เลิกจ้างไม่เป็นธรรม! อดีตคนข่าวโพสต์ทูเดย์-M2F ฟ้องศาลแรงงานกลาง เรียกค่าตกใจ
อดีตคนข่าวโพสต์ทูเดย์-M2F ยื่นฟ้องศาลแรงงานกลาง เรียกร้อง ค่าตกใจ -รักษาพยาบาล หลังถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม บริษัทฯ ปิดกิจการเปลี่ยนเทคโนโลยี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews รายงานว่า วันที่ 4 เม.ย. 2562 เวลา 10.00 น. อดีตพนักงานของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และ M2F ประมาณ 30 คน มายื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ถ.พระราม 4 หลังจากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 กรณีปิดกิจการด้วยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วัน แต่ปรากฎว่า บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) กลับแจ้งล่วงหน้าเพียง 15 วันเท่านั้น และไม่จ่ายค่าตกใจ จึงได้มาร้องศาลฯ เพื่อขอความเป็นธรรม โดยเรียกร้องให้จ่ายค่าตกใจและค่ารักษาพยาบาลตามอายุงาน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ได้ให้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ แล้ว ได้แก่ ค่าชดเชยตามอายุการทำงาน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนจนถึงสิ้น มี.ค. 2562 (หากมี) และหนังสือรับรองการผ่านงาน
ทั้งนี้ ตามกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
1.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
3.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
4.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
5.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
1.แจ้ง วันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
2.ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่า จ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติดังต่อไปนี้
1.ลูกจ้าง ทำงานติดต่อกันครบหกปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย พิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติซึ่งลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงาน ครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2.ค่า ชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อย หกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน
3.เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี
อ่านประกอบ:โชว์ตัวเลขขาดทุนล่าสุด167ล.! บางกอกโพสต์ แจ้งตลท. หยุดพิมพ์ 'โพสต์ทูเดย์-M2F” มี.ค.นี้
"กลุ่มบางกอกโพสต์"ยืนยันเลิกจ้างพนักงานถูกต้องตามกฎหมาย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/