เจอรร.ตรวจรับงานไม่มีเอกสารสัญญา! สตง.สาวลึกไส้ในโครงการ DLIT โคราช 264 ล.
ตามสาวลึกไส้ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาDLIT สนง.เขตพื้นที่การศึกษาโคราช 264 ล. สตง.พบปัญหาข้อพิรุธเพียบจัดสรรระบบคอมฯ อุปกรณ์ต่อพ่วงไม่เป็นไปตามแนวทาง ติดตั้งซ้ำซ้อนโครงการอื่น ความเร็วอินเทอร์เน็ตช้า บางโรงเรียตรวจรับงานไม่มีเอกสารสัญญา -แจ้งปลัดศธ.ควบคุมกำกับดูแลแล้ว
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2562 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบเชิงป้องกันโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 วงเงิน 232.71 ล้านบาท พบการใช้อุปกรณ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความเสี่ยงต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า
สาเหตุมาจากการขาดความพร้อมก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณ ขณะที่การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ DLTV ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ถึง 2564 วงเงิน 1,136.25 ล้านบาท ก็ส่อว่าจะมีปัญหาในลักษณะเดียวกันได้ จึงมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้ว (อ่านประกอบ : เสี่ยงผลาญงบพันล.! สตง.ชำแหละไส้ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาDLIT-DLTV สถ. ปัญหาเพียบ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT ของสตง. ด้วย
โดยนับตั้งแต่ปี 2558-2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณไปจำนวนทั้งสิ้น 264.98 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดสรรครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ให้กับโรงเรียนในสังกัด เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนครูหรือครูสอนไม่ครบชั้น ขาดสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย
แต่จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานพบปัญหาข้อสังเกตหลายส่วน อาทิ การจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการไม่เป็นไปตามเกณฑ์การจัดสรรและแนวทางการดำเนินงานที่กำหนด การติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ได้รับจัดสรรตามโครงการ DLIT ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ระบบเครือข่ายและความเร็วอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด เป็นต้น
โดนในส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดนั้น จากการตรวจสอบและการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 49 แห่ง พบว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุของโรงเรียนไม่เป็นตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยมีโรงเรียนที่ไม่ได้พิจารณาแต่งตั้งครูหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จำนวน 30 แห่ง ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่ตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีครูหรือบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ยังพบว่า การตรวจรับครุภัณฑ์ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 บางโรงเรียน ดำเนินการตรวจรับโดยที่ไม่ได้มีเอกสารสัญญา รายละเอียดและคุณลักษณะครุภัณฑ์ที่จัดซื้อด้วย
ส่วนกรณีความระบบเครือข่ายและความเร็วอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นั้น ตามแนวทางการดำเนินงานโครงการ ปี 2559 กำหนดความเร็วขั้นต่ำของอินเทอร์เน็ตในการใช้งานระบบ DLITไม่ควรต่ำกว่า 512 kbps ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง และสำหรับสถานศึกษาที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ไม่สูงมาก ควรจัดสรรเวลาในการใช้งานในแต่ละชั้นให้เหมาะสมและไม่ควรใช้พร้อมกัน
แต่จากการสังเกตการณ์ในพื้นที่ของโรงเรียน จำนวน 52 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนที่ระบบเครือข่ายและความเร็วอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจำนวน 24 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46 ของโรงเรียนที่ตรวจสอบทั้งหมด
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบให้กระทรวงศึกษาธิการรับทราบและนำไปแก้ไขปรับปรุง เบื้องต้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการให้มีการควบคุม กำกับ ดูแล ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และเกิดความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/