‘ประจิน’ เผย วช.ต้องปรับภารกิจ เน้น ‘บิ๊กดาต้า’ วิจัยนวัตกรรม
‘ประจิน’ เผยภารกิจ วช. หลังคลอด กม.ใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สนง.วิจัยแห่งชาติ’ ปรับดำเนินงานเชื่อมโยงทุกฝ่าย เน้นทำ ‘บิ๊กดาต้า’ เกี่ยวกับนวัตกรรม วิทย์ฯ จริยธรรมนักวิจัย รวบรวมจากชุมชน-สถานศึกษา
วันที่ 7 เม.ย. 2562 หน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 23 กรุงเทพฯ โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
พล.อ.อ.ประจิน ปาฐกถาเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย” ตอนหนึ่งถึงการผลักดันให้การวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ ว่าทั้งหมดจะออกมาในรูปแบบของแผนแม่บทเชื่อมโยงกับแผนปฏิรูป ซึ่งขณะนี้เรามีองค์ประกอบช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าแล้ว โดยตัวที่จะขับเคลื่อนั้นมีหลายตัว แต่ที่มีความสำคัญ คือ “การวิจัยและนวัตกรรม”
ทั้งนี้ เรามักพูดกันว่า “วิจัยขึ้นหิ้ง” หรือ “วิจัยขายไม่ได้” ฉะนั้น ต้องปรับให้งานวิจัยนั้นสู่ปฏิบัติที่เกิดผล ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า สังคม และวิชาการ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่จะมาช่วยเติมเต็มในเรื่องพลัง โครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ เป็นที่ทราบว่า เดิมนั้น เราให้ความสำคัญกับกลุ่มงานสำคัญที่นำมารวมกัน คือ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยเริ่มมา แล้ว 60 ปี มีกฎหมายงานวิจัยรองรับไว้ส่วนหนึ่ง ขณะที่งานนวัตกรรมมีมา 30 ปี มีกฎหมายรองรับส่วนหนึ่งเช่นกัน แต่มีหน่วยงานรับผิดชอบแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมามีเรื่องของการเชื่อมโยง การสนับสนุนซึ่งกันและกันบ้าง แต่ยังขาดพลัง ดังนั้น จึงมีนโยบายให้ปฏิรูปนโยบายวิจัยและนวัตกรรม โดยกำหนดแนวทาง 2 กลุ่มงานเดินควบคู่กันได้ ปรับกฎหมายให้มีฉบับภาพรวมเพียงฉบับเดียว แล้วมีฉบับลูกตามมา มีซุปเปอร์บอร์ดเข้ามาดูแล ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า สำนักงานนโยบายนวัตกรรมแห่งชาติ
ส่วนงบประมาณที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า จำเป็นต้องบูรณาการมากขึ้น ต้องการความคิดจากภาคส่วนมากขึ้น กระทั่ง ปี 2561 จึงได้ผลการปฏิบัติชัดเจน คือ มีการเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มงานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม และการศึกษา เข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน
“การจะเสริมซึ่งกันและกัน ต้องแยกการอุดมศึกษาออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากมีมหาวิทยาลัย 158 แห่ง ซึ่งหน้าที่หลัก คือ การวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้นต้องแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นกระทรวงใหม่ และหลอมรวมงานด้านวิจัยให้เกิดคุณภาพมากขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ขณะเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีบทบาทสูงมากในแง่นวัตกรรม ไม่ว่าในส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และยังทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า จึงเห็นตรงกัน ให้กลุ่มงานทั้ง 3 กลุ่ม รวมกัน อยู่ภายใต้กระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้การอุดมศึกษามีพลัง โดยมีวิจัยและนวัตกรรม เข้ามาเสริม โดยตอนนี้พยายามขับเคลื่อนด้านกฎหมาย ซึ่งผ่านไปด้วยดี ทั้งในส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมยืนยัน กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเป็นฉบับเดียวได้ จึงต้องมีอีก 11 ฉบับ ตามมา
นอกจากนี้ต้องเปลี่ยนชื่อจาก “สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ” เป็น “สำนักงานวิจัยแห่งชาติ” เพื่อต้องการให้วช. เข้ามารับผิดชอบในแง่สำนักงานใหม่ และต้องปรับการดำเนินการให้เชื่อมโยง ดังนั้น วช.ในปัจจุบันต้องปรับตัว ให้ทำเรื่องบิ๊กดาต้าเรื่องวิจัย นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ จริยธรรมนักวิจัย รวบรวมผลงานการวิจัยในมิติบิ๊กดาต้า และเสนอแนวทางทำให้งานวิจัยตอบโจทย์ซุปเปอร์บอร์ด
" วช. จะมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุมชน หรือสถานศึกษา นำเสนอออกมาในรูปแบบบิ๊กดาต้า ส่งไปให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อที่จะเสนอเป็นแผนงบประมาณและแผนบุคลากร" รองนายกรัฐมนตรี ระบุ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/