ปชป.กับสถานะ "ฝ่ายค้านอิสระ" เรื่องปกติระบบรัฐสภา?
หลายเสียงปรามาสว่าพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็น "อดีต" พรรคขวัญใจคนใต้ไปแล้ว ด้วยคะแนนนิยมและจำนวน "ว่าที่ ส.ส." ที่ตกต่ำอย่างหนัก
แต่หากประเมินอย่างกลางๆ ก็ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงครองที่นั่ง ส.ส.ใต้มากที่สุดอยู่
หลังพ่ายแพ้เลือกตั้งอย่างหมดรูป ประชาธิปัตย์เหมือนยังไม่เลิกเมาหมัด เพราะยังเปิด "ศึกใน" กันต่อ ด้วยการโต้แย้งกันว่าควรจะนำ "ว่าที่ ส.ส." 50 กว่าเสียงไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลหรือไม่
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐยังคงยืนยันผลักดัน "บิ๊กตู่" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ "บิ๊กตู่" คือคนที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน
แต่วันนี้ อภิสิทธิ์ กลายเป็น "อดีต" ไปแล้วเหมือนกัน
ทว่าสายธารความคิดจากจุดยืนที่เคยประกาศยังคงแผ่ซ่านอยู่ในสามัญสำนักของว่าที่ ส.ส.และอดีตผู้สมัคร ตลอดจนสมาชิกพรรคบางส่วน ทำให้เกิดแนวทาง "ฝ่ายค้านอิสระ" ขึ้นมา (นอกเหนือจากแนวทางร่วมรัฐบาลโดยไม่มีเงื่อนไข และมีเงื่อนไขกับพรรคพลังประชารัฐ ส่วนฝั่งเพื่อไทยยังปิดประตูตายเหมือนเดิม)
เส้นทาง "ฝ่ายค้านอิสระ" ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่ามันคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่ ทั้งในแง่ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ และการเมืองภาคปฏิบัติ
ไม่ชัดว่าคำๆ นี้เริ่มมาจากสมาชิกกลุ่ม "นิวเดม" หรือคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์หรือเปล่า แต่คนในนิวเดมพูดถึงกันเยอะ และบางคนก็แสดงตัวสนับสนุนแนวทาง "ฝ่ายค้านอิสระ" อย่างเต็มที่ เต็มตัว อย่างเช่น "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิวเดมอย่าง นัฏฐิกา โล่ห์วีระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 ชัยภูมิ ซึ่งจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ในทางทฤษฎีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น "ฝ่ายค้านอิสระ" หรือ "ฝ่ายค้านเฉยๆ" ก็มีลักษณะเป็น "ฝ่ายค้านอิสระ" อยู่ในตัว หลักการคือไม่ได้สักแต่ว่าค้าน แต่ต้องค้านอย่างมีสาระ และค้านอย่างสร้างสรรค์ อะไรที่เห็นด้วยก็ไม่ได้ค้าน แค่งดออกเสียง
สอดคล้องกับ ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่บอกว่า ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาจะเแบ่งเป็น 2 ฝ่ายอยู่แล้ว คือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ที่้ผ่านมามีฝ่ายค้านที่ไม่ได้จับมือกันตรงๆ แต่ในเชิงโครงสร้างของระบบรัฐสภาจะต้องถูกผลักให้มาอยู่ฝ่ายค้านเหมือนกัน ดังนั้นพรรคการเมืองที่สังกัดฝ่ายค้าน ต่างคนก็ต่างค้านตามแนวทางของตน วัตถุประสงค์ก็เพื่อตรวจสอบรัฐบาลเหมือนกัน แต่อาจจะไม่จับมือกันก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกง่ายๆ ว่า เป็นฝ่ายค้านที่ไม่ได้ร่วมมือกัน
สำหรับคำว่า "ฝ่ายค้านอิสระ" เข้าใจว่าทางพรรคประชาธิปัตย์คงคิดหาวาทกรรมที่เข้าใจง่าย มีเอกลักษณ์ จึงเลือกใช้คำๆ นี้
ความหมาย หรือ "นิยาม" ของ "ฝ่ายค้าน" ไม่ได้มีเขียนไว้ตรงๆ ในรัฐธรรมนูญ แต่เทียบเคียงได้จากนิยามอ้อมๆ ของ "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ บัญญัติไว้ในมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ระบุว่า "ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร"
สรุปง่ายๆ ก็คือ "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" หมายถึงหัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดที่ไม่มีสมาชิกดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนั่นเอง ฉะนั้นฝ่ายค้านก็คือพรรคการเมืองฝ่ายที่ไม่มีตำแหน่งใน ครม.
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย บอกว่า โดยหลักการทั่วๆ ไป ฝ่ายค้านก็มีความเป็นอิสระอยู่แล้ว สำหรับกรณีที่ฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค ปกติเราจะเห็นภาพฝ่ายค้านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็เฉพาะตอนโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือการโหวตร่างกฎหมายสำคัญมากๆ เท่านั้น แต่เวลาโหวตร่างกฎหมายที่ไม่ได้ถูกจับตาจากสังคม ถึงจะเป็นร่างของรัฐบาลก็ตาม ถ้าฝ่ายค้านไม่ได้คัดค้าน ก็อาจจะยกมือให้ หรืองดออกเสียงก็ได้
"ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเป็นฝ่ายค้านในความหมายนี้มาก่อน ถือเป็นเรื่องปกติมาก และไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้บัญญัติให้ฝ่ายค้านต้องโหวตสวนรัฐบาลทุกเรื่อง" ดร.สติธร กล่าว
ส่วนคำว่า "ฝ่ายค้านอิสระ" นั้น นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า บอกว่า ถือเป็น "วาทกรรมการเมือง" อย่างหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์น่าจะต้องการใช้คำๆ นี้ในแง่ของการ "แสดงจุดยืน" ว่าไม่เอาด้วยกับพรรคเพื่อไทย แม้จะต้องเป็นฝ่ายค้านร่วมกันในอนาคตก็ตาม
"เพราะการไม่ไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาธิปัตย์ถูกมองจากบางฝ่ายว่าอาจต้องการไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นคำว่า 'ฝ่ายค้านอิสระ' จึงเกิดขึ้น เพื่อย้ำจุดยืนว่าจะไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยด้วย แม้อาจต้องเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน และหากต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ก็อาจโหวตหนุนรัฐบาลในบางเรื่องก็ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรโหวตเหมือนกับกับพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย" ดร.สติธร อธิบาย
"ฝ่ายค้านอิสระ" จึงเป็นสถานะปกติของ "พรรคฝ่ายค้าน" และเป็นอีกหนึ่งเดิมพันทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะฟื้นคืนความเชื่อมั่นได้อีกครั้งหรือไม่...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อ่านประกอบ :