ร้องเรียนTORสร้างทางด่วน3หมื่นล.ส่อพิรุธ 5 สัญญารวด - กทพ.เร่งหาคำตอบแต่ไม่เลิกประมูล
ผู้รับเหมาร้องเรียนข้อพิรุธทีโออาร์ก่อสร้างทางด่วนยกระดับพระราม3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล. ผิดปกติ 5 สัญญารวด ชี้ไม่ระบุผลงานย้อนหลัง 10 ปี รวมถึงสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทย ข้องใจรีบประมูลระบบเก็บเงิน ทั้งที่กว่าจะสร้างเสร็จใช้เวลาอีก 4 ปี ยื่นไปแล้วเงียบไม่มีผลตอบรับ ด้าน ปธ.บอร์ดกทพ. แจงสั่งเร่งหาคำตอบอยู่ แต่ไม่ยกเลิกประมูล
การเปิดประมูลโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท จำนวน 5 สัญญา โดยใช้วิธีการเปิดประมูลแบบนานาชาติหรือ International Competitive Bidding ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังถูกจับตามอง เมื่อถูกตั้งข้อสังเกตและร้องเรียนจากกลุ่มผู้รับเหมาว่า การกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์งานทั้ง 5 สัญญา มีความผิดปกติหลายประการ ส่อว่าจะมีการเอื้อประโยชน์เกิดขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างว่า ภายหลังจากที่ กทพ. ได้ประกาศเปิดประมูลงานโครงการก่อสร้างทางด่วนสายนี้ โดยใช้วิธีเปิดประมูลแบบนานาชาติ ซึ่งสัญญางานก่อสร้างที่ 1-4 เปิดขายซองทีโออาร์ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2562 - 23 เม.ย.2562 และให้ยื่นราคา 24 เม.ย. 2562
ส่วนสัญญาที่5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางควบคุมจราจรและระบบสื่อสาร เปิดประมูลแบบประกวดราคาอิเล็กทรอนอกส์(e-bidding) เปิดขายซองไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2562- 2 เม.ย.2562 เช่นกัน แต่ให้ยื่นซองราคาวันที่ 3 เม.ย.2562
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากมีการเปิดขายซองไปแล้ว ปรากฎว่าทีโออาร์งานก่อสร้างโครงการทั้ง 5 สัญญา ถูกตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มผู้รับเหมาว่า มีความผิดปกติหลายประการ และทราบว่า มีการร้องเรียนและท้วงติงว่าทีโออาร์ที่ออกมาอาจจะมีการเอื้อประโยชน์เกิดขึ้น และทำให้เกิดความเสียหายต่อกทพ.และรัฐ โดยมีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ กทพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบว่ามีการสั่งการอย่างไรต่อเรื่องนี้บ้าง
ทั้งนี้ สำหรับข้อสังเกตความผิดปกติในทีโออาร์ ทั้ง 5 สัญญา มีดังนี้
1. ทีโออาร์สัญญาที่ 1-3 เป็นสัญญาทางยกระดับ (ทางด่วน 2 ชั้น) กำหนดให้ต่างชาติต้องร่วมกับบริษัทไทยให้คนไทยถือหุ้นอย่างน้อย 50% และผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานการก่อสร้างในประเภทเดียวกัน โดยในส่วนผู้ร่วมค้าหลักหรือleader ต้องมีมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท ส่วนผู้ร่วมค้าหรือpartner ต้องมีผลงานโครงการมูลค่าไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท แต่ในทีโออาร์ทั้ง 3 สัญญา ไม่มีการะบุระยะเวลาผลงานของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งโดยทั่วไปมักจะระบุว่ามีต้องมีผลงานย้อนหลังในช่วง 10 ปี เผื่อนำมาใช้เป็นผลงานของผู้เข้าร่วมประมูล
"การกำหนดระยะเวลาทำโครงการเหล่านี้ มีความสำคัญในแง่การประมูลแบบ International Bidding ที่จะต้องกำหนดระยะเวลาผลงานที่ชัดเจน หากเอาผลงานในอดีตที่เคยทำนานมาแล้ว ก็อาจจะไม่เหมาะสม วิธีการก่อสร้างที่ไม่ทันสมัย เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆและเปลี่ยนแปลงเร็ว อาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผู้เข้าร่วมประมูลและคุณภาพงานได้” แหล่งข่าวกล่าว
2. สัญญาที่ 4 เป็นสัญญาสร้างสะพานแขวน TOR ผู้ยื่นสามารถเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือนิติบุคคลไทยหลายราย หรือเป็นกิจการ่วมค้าที่มีต่างชาติ
"ประเด็นที่ตั้งเป็นข้อสังเกตคือ กรณีกิจการร่วมค้า ไม่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยว่าจะต้องถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใด หากเทียบกับสัญญาที่1-3 มีการกำหนดชัดเจน นอกจากนี้สัญญาที่ 4 leader ต้องมีผลงานโครงการมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท แต่ในกรณีผู้ร่วมค้าหรือpartner ไมมีการกำหนดมูลค่าผลงานก่อสร้าง ต่างจากสัญญาที่ 1-3 มากไปกว่านั้นสัญญาที่ 4 ไม่มีการกำหนดระยะเวลาผลงานเช่นเดียวกับสัญญาที่ 1-3 ซึ่งผิดหลักการของการประมูลแบบ International Bidding" แหล่งข่าวระบุ
3. สัญญาที่ 5 เป็นสัญญาประมูลระบบเก็บเงิน มีการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องรีบประมูลระบบการเก็บเงิน เพราะการก่อสร้างทางด่วนเส้นนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ และประมูลก่อนสัญญาที่ 1-4 ด้วย หากงานก่อสร้างล่าช้าก็อาจจะมีการฟ้องร้องค่าเสียหายกันอีก ส่วนคุณสมบัติกำหนดว่าผู้ยื่นเสนองานต้องมีผลงานโครงการมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท แต่ไม่ระยะเวลาผลงานเช่นเดียวกันสัญญา 1-4 เช่นกัน
“ที่น่าแปลกใจมากกว่านั้นคือ การประมูลแบบ International Bidding การเปิดขายซองประมูลจะมีระยะเวลาปิดขายซอง เช่นขาย 1 เดือนแล้วหยุด เพื่อให้ผู้ซื้อซองมีเวลาทำข้อมูลเพื่อยื่นประมูล แต่ทั้ง 5 สัญญา ขายซองราคายาวถึงวันยื่นซองประมูล จึงเกรงว่าจะเป็นการเอื้อให้ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบสามารถยื่นประมูลในท้ายที่สุดได้” แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ กทพ. กล่าวยืนยันต่อกรณีนี้ ภายหลังจากที่ กทพ. เปิดขายซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกระเทพมหานครด้านตะวันไปแล้ว ปรากฏว่ามีหนังสือร้อนเรียนส่งมาที่คณะกรรมการ กทพ. ตนจึงสั่งให้ฝ่ายบริหารของ กทพ. นำข้อร้องเรียนดังกล่าวไปพิจารณาทบทวน เพื่อหาข้อยุติ โดยให้ไปปรึกษากับกรมบัญชีกลาง เพื่อหาข้อมูลมาตอบคำถามผู้ที่ร้องเรียนให้ได้ เช่น ทำไมต้องรีบเร่งออกประกาศคัดเลือกผู้บริหารโครงการตามสัญญาที่ 5 ทั้งที่สัญญาที่ 1 – 4 ก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ
"แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดก็ยังเดินหน้าต่อไป ยังไม่มีการยกเลิก เพียงแต่ขอให้ฝ่ายบริหาร กทพ. นำประเด็นข้อร้องเรียนทั้งหมดไปพิจารณาว่ามีเหตุผลถูกต้องหรือไม่ และต้องตอบคำถามของผู้ที่ร้องเรียนมาให้ได้ด้วย " ประธานคณะกรรมการ กทพ. ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/