"กฤษฎีกา" ชี้ ออกกฎห้ามไปฮัจญ์ 2 ปีติดกันขัด รธน.
คณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่งมีความเห็นทางกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยที่ห้ามบุคคลซึ่งเคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียมาแล้ว ไม่สามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้อีกในปีถัดไปนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
ประเด็นนี้สืบเนื่องจากกรมการศาสนาได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ วธ 0302/1244 ลงวันที่ 12 มี.ค.2555 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สอบถามกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การลงทะเบียนผู้ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และผู้ให้บริการผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยหลักเกณฑ์ข้อ 4.2 กำหนดว่า "บุคคลที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้ว สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ตามปกติ แต่ต้องเว้นการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยกำหนด"
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยได้เห็นชอบให้กำหนดช่วงเวลาการเว้นการเดินทางไว้ว่า "ผู้ที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์แล้วสามารถลงทะเบียนได้ แต่ต้องเว้นการเดินทางหนึ่งปี โดยเริ่มตั้งแต่เทศกาลฮัจญ์ประจำปี พ.ศ.2555 หรือ ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1433" ส่งผลให้ผู้ที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในเทศกาลฮัจญ์ประจำปี พ.ศ.2554 (ฮ.ศ.1432) ไม่สามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปี พ.ศ.2555 ได้ ยกเว้นผู้ให้บริการผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ (ทีมงานของผู้ประกอบกิจการฮัจญ์) ที่สามารถเดินทางได้ทุกปี
สาเหตุที่ต้องออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็เนื่องมาจากมีผู้ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประเทศซาอุดีอาระเบียได้จำกัดโควตาการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยในปี 2555 ประเทศซาอุดีอาระเบียได้กำหนดจำนวนชาวไทยที่สามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ไว้จำนวน 13,000 คน ทำให้ผู้ที่มีความพร้อมจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากมีโควตาจำกัด
อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2555 มีข้อสังเกตว่าการกำหนดให้ผู้ที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้วต้องงดเว้นการเดินทาง 1 ปี จะเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ จึงได้มอบหมายให้กรมการศาสนา ในฐานะสำนักเลขาธิการของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) สรุปความเห็นเรื่องนี้ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 729/2555 ที่ลงนามโดย นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ได้พิจารณาข้อหารือของกรมการศาสนา โดยมีผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม (กรมการศาสนา) และผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประเทศซาอุดีอาระเบียได้กำหนดจำนวนผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของแต่ละประเทศไว้อย่างจำกัด ไม่เว้นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศอียิปต์ หรือแม้แต่ประเทศซาอุดีอาระเบียเองก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้ว ต้องเว้นการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยบางประเทศกำหนดให้เว้นถึง 5 ปี ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรียืนยันว่าไม่เป็นการขัดต่อหลักการทางศาสนาอิสลามที่กำหนดให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีความพร้อมทางสติปัญญา ร่างกาย และทรัพย์สิน จะต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
การที่ประเทศซาอุดีอาระเบียได้กำหนดจำนวนชาวไทยผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปี 2555 ไว้จำนวน 13,000 คน เป็นเหตุให้ชาวไทยที่จะสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มีจำนวนจำกัด และไม่สามารถเดินทางไปได้ทุกคน คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใดๆ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และเพื่อควบคุมกิจการเกี่ยวกับการรับจัดบริการขนส่งและการจัดบริการอื่นที่เกี่ยวกับกิจการฮัจญ์ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ.2524 จึงย่อมกำหนดหลักเกณฑ์การลงทะเบียนผู้ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และผู้ให้บริการผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ แต่การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นไปในลักษณะที่เป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางไปปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
สำหรับข้อกำหนดของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ในข้อ 4.2 ที่ว่า "บุคคลที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้ว สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ตามปกติ แต่ต้องเว้นการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยกำหนด" โดยคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ผู้ที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีที่แล้ว ต้องเว้นการเดินทางในปีถัดไป 1 ปีนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลให้ผู้ที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้วไม่มีสิทธิที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีถัดไปได้ แม้ว่าจะมีผู้ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ไม่เกินจำนวนโควตาที่ประเทศซาอุดีอาระเบียกำหนดไว้ในปีนั้นๆ ก็ตาม
การกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โดยไม่อาจถือได้ว่าเป็นมาตรการในการขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น จึงเป็นการขัดต่อมาตรา 30 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
อย่างไรก็ดี หากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยประสงค์จะกำหนดมาตรการเพื่อเป็นการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้ที่ไม่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้มีโอกาสเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้โดยทั่วถึง คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยย่อมวางหลักเกณฑ์ให้มีผลว่า ในกรณีที่มีผู้ยื่นความประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เกินจำนวนโควตาที่ได้รับการจัดสรรจากประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ในการประกอบพิธีฮัจญ์ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยจะจัดให้ผู้ที่ยังไม่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มาก่อนมีสิทธิเดินทางไปก่อนได้ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ในทำนองดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หากแต่เป็นมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นตามมาตรา 30 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย