ยังมีเสถียรภาพ! ความเสี่ยงการคลังปี’61 หนี้สาธารณะ 42% ของ GDP-รบ.ขาดดุล 4.8 แสนล.
กระทรวงการคลังรายงานความเสี่ยงประจำปี’61 ระบุประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะ 42% ของ GDP ยังอยู่ภายใต้กรอบกำหนดที่ไม่เกิน 60% สถานะยังเสถียรภาพ แม้ขาดดุลราว 4.8 แสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจยังแข็งแกร่ง แต่มีภาระชัดเจนแบกหนี้ 2.1 แสนล้านบาทจาก การรถไฟฯ-ขสมก จี้ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องกำกับดูแลต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังได้จัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เสนอแก่คณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ว่า ในส่วนของภาครัฐบาล สถานะทางการคลังของรัฐบาลอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยมีรายได้นำส่งคลังตามระบบกระแสเงินสด ทั้งสิ้น 2,524,249 ล้านบาท (ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 7.2 ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งสิ้น 3,007,203 ล้านบาท (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) โดยเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ร้อยละ 92 ของประมาณการ ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ จำนวน 482,954 ล้านบาท (ราว 4.8 แสนล้านบาท) ลดลงจากปีงบประมาณปี 2560 ส่วนเงินคงคลังปลายปี มีทั้งสิ้น 633,436 ล้านบาท (ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท) และสัดส่วนหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 42 ของ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60
ส่วนภาคกองทุนนอกงบประมาณ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ทั้งสิ้น 224,729 ล้านบาท เป็นการจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบและเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนประกันสังคมจำนวน 95,989 ล้านบาท อย่างไรก็ตามโครงสร้างเงินทุนของกองทุนนอกงบประมาณมีสัดส่วนหนี้สินในระดับต่ำ ทำให้ความเสี่ยงด้านการผิดชำระหนี้ของกองทุนนอกงบประมาณในภาพรวมสามารถบริหารจัดการได้ จึงยังไม่มีความเสี่ยงทางการคลังที่เป็นภาระผูกพันจากภาคกองทุนนอกงบประมาณที่มีนัยสำคัญ
ส่วนภาครัฐวิสาหกิจ พบว่า ความเสี่ยงทางการคลังยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสถานะการทางการเงินของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นในสาขาสื่อสาร และอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม) โดยภาครัฐวิสาหกิจสามารถจ่ายเงินสุทธิให้กับรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง ปี 2561 มีเงินจ่ายสุทธิให้กับรัฐบาล ทั้งสิ้น 103,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 6.2 อย่างไรก็ดีรัฐบาลยังคงมีภาระทางการคลังจากการรับภาระหนี้แทนรัฐวิสาหกิจ ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาระทางการคลังแบบชัดเจนโดยตรง ทั้งสิ้น 218,405 ล้านบาท เพื่อลดภาระทางการคลังดังกล่าว รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในแผนการฟื้นฟูองค์กรเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น ควรเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจติดตามดำเนินการของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/