‘อย่าด่าอินเดีย’ บันทึกดิบเถื่อนของผู้ชายชื่อ ‘อินทรชัย’
เปิดประสบการณ์ผจญภัย เรียนภาษา ณ เมืองปูเน่ อินเดีย ของผู้ชายที่ชื่อ 'อินทรชัย พาณิชกุล' กับหนังสือเล่มเเรกในชีวิต 'อย่าด่าอินเดีย'
เมื่อเอ่ยถึง ‘อินเดีย’ ทุกคนคงร้อง ‘ยี้’ แต่สำหรับ ‘อินทรชัย พาณิชกุล’ หรือเดียร์ ทำให้คนอ่านอย่างผมรู้สึกว่า ‘อินเดีย’ ไม่ได้น่าร้อง ‘ยี้’ เสมอไป
ผมรู้จักกับผู้ชายหนวดงาม ‘เดียร์’ ครั้นออกทริปทำข่าวต่างจังหวัด แม้จะเป็นเพียงครั้งแรกและได้มีโอกาสพูดคุยกันเพียงไม่กี่คำ แต่ผมก็สัมผัสได้ด้วยหัวใจลึก ๆ ว่า เขาเป็นผู้ชายอารมณ์ศิลปินคนหนึ่งที่น่าจะมีโลกส่วนตัวสูง และทราบภายหลังว่า เขาลาออกจากการเป็นนักข่าว ซึ่งเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันและทำมาร่วม 10 ปี ทิ้งความก้าวหน้า ภายใต้ความจำเจ เพื่อไปศึกษาต่อในอินเดีย
แล้วนำเรื่องราวชีวิตการผจญภัยอันดิบเถื่อนในเมืองภารตะ ‘ปูเน่’ ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือบันทึกชีวิตเล่มแรก ชื่อ ‘อย่าด่าอินเดีย’ ภายใต้ชายคาสำนักพิมพ์แมวจร วางจำหน่ายเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และติดท็อปเท็นขายดีที่สุดของค่ายมติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
รูปเล่มน่าสนใจ มีปกที่เป็นภาพวาดจากฝีมือของ พงศ์ศิริ ลินิฐฎา และวรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นบรรณาธิการ ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อเขียนของบรรณาธิการท่านนี้ที่ว่า “ต้นฉบับของเขาหาตำหนิยาก” อันนี้ จริง! เพราะตลอดกว่า 5 ชั่วโมงที่จับหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่านแบบรวดเดียวจบ พยายามหาจุดบกพร่องจากการเขียน เเต่เเทบไม่เจอ
ด้วยเพราะเขาเป็นนักเขียนหน้าใหม่ในวงการหนังสือเล่ม แต่ไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่ในการเขียน เพราะความเป็นนักข่าว ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ของเขา ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเขียนถือเป็นอาวุธอันแหลมคมที่ขาดไปไม่ได้
แต่ละบทแต่ละตอน สะท้อนถึงตัวตนของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ภาพแรกที่ผมรู้จักเขา ภาพแรกที่ผมได้พูดคุยกับเขา เสมือนเป็นผู้ชายในฝันของใครหลายคน เยือกเย็น นิ่มนวล อ่อนช้อย ทว่า ในบันทึกชีวิตอันดิบเถื่อนในเมืองปูเน่ กลับฉายภาพเขาสะท้อนตัวตนในอีกมุมหนึ่งให้ผมได้รู้จักโดยไม่ต้องพูดคุย
ว่าเขามีความเป็นคนอารมณ์ร้อน อ่อนด้อยภาษาอังกฤษ ไม่มั่นใจในตัวเอง นั่นล่ะ คือตัวตนของเขา และทำให้ต้องออกจากคอมฟอร์ต โซน ไปผจญภัย ตัดสินใจเลือกเรียนภาษาอังกฤษในอินเดีย มีเมืองปูเน่เป็นจุดหมาย
ดังนั้น ผู้ที่ควรจะอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ผู้ที่อยากจะไปเรียนภาษาอังกฤษที่ดินแดนแห่งนี้จริง ๆ
เดียร์ ถ่ายทอดบอกเล่าวิธีการ ขั้นตอน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ทุกอย่าง ค่อนข้างละเอียดไว้ในบันทึก เป็นประโยชน์ให้ผู้อ่านที่สนใจจะเดินรอยตามเขาอย่างยิ่ง พร้อมกับสอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นอยู่ แหล่งท่องเที่ยว ไว้อย่างครบถ้วนเท่าที่จะเป็นไปได้
มีวลีและประโยคดิบเถื่อนแฝงอยู่ในรูปเล่ม มีอารมณ์อ่อนไหว รุนแรง แฝงอยู่ในตัวอักษร และที่สำคัญ มีทัศนคติที่เปลี่ยนไปของเขาแฝงอยู่ในความรู้สึกทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน
หลายต่อหลายเรื่องราวในปูเน่ที่เขามีทัศนคติแย่ ๆ ร้องยี้ เช่น การขโมยของ การจราจร กลิ่นตัว แต่สุดท้าย ทุกอย่างที่บอกเล่า ตอนจบของเรื่องราว ชี้ให้เห็นว่า เขาอยู่กับมันได้ โดยการเปลี่ยนตนเอง และเปลี่ยนทัศนคติจากแย่กลายเป็นดี ผันแปรเปลี่ยนกลายเป็นมิตรภาพ
นี่กระมังคือแก่นของเรื่องที่เขาต้องการนำเสนอมากไปกว่าขั้นตอน วิธีการ หรือสถาบันเรียนภาษาอังกฤษในอินเดียที่ไหนน่าจะเหมาะสม
แก่นของเรื่องที่เป็นแก่นของการอยู่ร่วมในโลก การยอมรับในวิถีชีวิตของแต่ละชนชาติ ที่ล้วนมีเสน่ห์แตกต่างกันออกไป
น่าเสียดาย น่าจะมีภาพประกอบให้มากกว่านี้ แต่คิดอีกมุมหนึ่ง เขาอาจต้องการให้ผู้อ่านได้เสพสัมผัสกับรสอักษรที่ได้บรรยายร่ายมนต์เอาไว้ สู่การจินตนาการ อิ่มเอม ซาบซึ้ง ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล
ไม่เป็นไร อยากดูภาพจริง ให้ติดตามเพจเฟซบุ๊กอย่าด่าอินเดีย มีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้
ท้ายที่สุด ถามว่าชอบบทไหนมากที่สุดจากทั้งหมด เอาจริง ๆ ผมชอบ 2 บทแรก ก่อนที่เขาจะเดินทางไปอินเดีย วันที่ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากการเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์
เพราะอักษรในนั้นสะท้อนชีวิตและตัวตนของเขาจริง ๆ ผมชอบ...แล้วคิดว่า ผู้อ่านท่านอื่นพลาดที่จะอ่านช่วงนี้ไปไม่ได้
แม้เนื้อด้านในจะสนุก เพลิดเพลินมากแค่ไหน แต่ช่วงต้นเรื่องคือสิ่งสำคัญมากสุดในการช่วยปูพื้นฐานของผู้อ่านให้รู้จักเขาอย่างดี ก่อนที่จะเดินเข้าไปฟังเรื่องราวผจญภัยพร้อม ๆ กัน
ไม่มีอะไรติ มากไปกว่าการให้กำลังใจ ด้วยหมุดหมายปลายทางของนักเขียน ไม่ใช่จะชี้ชะตารุ่งหรือร่วงเพียงผลงานชิ้นแรก แต่ยังต้องอาศัยเวลา ความมุมานะ พยายาม เป็นตัวขับเคลื่อนเชื่อมร้อยความสามารถกันต่อไป
‘อย่าด่าอินเดีย’ จึงเป็นหนังสือดิบเถื่อนที่ควรค่าแก่การครอบครอง แม้ชื่อ ‘อินทรชัย พาณิชกุล’ จะยังไม่โด่งดังที่สุด แต่วันนี้ชื่อของเขาได้ถูกจารึกไว้แล้วว่า เป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่มีรสอักษรไม่เบาทีเดียว .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/