เวทีสาธารณสุขอาเซียน ยกไทยต้นแบบหลักประกันสุขภาพ ชื่นชมงาน อสม.
ประชุมสาธารณสุขอาเซียน 10 ชาติเตรียมผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพ ยกไทยเป็นต้นแบบ บรูไนชื่นชมงาน อสม.ช่วยรัฐจัดการสุขภาพชุมชน ยินดีร่วมพัฒนาการแพทย์แผนไทย-แก้ปัญหาเหล้าบุหรี่
วันที่ (6 ก.ค.55) ที่โรงแรมโมเวนพิครีสอร์ทแอนด์สปา จ.ภูเก็ต ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน "ประชาคมอาเซียน 2015 : โอกาสและความท้าทายด้านสุขภาพ" นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)ประชุมหารือโต๊ะกลมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 คือจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่าวาระหลักคือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งกลไกสนับสนุนด้านระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ จะมีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือในประเทศอาเซียนบวกสาม โดยไทยเป็นผู้ประสานงาน
เนื่องจากในช่วง 10 ปีนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยประสบผลสำเร็จและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวชี้วัด 3 ประการ ได้แก่ 1.อัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น 2.อัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.45 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2546 เป็น 3.22 ครั้ง ต่อคนต่อปีในปี 2553 หรือเพิ่มร้อยละ 31.4 อัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 0.094 ครั้งต่อคนต่อปีเป็น 0.116 ครั้งต่อคนต่อปี หรือเพิ่มร้อยละ 23.4 ในช่วงเดียวกันมีกว่า 100,000 ครัวเรือนมีหลักประกันไม่ให้ยากจนลงเพราะไม่ต้องควักเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง และ 3.โครงการนี้โดนใจประชาชนซึ่งมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 90 ในปี 2553
รมว.สธ.ไทย กล่าวต่อว่าผลการประชุมครั้งนี้หลายประเทศอาเซียน เช่น บรูไน เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว ซึ่งอยู่ใกล้กัน สนใจและตกลงร่วมกันที่จะร่วมมือพัฒนาเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยมีไทยเป็นต้นแบบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยดำเนิการมากว่า 10 ปี และรัฐบาลปัจจุบันยังมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ เริ่มจากการบริการผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่ง 10 ประเทศอาเซียน และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้เริ่มปรับระบบให้เทียบเคียงกับประเทศไทย บางประเทศอยู่ในลักษณะกองทุน หรือการประกันสุขภาพ หรือเก็บภาษีจากบุหรี่
วันเดียวกันยังมีการหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับบรูไน เรื่องความร่วมมือการพัฒนาระบบริการสุขภาพ โดยนายวิทยาให้สัมภาษณ์ว่าบรูไนให้ความสนใจงานสาธารณสุขมูลฐาน ที่ไทยประสบผลสำเร็จในการสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขที่เป็นตัวแทนมาจากประชาชนทุกหมู่บ้าน ขณะนี้มีประมาณ 1 ล้านคน เพื่อร่วมพัฒนาแก้ปัญหาสุขภาพกับภาครัฐ ทั้งนี้ไทยได้เสนอเพิ่มความร่วมมือเรื่องการแพทย์แผนไทย สปา อาหารฮาลาล อาหารสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพของประเทศบรูไน ซึ่งไทยกำลังพัฒนาเพื่อการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งเอเชียหรือเมดดิคัลฮับ โดยได้รับการตอบรับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบรูไน
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่าบรูไนกำลังประสบปัญหาโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน โดยพบว่าเด็กอ้วนมากขึ้น เนื่องจากประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจดี จึงสนใจแลกเปลี่ยนบุคลากรกับไทยเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ลดโรคไม่ติดต่อ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ขณะเดียวกันสิ่งที่ไทยต้องการเรียนรู้จากบรูไนคือวิธีการจัดการปัญหาเหล้า บุหรี่ จากบรูไน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อ