นาฏยประเพณี (กรุงสุโขทัย)ในพระราชพิธีสมโภชฯ สถาปนากษัตริย์
“กรุงสุโขทัยมีหลักฐานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือราชาภิเษกกษัตริย์ เพียง 2 พระองค์ คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว) แต่ไม่มีหลักฐานว่า หลังจากพระราชพิธีฯ แล้ว ได้มีการสมโภชอะไรบ้าง อีกพระองค์หนึ่ง คือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) แต่ไม่มีหลักฐานเช่นกันว่ามีการสมโภชหรือไม่”
นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยที่จะได้เห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะประกอบการพระราชพิธีในเดือน พ.ค. 2562
หลังจากนั้นจะมีพระราชพิธีสมโภชงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจัด “นาฏยประเพณี” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มหรสพสมโภช” ขึ้น
เรื่อง นาฏยประเพณี ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวทีเสวนา เรื่อง นาฏยประเพณีในพระราชพิธีสมโภชงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดขึ้นในงานสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ปี 2562 ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
นายประสาท ทองอร่าม (ครูมืด) ผู้ชำนาญการด้านนาฏศิลป์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร บอกเล่าถึงความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ว่าเป็นรูปแบบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดความยิ่งใหญ่ในดินแดนแห่งนั้น เพื่อสถาปนาให้คนทั่วไปทราบว่า ขณะนี้ อาณาจักรหรือแผ่นดินนี้มีผู้ครอบครองที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่สามารถปกครองได้ จึงต้องสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์
“ตามสมัยโบราณ พระราชพิธีนี้ไม่ได้เป็นประเพณีของไทยโดยตรง แต่สืบทอดมาจากลัทธิพราหมณ์ ผ่านมาทางอินเดีย จากนั้นจึงเข้ามาทางอาณาจักรใหญ่ที่สุดในดินแดนแห่งนี้ นั่นคือ อาณาจักรขอม ซึ่งเดิมทีอยู่เหนือแผ่นดินต่าง ๆ จนกระทั่งยุคสุโขทัย มีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าอาณาจักรขอม จึงมีความผันแปรเปลี่ยนแปลงกัน และไทยได้รับอิทธิพลในพระราชพิธีนี้เข้ามา”
ครูมืด อธิบายว่า สมัยโบราณ มีคำเรียกชื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแตกต่างกันออกไป แต่แทบจะเป็นพิธีเดียวกันหรือพิธีใกล้เคียงกัน ได้แก่
พิธีอินทราภิเษก หมายความว่า พระอินทร์นำเอาเครื่องปัญจะกกุธภัณฑ์ทั้งห้ามาถวายให้สถาปนาเป็นกษัตริย์
พิธีโภคาภิเษก หมายความว่า มอบให้แก่ชนชาติที่มีตระกูลเป็นมหาเศรษฐี มีโภคทรัพย์ ยศถาบริวาร สมบัติ อันสมควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ได้
พิธีปราบดาภิเษก หมายความว่า ตระกูลกษัตริย์ด้วยกัน แต่มีฤทธิ์ มีอำนาจเหนือกว่ากษัตริย์อื่น แล้วมีชัยชนะในการรบ
พิธีราชาภิเษก หมายความว่า การสืบทอดสันตติวงศ์ต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิม
พิธีอุภิเษก หมายความว่า ผู้สืบเชื้อสายกษัตริย์ มีชาติตระกูลเสมอกัน อภิเษกสมรสกัน สถาปนาขึ้นปกครองบ้านเมือง ซึ่งปัจจุบัน คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่มาจากสายเดียวกันของไทย
ทั้งนี้ การสมโภชหรือนาฎยประเพณีที่มีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น เกิดขึ้นเพราะคนไทยนิยมในเรื่องศิลปะการร่ายรำ ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล ถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองด้วยความรื่นเริง ด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยความยิ่งใหญ่ ซึ่งแต่เดิมมหรสพเหล่านี้มีไม่มากนั้น และมหรสพของไทยดั้งเดิมจริง ๆ มีน้อยมาก จนกระทั่งไทยได้รับอิทธิพลเข้ามาผนวกเป็นศิลปะของตนเอง
อ.จรัล พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นอีกหนึ่งปูชนียบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านนาฏยประเพณีหรือมหรสพสมโภช กล่าวว่า มหรสพสมโภชในพระราชพิธีบรมราชภิเษก จะจัดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้ว ซึ่งตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีการจัดขึ้นทุกรัชกาล ขึ้นอยู่กับสังคมในขณะนั้น
ยกตัวอย่าง กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก ไม่มีการจัดมหรสพสมโภช เพราะอยู่ในช่วงบ้านเมืองโศกเศร้าจากการสูญเสียพระราชบิดา ขณะที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้งเช่นกัน และมีการจัดมหรสพสมโภช แต่เป็นการส่วนพระองค์ ไม่ยิ่งใหญ่
ทั้งนี้ ยุคเริ่มต้นของมหรสพสมโภช เกิดขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี นักวิชาการละครฯ เล่าว่า กรุงสุโขทัยได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรขอม ซึ่งเดิมนั้นมีความรุ่งเรืองมาก กระทั่งเมื่อขอมหมดอำนาจ จึงได้รับอิทธิพลจากลัทธิพราหมณ์ และนับถือพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพแห่งนาฏศิลป์ นั่นจึงทำให้ขอมใช้การฟ้อนรำเป็นเครื่องบวงสรวง
“กรุงสุโขทัยมีหลักฐานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือราชาภิเษกกษัตริย์ เพียง 2 พระองค์ คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว) แต่ไม่มีหลักฐานว่า หลังจากพระราชพิธีฯ แล้ว ได้มีการสมโภชอะไรบ้าง อีกพระองค์หนึ่ง คือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) แต่ไม่มีหลักฐานเช่นกันว่ามีการสมโภชหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า การสมโภชเป็นพิธีการหรือเรื่องภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเเล้ว เเต่ในสมัยนั้นมีศิลปะหรือนาฏศิลป์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีประเพณีสิบสองเดือน หรือประเพณีตามที่บันทึกไว้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำเเหง ซึ่งมีขบวนการสนุกสนานเเห่จากนอกเมืองเข้าไปในเมืองกรุงสุโขทัย
ทั้งนี้ ในพระราชพิธีสมัยนั้นมี 5 การละเล่น หลงเหลืออยู่ เเละมี 4 การละเล่น ที่กรมศิลปากรกำลังฟื้นฟู ได้แก่ ระเบ็ง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ แทงวิสัย ซึ่งในส่วนแทงวิสัยนั้น ยังสืบค้นหลักฐานไม่ได้ว่า มีวิธีการละเล่นอย่างไร ทราบเพียงการแต่งกายและลักษณะผู้เล่น และกระอั้วแทงควาย
ส่วนมหรสพขึ้นชื่อลือช้าในสมัยกรุงสุโขทัย อ.จรัล อ้างอิงจากหนังสือนางนพมาศ เขียนในสมัยกรุงสุโขทัย แล้วแต่งสำนวนใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นั่นคือ การสมโภชพระราชพิธีธานยเทาะห์ ซึ่งเข้าใจว่า เป็นพิธีขนข้าวเข้าลาน ซึ่งจะมีมหรสพทั้ง ระเบ็ง กระอั้วแทงควาย หกคะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง รำแพน
อีกพิธีหนึ่ง คือ จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีมงคลของเกษตรกร มีการละเล่นต่าง ๆ เช่น หกคะเมน ไต่ลวด ระเบ็ง ระบำ ลอดบ่วง รำแพน รวมถึงการเต้น อาจหมายถึงหนังใหญ่
ทั้งหมดนี้คือการละเล่นในยุคสุโขทัย ซึ่งเหลือในปัจจุบันไม่กี่ชนิด นอกจากนั้นค่อนข้างเป็นเพียงตำนานหรือบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ให้คนไทยได้เรียนรู้เท่านั้น .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/