การฟ้องกลั่นแกล้งในไทย - ปัญหาที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยุคใหม่ต้องเผชิญ
การฟ้องกลั่นแกล้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ภาคประชาสังคมในเวลานี้ให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเชิงโครงสร้าง คือการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะและมาตรการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ สม 0009/108 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ระบุถึงการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่งว่า “คณะรัฐมนตรีร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และรัฐสภา ควรดำเนินเพื่อให้มีกฎหมายที่มีเนื้อหาในการป้องกันและปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือเพื่อกลั่นแกล้ง เพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน (Anti – SLAPPs Law)”
“สมชาย นีละไพจิตร” “เจริญ วัดอักษร” และ “เด่น คำแหล้” รายชื่อเหล่านี้ คือ หนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกคุกคาม ขู่ฆ่า กระทั่งถูกทำให้สูญหายไป โดยที่ไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ในอดีตเหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นกับบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อประโยชน์สาธารณะกับอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน แต่ปัจจุบันรูปแบบของการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเริ่มเปลี่ยนไปจากการอุ้มหายหรือทำอันตรายแก่ชีวิตเป็นการ “ฟ้องคดี” เพื่อระงับการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะมากขึ้น ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับการถูกฟ้องกลั่นแกล้ง
การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPP) อาจเรียกให้เข้าใจโดยง่ายว่า “การฟ้องกลั่นแกล้ง” หรือ “การฟ้องปิดปาก” เป็นรูปแบบการคุกคามที่เกิดแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่งที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นในสังคมไทย โดยหน่วยงานรัฐหรือทุนมักฟ้องดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อยับยั้งการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การตรวจสอบ หรือการออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการกดดันให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจำต้องระงับการเคลื่อนไหว
ในช่วงหลายปีมานี้ มีตัวอย่างการฟ้องคดีในลักษณะ SLAPP หรือ การฟ้องกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้แก่ คดีเหมืองหินเขาคูหา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และคดีเหมืองทองคำวังสะพุง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดย ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้รับผิดชอบคดีทั้งสองเปิดเผยว่า การแกล้งฟ้องกลับกันไปมามีมากและเป็นเรื่องปกติในคดีทั่วไป แต่สำหรับคดีที่เกี่ยวกับการแกล้งฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คดีเหมืองหินเขาคูหา อาจถือได้ว่าเป็นคดีแรกในไทยที่ชุมชนลุกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน แล้วถูกแกล้งฟ้อง จึงฟ้องกลับ กระทั่งชนะคดี เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อปี 2549 โดยบริษัทผู้ประกอบกิจการเหมืองหินและโรงโม่หินบริเวณเขาคูหา มีการระเบิดหินทุกวัน เป็นเหตุให้บ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนและเศษหินที่ตกใส่บ้าน ทั้งฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากการระเบิดยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทได้ดำเนินการขออนุญาตต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแต่ยังไม่ได้รับอนุญาต จึงนำเหตุจากการทำหนังสือร้องเรียนของชาวบ้านมาฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานหมิ่นประมาท ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสีย และอ้างว่าการร้องเรียนนั้นเป็นเหตุให้บริษัทไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตในการประกอบกิจการ โดยฟ้องชาวบ้านจำนวน 9 คน เป็นเงิน 60 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ชาวบ้านได้ฟ้องแย้งไปในคดีและภายหลังบริษัทได้ถอนฟ้อง ชาวบ้านจึงฟ้องกลับโดยระบุว่าการฟ้องของบริษัทเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากบริษัทรู้อยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหนังสือร้องเรียนเป็นเรื่องจริง ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย แต่เป็นการร้องเรียนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา กระทั่งปี 2557 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้บริษัทชดเชยค่าเสียให้แก่ชาวบ้าน โดยรวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจจากการอยู่อย่างไม่สงบเพราะความหวาดระแวงอันเกิดจากสิ่งของตกหล่นเข้าไปในบ้าน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคหนึ่ง ด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการฟ้องกลั่นแกล้งชุมชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ คดีเหมืองทองคำวังสะพุง คดีนี้เกิดจากการที่ชาวบ้าน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ในหมู่บ้านรอบพื้นที่การทำกิจการเหมืองแร่ทองคำได้รับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการฟื้นฟูแก้ไข จึงได้ร่วมกันจัดทำป้ายและซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านที่มีข้อความเช่นว่า “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” “ปิดเหมืองฟื้นฟู” เพื่อเรียกร้องและแสดงออกว่าต้องการให้มีการฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ เมื่อ ปี 2558 บริษัทผู้ประกอบกิจการจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน 6 คน เป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท โดยระบุว่าการติดป้ายดังกล่าวทำให้บริษัทซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้รับความเสียหาย กระทบต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าการกระทำของชาวบ้านเป็นการใช้สิทธิในการเรียกร้องและแสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ชาวบ้านจึงตัดสินใจฟ้องเรียกค่าเสียหายกลับจากการที่บริษัทมาแกล้งฟ้อง โดยศาลจังหวัดเลยมีคำพิพากษาในคดีที่ชาวบ้านฟ้องกลับ (คดีหมายเลขดำที่ 603/2559) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2561 ว่า
“แม้การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเป็นสิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก็ตาม แต่หากเป็นการใช้สิทธิทางศาลที่มีความมุ่งหมายหรือเจตนาให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายโดยอาศัยศาลเป็นเครื่องมือกำบังแกล้งกล่าวหาบุคคลอื่นอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแล้ว ย่อมเป็นการกระทำละเมิดได้…”
โดยศาลระบุว่า การใช้สิทธิของบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้านทั้ง 6 คน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น อันเป็นการกระทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 241 ประกอบมาตรา 240 ศาลจึงมีคำสั่งให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงและค่าเสียหายจากการเสียสุขภาพจิต รวมทั้งค่าเสียหายจากการต้องเข้าต่อสู้คดี เช่น ค่าขาดรายได้จากการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศาล เป็นจำนวนเงินคนละ 170,000 บาท คดีดังกล่าวจึงนับเป็นอีกความก้าวหน้าที่น่ายินดีในคำพิพากษาของศาลที่มองเห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องกลั่นแกล้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องกลั่นแกล้งจากการเรียกร้องความเป็นธรรมในกิจการ/โครงการพัฒนาของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ และไม่ได้รับการเยียวยาเช่นสองคดีตัวอย่างข้างต้น โดย ส. รัตนมณี ระบุว่า การฟ้องกลับเพื่อที่จะเรียกค่าเสียหายจากการถูกแกล้งฟ้อง ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวบ้านทั่วไป ที่ขาดทุนทรัพย์ ต้องทำมาหากิน และขาดคนให้คำปรึกษา เนื่องจากการฟ้องร้องคดีในศาลต้องใช้ต้นทุนและเวลามาก การฟ้องกลับจากการถูกฟ้องกลั่นแกล้ง แม้จะทำให้ผู้กลั่นแกล้งได้รับบทเรียน แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหารายกรณี และไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาการฟ้องกลั่นแกล้งที่ยั่งยืนถาวร…
กฎหมายกับการป้องกันมิให้แกล้งฟ้อง
การฟ้องกลั่นแกล้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ภาคประชาสังคมในเวลานี้ให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเชิงโครงสร้าง คือการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะและมาตรการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ สม 0009/108 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ระบุถึงการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่งว่า
“คณะรัฐมนตรีร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และรัฐสภา ควรดำเนินเพื่อให้มีกฎหมายที่มีเนื้อหาในการป้องกันและปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือเพื่อกลั่นแกล้ง เพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน (Anti – SLAPPs Law)”
สำหรับแนวทางการป้องกันการฟ้องกลั่นแกล้งในคดีอาญา ที่ผ่านมา มีข้อเสนอจากสำนักงานศาลยุติธรรมให้เเก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาไม่สุจริต โดยกำหนดวิธีการป้องกันการแกล้งฟ้องคดีอาญาไว้ในมาตรา 161/1 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนนัดไต่ส่วนมูลฟ้อง หากความปรากฎต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าผลประโยชน์ที่พึ่งได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก"
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในเวทีการประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2562 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่า ในคดีอาญาที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกแกล้งฟ้องฐานหมิ่นประมาท ยังมีทางออกของกฎหมายที่จะช่วยเหลือได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ซึ่งให้หลักว่า ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หากเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ถือว่าไม่ความผิดฐานหมิ่นประมาท
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/2 ที่แก้ไขใหม่ โดยมีหลักสำคัญที่เปลี่ยนไปคือ จากเดิมในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจะฟังพยานหลักฐานจากฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียว โดยจำเลยไม่สามารถแถลงข้อเท็จจริงและนำพยานหลักฐานขึ้นต่อสู้ได้ ซึ่งเมื่อศาลประทับรับฟ้อง และมีการออกหมายจับ จำเลยจะต้องรอประกันตัวในภายหลัง แต่กฎหมายใหม่แก้ไขมาตราดังกล่าวให้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์และจำเลยสามารถแถลงขอเท็จจริงและยื่นพยานหลักฐานได้เช่นเดียวกัน ตามมาตรานี้ หากเป็นกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท ก็สามารถต่อสู้ได้ตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า ความเห็นหรือข้อมูลที่ได้แสดงต่อสาธารณะเป็นไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามหลักประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และขอให้ศาลยกฟ้องได้ ซึ่งจะเป็นทางออกหนึ่งในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกลไกของกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ส.รัตนมณี มองว่า ข้อเสนอและการแก้ไขกฎหมายอาญาที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการระงับยับยั้งการฟ้องกลั่นแกล้งเมื่อถึงชั้นศาลเท่านั้น แต่ในกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ ได้เข้าการแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งตำรวจจะส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลต่อไปนั้น กฎหมายยังไม่อาจระงับยับยั้งกระบวนการฟ้องกลั่นแกล้งตั้งแต่ชั้นต้นนี้ได้ ทำให้ชาวบ้านที่ถูกฟ้องกลั่นแกล้งในหลายกรณีต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการทำมาหากินเพื่อเดินทางไปรายงานตัวต่ออัยการบ่อยครั้งจนกว่าอัยการจะสั่งฟ้องต่อศาล ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือนหรือบางกรณีนานหลายปี ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขของผู้ถูกฟ้องกลั่นแกล้งทั้งสิ้น ดังนั้น นอกจากการแก้ไขกฎหมายบางมาตราแล้วจึงควรออกกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องกลั่นแกล้ง หรือ Anti – SLAPPs Law เป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีเจตนาไม่สุจริตใช้กระบวนการศาลเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งประชาชน โดยควรจะต้องคุ้มครองและป้องกันการฟ้องกลั่นแกล้งทั้งในทางแพ่งและอาญา ตั้งแต่ชั้นอัยการไปจนถึงชั้นศาล และครอบคลุมหลายรูปแบบวิธีการของการแกล้งฟ้อง เช่น การแกล้งฟ้องฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาในคดีของชาวบ้านเหมืองทองคำวังสะพุง จังหวัดเลย เคยถูกแกล้งฟ้องไกลถึงศาลจังหวัดภูเก็ต และศาลจังหวัดแม่สอด โดยโจทก์อ้างว่าเห็นข้อความ ณ จังหวัดดังกล่าวที่ตนไปยื่นฟ้อง ทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินไปต่อสู้คดีจำนวนมาก
.
ความไม่เป็นธรรมทางสังคมหลายกรณียุติและแก้ไขได้จากความกล้าหาญในการลุกขึ้นมาเรียกร้อง และตรวจสอบ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสาธารณะของบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา นักสื่อสารมวลชน ไปจนถึงนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ การใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้ง สกัดกั้น หรือทำลายบุคคลเหล่านั้นที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประโยชน์สาธารณะของประชาชน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นในสังคมที่ต้องการความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้แล้ว ทุกคนในสังคมจึงไม่ควรไม่นิ่งนอนใจและควรช่วยกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขและป้องกันการฟ้องกลั่นแกล้งได้อย่างถาวร .
----------------------------------------------------------
*หมายเหตุ – บทความนี้เป็นผลงานหนึ่งของผู้เขียนจากเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสื่อมวลชน” ร่วมจัดโดย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประจำปี 2561
ภาพประกอบ – “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” หน้าศาลจังหวัดเลย ที่มาภาพ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
เอกสารอ้างอิง
- ข้อเสนอแนะและมาตรการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ สม 0009/108 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2561
- คำพิพากษาศาลจังหวัดเลย คดีหมายเลขดำที่ 603/2559 คดีเหมืองทองคำจังหวัดเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12668/2557 คดีเหมืองหินเขาคูหา จังหวัดสงขลา
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- ประมวลกฎหมายอาญา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/