มท.ขานรับสตง.แจ้งผู้ว่าฯ คุม อปท.จัดปาร์ตี้โฟมเทศกาลสงกรานต์ ให้เน้นกิจกรรมไทยเป็นหลัก
มท.ขานรับข้อเสนอสตง. แจ้งผู้ว่าฯ คุม อปท.จัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟมช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลังพบมีความเสี่ยงจากการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงที่อาจระคายเคืองดวงตาผิวหนัง เน้นประเพณีศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก
รายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือแจ้งเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ดำเนินการตามข้อเสนอแนะตามผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟมในเทศกาลสงกรานต์ที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงจากการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงอันตรายจากสารผลิตฟองโฟมที่อาจระคายเคืองดวงตาและผิวหนัง
โดยกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ซักซ้อมแนวทางการจัดงานประเพณีสงกรานต์ของ อปท. เน้นเรื่องประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของไทยเป็นหลัก ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ อปท. พิจารณาถึงความคุ้มค่า ประหยัด เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตลอดจนร่วมกับภาคเอกชนที่มีการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทางควบคุมความปลอดภัยหรือป้องกันความเสี่ยงของประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมตามที่ สตง. ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้
ขณะที่ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ สตง.ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2550 และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชน พบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บข้อมูลสถิติอ้างอิงถึงอันตรายหรือผลกระทบที่เกิดจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ในขณะที่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐ ในฐานะผู้จัดงานต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เป็นระยะ ๆ
ทั้งนี้ อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟม ประกอบด้วย 3 ประเภทหลัก ได้แก่ เครื่องทำฟองอากาศ เครื่องฉีดพ่นฟองโฟม และอุโมงค์น้ำ/ม่านน้ำ โดยอุปกรณ์ทั้ง 3 ประเภท ใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงานของพัดลม มอเตอร์น้ำ และปั๊มน้ำ นอกจากนี้ สารที่ใช้ในการผลิตฟองโฟม เป็นสารกลุ่มลดแรงตึงผิวประจุลบ เช่น Sodium lauryl sulfate (SLS), Sodium laureth sulfate หรือ Sodium lauryl ether sulfate (SLeS)
ซึ่งผลการศึกษาพบความเสี่ยงจากอุปกรณ์และสารที่ใช้ในการผลิตฟองโฟม กล่าวคือ
1. การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า มีความเสี่ยงเรื่องอุปกรณ์ชำรุด มีการติดตั้งไม่ถูกวิธี ขาดระบบรักษาความปลอดภัย เช่น ระบบสายกราวน์ ระบบตัดไฟช็อต ไฟรั่ว รวมถึงสภาพแวดล้อมในการใช้งานในพื้นที่เสี่ยง เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ ปลั๊ก แช่อยู่ในพื้นที่เปียกชื้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน มีการดัดแปลงอุปกรณ์ใช้งานผิดวัตถุประสงค์ โดยอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟมยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ประกอบกับยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและให้การรับรองเกี่ยวกับเครื่องผลิตฟองโฟมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนยังไม่มีการรับรองความรู้ ความสามารถของผู้ควบคุมเครื่องผลิตฟองโฟม
2. อันตรายของสารลดแรงตึงผิวประจุลบ มีความเสี่ยงต่อการระคายเคืองดวงตาและผิวหนัง ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารและระยะเวลาที่สารสัมผัสร่างกาย โดยสารที่ใช้ผลิตฟองโฟมไม่ได้จัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ประเภททำความสะอาดหรือวัตถุอันตรายที่ใช้ทางสาธารณสุข จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข และยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์โดยตรง แต่เป็นการใช้ประโยชน์ในการทำให้เกิดฟองเพื่อความบันเทิง
ผลการศึกษาของ สตง. ระบุว่า การจัดงานประเพณีสงกรานต์ของ อปท. ควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งที่กำหนดให้ อปท. มีหน้าที่ “บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น” ประกอบกับเมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “ประเพณีสงกรานต์” ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่อธิบายถึงรูปแบบการจัดงานประเพณีสงกรานต์ว่า ควรจะเหมาะสมกับยุคสมัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน และสามารถสืบสานประเพณีที่ถูกต้องเหมาะสมไปพร้อมกัน โดยจัดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำบุญ เข้าวัด ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ฯลฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ให้ความเห็นว่า “ไม่เคยปรากฏกิจกรรมปาร์ตี้โฟมในการจัดงานวันสงกรานต์ที่ประพฤติปฏิบัติสืบกันมาของท้องถิ่น”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดให้ อปท. สามารถจัดกิจกรรมได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ในการบำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และภายใต้ดุลพินิจของผู้บริหาร
จากสภาพปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการจัดประเพณีสงกรานต์ที่มีการจัดกิจกรรม ปาร์ตี้โฟมรวมอยู่ด้วย โดยขาดการกำกับดูแล หรือหามาตรการหรือแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณากำหนดแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ของ อปท. ที่เป็นการ สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและตรงตามวัตถุประสงค์และความหมายของ “ประเพณีสงกรานต์” อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน กำหนดให้มีการศึกษาข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย และภาคเอกชนที่มีการจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟมซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการ แนวทางควบคุมความปลอดภัยของประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม ทั้งในส่วนของการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า เช่น กำหนดให้มีการติดตั้งระบบป้องกันไฟฟ้ารั่วอย่างถูกวิธี และการป้องกันอันตรายจากการแพ้สารที่ใช้ในการผลิตฟองโฟม โดยให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการทดสอบอาการแพ้สารผลิตฟองโฟมที่ใช้ในงาน เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Manager Online