นายกฯ สั่งเข้ม 7 วัน สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าภาคเหนือต้องคลี่คลาย
นายกฯ ขันน๊อตสั่ง 7 วัน สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าภาคเหนือต้องคลี่คลาย ให้เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ทำผิดลักลอบเผาป่า
วันที่ 2 เมษายน 2562 เวลา 09.00 น. ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ พร้อมด้วย นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหาร ข้าราชการ หน่วยงานในสังกัด ทส. ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมติดตามสถานการณ์การจัดการและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ในการประชุม นายกรัฐมนตรี กล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ขอให้มีกำลังใจในการแก้ไขปัญหา ให้ทุกคนต่อสู้กับความไม่ดี สู้กับอันตรายต่างๆ และขอให้ทำงานด้วยความปลอดภัย
"รู้ว่าทุกคนเหน็ดเหนื่อย เต็มที่ในการทำงาน และทำงานเพื่อถวายพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงกำชับ และทรงห่วงใย ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด"
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว และทำให้สถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้นให้ได้ภายใน 7 วัน โดยจะเร่งหามาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ และจำเป็นต้องเข้มงวดในการใช้กฎหมายดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเพื่อแก้ไขปัญหาในการลักลอบเผาป่า
"ขอให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมมือร่วมใจช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งภาครัฐต้องทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเฝ้าระวัง พร้อมกับขอให้ติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด และปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่"
สำหรับการติดติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดการประชุมติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดเชียงใหม่ สรุปประเด็นสำคัญดังนี้
1. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงแสดงความห่วงใยสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือที่มีคุณภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ให้จังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์ให้สำนักพระราชวังทราบเป็นประจำทุกวัน
2. นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ อย่างเร่งด่วนและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบ
3. สรุปสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ณ ปัจจุบัน (1 มกราคม – 31 มีนาคม 2562)
3.1 สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2562 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเกิดจากสภาพความแห้งแล้ง ปริมาณเชื้อเพลิงสะสมมีจำนวนมาก และประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเอลนีโญกำลังอ่อนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562 ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 ในบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์หมอกควันอย่างเต็มที่
3.2 สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2562 พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง มีค่าสูงสุด เท่ากับ 394 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 31 มีนาคม 2562 ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มีจำนวน 29 วัน
ในขณะที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า มีค่าสูงสุด เท่ากับ 353 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 31 มีนาคม 2562 ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มีจำนวน 67 วัน
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง มีค่าสูงสุด เท่ากับ 282 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มีจำนวน 18 วัน ในขณะที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย24 ชั่วโมง พบว่า มีค่าสูงสุด เท่ากับ 241 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มีจำนวน 38 วัน
3.3 สถานการณ์จุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2562 พบว่า จำนวนจุดความร้อนแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมี จุดความร้อนสะสม จำนวน 5,774 จุด ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าประมาณ 2 เท่าตัว สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนจุดความร้อนสะสม (1 มกราคม – 31 มีนาคม 2562) 1,118 จุด อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าจากดาวเทียม ได้ที่เว็บไซต์ http://fire.gistda.or.th
4. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
4.1 มาตรการป้องกันการลุกลามของไฟ และการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมกับทหาร ตำรวจ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ เข้าไปกำกับการปฏิบัติงานระดับพื้นที่ อย่างใกล้ชิด สำหรับพื้นที่ป่าให้เน้นทำความเข้าใจกับหมู่บ้านโดยรอบ และสร้างเครือข่ายลาดตระเวน/เฝ้าระวังพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดไฟ
ทั้งนี้ หากพบเหตุไฟไหม้ป่า สามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วน (Hotline) เฝ้าระวังไฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายเลข 1362
4.2 จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ (ศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และจิตอาสา) เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ฝ่ายทหารเป็นผู้ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดในพื้นที่ โดยสามารถสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) และให้เน้นความสำคัญตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยกำนัน และผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงประชาชน และผลักดันการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ รวมถึงให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำความผิดจะถูกลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา รวมถึงเสนอข่าวให้สังคมได้รับรู้ เพื่อป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดรายอื่นๆ
4.3 จัดตั้งทีมด้านสาธารณสุขและจิตอาสา ร่วมกันเข้าไปดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้สูงวัย เด็ก ผู้พิการ ในระดับชุมชนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนและจิตอาสามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และประชาสัมพันธ์ขั้นตอนในการดูแลสุขภาพให้ประชาชนเข้าใจง่าย
4.4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในช่วงภาวะวิกฤต ดังนี้
4.4.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่จากนอกพื้นที่เข้าร่วมปฏิบัติการ โดยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 2,000 คน ร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในช่วงวิกฤตการณ์ พร้อมทั้ง สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จำนวน 3 ลำ ในภารกิจดับไฟป่า และมอบหมายให้รองอธิบดีกรมป่าไม้ และรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ในช่วงภาวะวิกฤตโดยการสนับสนุนดังกล่าว จะดำเนินการต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
4.4.2 กระทรวงกลาโหม ได้เพิ่มการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ทหารในการลาดตระเวน ดับไฟ และประชาสัมพันธ์ รวมถึงสนับสนุนอากาศยาน เพื่อปฏิบัติภารกิจในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
4.4.3 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามตรวจสอบสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และจะปฏิบัติการบินทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการทำฝนหลวง เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละออง
4.4.4 กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติงานด้านสุขอนามัยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
5. มาตรการระยะยาว
5.1 เพิ่มเติมเงื่อนไขการห้ามเผาในที่โล่ง สำหรับการอนุญาติจัดที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้แบบแปลงรวมของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช)
5.2 การศึกษาวิจัยเกษตรปลอดการเผา และส่งเสริมการปลูกพืชปลอดการเผา เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทำการเกษตรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
5.3 กระทรวงสาธารณสุข ตั้งหน่วยเฉพาะกิจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติงาน ในการเฝ้าระวังและรักษาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ภาพ: กรมป่าไม้/thaigov.go.th