งข้าราชการครู(คศ.) พร้อมเทียบเงินเดือนขั้นต่ำแทนเงินเดือนปัจจุบัน เพราะภาระที่รับมานานทำให้เกิดหนี้สินสะสมมาตลอด 2.ยกเลิกประกาศที่เกี่ยวกับผู้ดูแลเด็ก เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ลูกจ้างสอบโดยไม่มีการแข่งขันตามความเป็นธรรม หากจะให้ผู้ดูแลเด็กเป็นข้าราชการ จะต้องสอบแข่งขันเท่านั้น 3.ยกเลิกการให้ “ผู้ดูแลเด็ก” ไปฝึกในสถานศึกษา สพฐ. เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปฝึกงานจริง หากแต่มีหนังสือสั่งการจากกรมส่งเสริมการปกครองเท่านั้น
4.ให้ตรวจสอบโครงการปริญญาตรีของสวนดุสิตที่เรียนจบมาแล้วคุรุสภาไม่ออกใบประกอบวิชาชีพให้ 5.ให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกตำแหน่งมีความก้าวหน้าเท่าเทียมกับข้าราชการ กพ. ข้าราชการครูทุกตำแหน่ง ลูกจ้างประจำควรเป็นข้าราชการก่อนผู้ดูแลเด็ก 6.ให้กรมส่งเสริมการปกครองหยุดการเลือกปฎิบัติ โดยการถอดนักวิชาการศึกษาออกจากแท่ง คศ. แต่ให้ผู้ดูแลเด็กได้บรรจุเป็นข้าราชการ
"นักวิชาการศึกษาไม่มีวิทยฐานะ เพราะกฤษฎีกาตีความว่าตอนสมัครสอบครั้งแรกรับวุฒิทั่วไปทางสังคมศาสตร์ จึงไม่นับเป็นบุคลากรการศึกษาตามกฎกระทรวงศึกษาฯ มีแต่ผู้ดูแลเด็กเท่านั้นที่จะได้บรรรจุและเข้าแท่ง คศ.ตามลำดับ และสามารถทำวิทยฐานะได้ ส่วนนักวิชาการศึกษายังอยู่ระบบซีเหมือนเดิม"
จดหมายดังกล่าวอ้างข้อมูลจากวิทยากรของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และระบุต่อไปว่าปัจจุบันกระทรวงศึกษามีนโยบายลดจำนวนโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อย แต่กระทรวงมหาดไทยกลับจะบรรจุ "ข้าราชการครู" ที่มาจากลูกจ้างตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กในศูนย์ที่มีเด็กไม่กี่คน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : อ้างอิง
-หนังสือสั่งให้ ผดด.ไปฝึกในสถานศึกษาเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพครู มท 0893.4/ว2358 ลงวันที่ 11 พ.ย.53
-ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง กำหนดตำแหน่งและวิทยฐานะพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาเทศบาล ลงวันที่ 24 ก.พ. 49
-หนังสือให้นักวิชาการศึกษาออกจากตำแหน่งครูและบุคลากรทางการศึกษา มท 0809.4 / ว7 วันที่ 7 ก.พ.50