ผลสำรวจ ปี 61 ชี้คนไทยอ่านนานขึ้นเฉลี่ย 80 นาที/วัน
ผลสำรวจการอ่าน ปี 61 ชี้คนไทยใช้เวลาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 นาที/วัน นานขึ้น 14 นาที วัยเยาวชนชื่นชอบมากสุด ขณะที่เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 6 ปี พบพ่อแม่ซื้อหนังสือให้ลดลงเล็กน้อย พามางานแฟร์ เพียง 1.2%
วันที่ 3 เม.ย. 2562 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ที เค พาร์ค) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าว เรื่อง ผลสำรวจการอ่านของประชากร ปี 2561 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
น.ส.วันเพ็ญ พูลวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจได้เก็บรวบรวมข้อมูลการอ่านในระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 จาก 55,920 ตัวอย่าง กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้นิยามการอ่าน หมายถึง การอ่านหนังสือหรือบทความทุกประเภท นอกเวลาเรียน นอกเวลาทำงาน และช่วงเวลาพัก ทั้งที่เป็นรูปเล่ม เอกสาร หรือการอ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เชื่อมและไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงการอ่านผ่านเอสเอ็มเอส อีเมล และสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ แต่ยกเว้น การอ่านข้อความที่เป็นการสนทนาหรือติดต่อสื่อสารส่วนบุคคลและหน้าที่การงาน ขณะที่การอ่านของเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 ปี ) ให้รวมเด็กเล็กอ่านด้วยตัวเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟังก็ได้
เด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปี อ่านเพิ่มขึ้น-ใช้เวลาเฉลี่ย 42 นาที/วัน
โดยผลการสำรวจการอ่านกลุ่มเด็กเล็ก พบว่า ปี 2561 เด็กเล็กอ่านเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 61.2 (2.7 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 60.2
ขณะที่รายภาค พบเด็กเล็กใน กทม. อ่านมากที่สุด ร้อยละ 76.2 รองลงมา คือ ภาคกลาง ร้อยละ 63.8 ภาคเหนือ ร้อยละ 59.1 ภาคใต้ ร้อยละ 56.9 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 55.9
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวต่อถึงผลสำรวจยังพบความถี่ในการอ่านนาน ๆ ครั้ง ของเด็กเล็กลดลง เหลือร้อยละ 8.1 และใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 42 นาที/วัน นานขึ้นจากเดิม 8 นาที/วัน
สำหรับประเภทสื่อที่เด็กเล็กนิยมอ่านมากที่สุด คือ รูปเล่มและเอกสารอย่างเดียว ร้อยละ 56.9 สื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว ร้อยละ 5.4 และทั้งสองประเภท ร้อยละ 37.7 ซึ่งสื่อที่อ่านนิยมซื้อจากร้านหนังสือมากที่สุด ร้อยละ 64.9 รองลงมา อ่านจากอินเตอร์เน็ต ร้อยละ 13.1 ได้รับแจกจากหน่วยงานต่าง ๆ ร้อยละ 12.2 ในขณะที่การซื้อจากงานแสดงหนังสือ มีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังพบผู้ใหญ่ซื้อหนังสือให้เด็กเล็กอ่านลดลงเล็กน้อย ในปี 2561 ร้อยละ 70.8 จากเดิมร้อยละ 78.5 ในปี 2558
สำหรับเด็กเล็กที่ไม่อ่าน น.ส.วันเพ็ญ ระบุมีถึงร้อยละ 38.8 (1.7 ล้านคน) มีสาเหตุจาก เด็กยังเล็กเกินไป ร้อยละ 63.8 รองลงมา อ่านไม่ออก ร้อยละ 18.4 ชอบดูโทรทัศน์ ร้อยละ 7.9
ส่วนสาเหตุที่ผู้ใหญ่ไม่อ่านให้เด็กเล็กฟัง เพราะคิดว่าเด็กยังเล็กเกินไป ร้อยละ 55.2 รองลงมา ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 24.6 ชอบดูโทรทัศน์ ร้อยละ 10.9 อ่านไม่คล่อง ร้อยละ 7.4 และไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจ ร้อยละ 6.7
ประชากร อายุ 6 ปีขึ้นไป พบ ‘เยาวชน’ อ่านมากที่สุด
รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวต่อถึงแนวโน้มการอ่านของประชากร อายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป พบว่า ปี 2561 มีผู้อ่านเป็นร้อยละ 78.8 (49.7 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 77.7
ขณะที่รายภาค พบการอ่านประชากรในกทม.มากที่สุด ร้อยละ 92.9 รองลงมา คือ ภาคกลาง ร้อยละ 80.4 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 75.0 และภาคใต้ ร้อยละ 74.3
โดยเยาวชนเป็นวัยที่มีการอ่านมากที่สุด ร้อยละ 92.9 รองลงมา คือวัยเด็ก ร้อยละ 89.7 วัยทำงาน ร้อยละ 81.8 และวัยสูงอายุ ร้อยละ 52.2
ส่วนประเภทของหนังสือที่อ่าน น.ส.วันเพ็ญ กล่าวต่อว่า ประชากรในกลุ่มดังกล่าวอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ เอสเอ็มเอส และอีเมล มากที่สุด ร้อยละ 69.2 รองลงมา คือ ตำรา หนังสือ เอกสาร บทความให้ความรู้ ความรู้ทั่วไป ร้อยละ 48.9 หนังสือ เอกสาร บทความเกี่ยวกับคำสอนศาสนา ร้อยละ 38.1 ขณะที่ นวนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่นต่าง ๆ ร้อยละ 29.7
ทั้งนี้ ประชากรกลุ่มดังกล่าวยังอ่านสื่อในรูปแบบเล่มหนังสือ เอกสาร ร้อยละ 88.0 มากกว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 75.4 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสารคดีและความรู้ทั่วไป ร้อยละ 53.5 ข่าว ร้อยละ 44.0 และบันเทิง ร้อยละ 45.7 และใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 80 นาที/วัน นานขึ้น 14 นาทีต่อวัน จากเดิมปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 66 นาที/วัน และวัยเยาวชนอ่านนานกว่าวัยอื่น
อย่างไรก็ตาม มีผู้ไม่อ่าน ร้อยละ 21.2 (13.4 ล้านคน) สาเหตุจากชอบดูโทรทัศน์ ร้อยละ 30.3 รองลงมาไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจ ร้อยละ 25.2 อ่านไม่ออก ร้อยละ 25.0 สายตาไม่ดี ร้อยละ 22.1 และไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 20.0 .
คลิกอ่านอินโฟกราฟฟิก ผลสำรวจการอ่านของประชากร 2561
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/