ก่อนดราม่า! ชำแหละที่มาระบบ Rapid Report ใช้งบพัฒนา-เช่าเซิร์ฟเวอร์แล้ว 14.8 ล.
ชำแหละที่มาที่ไประบบ Rapid Report แบ่งเป็น 3 ส่วนการทำสัญญา ระหว่าง สนง.กกต.-สนง.พัฒนารัฐบาลดิจิทัล-เอกชนภายนอก รวมวงเงินกว่า 14.8 ล้านบาท ใช้มาตั้งแต่ออกเสียงประชามติปี’59 ร่วมมือกันพัฒนา-ปรับปรุงระบบ-เช่าเซิร์ฟเวอร์ ในช่วงปี’60-61
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังร้อนแรง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ ที่ยังไม่สามารถตอบข้อชี้แจงได้ในหลายเรื่อง
อย่างไรก็ดีเบื้องต้นสำนักงาน กกต. ชี้แจงว่า ระบบ Rapid Report ที่ใช้รายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น เคยล่มมาแล้ว 3 ครั้ง และวันที่นับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ก็เกิดล่มด้วยเช่นกัน สาเหตุเกิดจากการถูก Hack ระบบ และ Human Error (ความผิดพลาดของคน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปที่มาที่ไปของระบบ Rapid Report ให้ทราบ ดังนี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2558 เป็นต้นมา นายศักดิ์ เสกขุนทด ผอ.สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สมัยเป็นชื่อหน่วยงานเดิม ย่อว่า สรอ.) ได้แถลงข่าวถึงการวางระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยระบุว่า โครงการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ สรอ. รับผิดชอบใน 2 ด้านหลัก คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเครือข่าย (Networking) และระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (Information Security) รวมถึงการสำรองข้อมูล (Data Backup)
โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเครือข่าย หรือ Networking ทันทีที่เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูล ก็จะส่งข้อมูลที่ได้ผ่านแอพพลิเคชันที่กำหนดบนเครือข่ายที่มีเสถียรภาพที่ ทางสรอ.จัดวางระบบเอาไว้ เครือข่ายนี้จะใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตในระดับสูง โดยการจัดการของระบบเครื่องแม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้การรับส่งข้อมูลมีความฉับไว และสามารถแสดงผลได้อย่าง real time
นอกจากนั้นทางสรอ. จะเข้าไปดูแลเรื่องระบบรักษาความมั่งคงปลอดภัยของข้อมูล(Information Security) รวมถึงการสำรองข้อมูล (Data Backup) โดยมีเจ้าหน้าที่วิศวกรระบบผู้เชี่ยวชาญดูแลตรวจสอบการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่มีวันหยุด โดยยังวางระบบการจัดการสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลไว้ให้เฉพาะทาง สตช. และกกต. เท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล แม้กระทั่ง สรอ. ซึ่งเป็นผู้จัดการระบบก็จะไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล และไม่มีสิทธิ์ให้สิทธิ์ผู้ใดในการเข้าถึงข้อมูลด้วยเช่นกัน (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล)
ต่อมา ระบบนี้ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยผ่านความร่วมมือระหว่าง กกต. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือชื่อเดิมคือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยความร่วมมือในครั้งนั้น เป็นการพัฒนาระบบ Rapid Report ที่ใช้ทั้งรายงานประชามติ และเตรียมรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบไม่เป็นทางการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
โดยเมื่อปี 2559 สำนักงาน กกต. ได้ว่าจ้างเอกชนพัฒนาระบบงานตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการเตรียมระบบ ECT Rapid Report (จัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟน เพื่อรายงานผลคะแนนออกเสียงประชามติ) โดยประกาศราคากลางอยู่ที่ 197,950 บาท อ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางจาก 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท พงษ์อุดม อินโนเวชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด บริษัท สยามซอฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท มินพินอินเตอร์แอคชั่น จำกัด อย่างไรก็ดียังตรวจสอบไม่พบผู้ชนะการประกวดราคาในครั้งนี้
หลังจากนั้นเมื่อปี 2560 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เผยแพร่ประกาศราคากลาง โครงการจ้างพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการพัฒนาระบบการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2560 วงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในโครงการนี้อยู่ที่ 3 ล้านบาท และมีการกำหนดราคากลางเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2560 อยู่ที่ 2,867,666 บาท สืบราคาจาก 3 บริษัท ได้แก่ Techex Co., Ltd. Siam Software Solution Co., Ltd. และ Agile Rap Co., Ltd. (ดูเอกสารประกอบ)
ต่อมา บริษัท สยามซอฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวงเงิน 2.7 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560
หลังจากนั้น ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 สำนักงาน กกต. ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายสื่อมวลชน 30 สำนัก ประกอบด้วย สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จำนวน 23 สถานี และ 7 พันธมิตร สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และเคเบิ้ลทีวี ประกอบด้วย ททบ.5, สทท.11, ไทยพีบีเอส, ช่อง 3 แฟมิลี่, ทีเอ็นเอ็น 24, นิวทีวี, สปริงนิวส์, ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี, เนชั่นทีวี, เวิร์คพอยท์, จีเอ็มเอ็ม 25, สปริง 26, ช่อง 8, ช่อง 3 เอสดี, โมโน, อสมท, ช่องวัน, ไทยรัฐทีวี, ช่อง 3 เอชดี, อมรินทร์ทีวี, ช่อง 7 เอชดี, พีพีทีวีเอชดี 36, นสพ.บางกอกโพสต์, กรุงเทพธุรกิจ, เมเนเจอร์ออนไลน์, กระปุกดอทคอม, สนุกดอทคอม, เดอะสแตนดาร์ด, 77 ข่าวเด็ด และเคเบิ้ลทีวี Five Channel จะรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (อย่างไม่เป็นทางการ) ภายหลังการปิดหีบลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงาน กกต.)
โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า สื่อแต่ละสำนักต้องจ่ายเงินหลักแสนบาท เพื่อจะได้ Username และ Password ในการเข้าถึงข้อมูลผลคะแนนดิบการเลือกตั้งในครั้งนี้
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ Rapid Report ต้องแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก สำนักงาน กกต. ว่าจ้างเอกชนด้วยตัวเองปรับปรุงระบบ Rapid Report นั้น เกิดขึ้นในช่วงการจัดทำประชามติเมื่อปี 2559 ราคากลาง 1.97 แสนบาทเศษ ขณะนี้ยังตรวจสอบไม่พบผู้ชนะการประกวดราคา
ส่วนที่สอง สัญญาที่ สำนักงาน กกต. ว่าจ้างสำนักงานพัฒนาระบบดิจิทัล ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการดูแลระบบเซิร์ฟเวอร์ จากการตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า ระหว่างปี 2560-2561 สำนักงาน กกต. ว่าจ้างสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดำเนินการเช่าใช้ระบบสารสนเทศ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง อย่างน้อย 2 ครั้งคือ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 และเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 โดยวงเงินเท่ากันทั้ง 2 ครั้งคือ 5.63 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 11.26 ล้านบาท
นอกจากนี้สำนักงาน กกต.ยังทำสัญญาจ้างบำรุงรักษาโปรแกรมฐานข้อมูลท้องถิ่นและโปรแกรมควบคุมระบบการจัดสรรบัตรเลือกตั้งปี 2561 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 วงเงิน 458,300 บาท และเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 วงเงิน 415,760 บาท รวมเป็นเงิน 874,060 บาท
ส่วนที่สาม สัญญาที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ว่าจ้างเอกชนดำเนินการปรับปรุงระบบ Rapid Report จากการตรวจสอบพบอย่างน้อย 1 สัญญา ได้แก่ โครงการจ้างพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการพัฒนาระบบการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2560 ที่บริษัท สยามซอฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวงเงิน 2.7 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560
หากนับรวมวงเงินที่ใช้ไปเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ Rapid Report และเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ในสัญญาทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว มีมูลค่าอย่างน้อย 14,834,060 บาท
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 สำนักข่าวอิศราติดต่อไปยังนายศักดิ์ เสกขุนทด ในฐานะ ผอ.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตามเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ตามขอสัมภาษณ์ บ.สืบราคา-คู่สัญญาพัฒนาระบบรายงานผลเลือกตั้งปี 60-พนง.ให้รอผู้บริหารแจง
ก่อนระบบล่ม! กกต.ร่วม สนง.พัฒนา รบ. ดิจิทัล ปรับปรุงแอปนับคะแนน-เอกชนได้งาน 2.7 ล.
เจาะระบบแอปนับคะแนนเลือกตั้งปรับปรุง 4 ครั้ง-กก.TOR ปี59 แจงไม่เกี่ยวข้องปัญหาปัจจุบัน
เปิดทีโออาร์ระบบ Rapid Report กกต.ช่วงลงเสียงประชามติ59 ก่อนเลือกตั้งปี 62 เจอปัญหาเพียบ
9 พ.ค.ประกาศผลเลือกตั้งทางการ! กกต. ยันระบบนับคะแนนล่ม เหตุโดนแฮ็ค-คนทำผิดพลาด