บอร์ดค่าจ้างชี้นายจ้าง-ลูกจ้าง 80% อ่วม 300บ. ชง รบ.ตัดสินใจใหม่ก่อนใช้ทั่ว ปท.
ปลัด รง.ชี้นายจ้าง 7 จว.นำร่องกระทบน้อยจากขึ้นค่าแรง 300 บ. ด้านบอร์ดค่าจ้างสรุปเอสเอ็มอีกว่า 80% อ่วม ชง รบ.ตัดสินใจให้ดีก่อนปรับขึ้นทั่ว ปท.1 ม.ค.56 พาลูกจ้าง-นายจ้างไม่รอด
วันที่ 4 ก.ค,55 น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) ได้สรุปผลสำรวจผลกระทบการขึ้นค่าแรง 300 บาท จากสถานประกอบการประเภทเอสเอ็มอี 1,707 แห่งทั่วประเทศเมื่อเดือน มิ.ย. พบว่าได้รับผลกระทบสูงถึง 82.48% โดยประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้น รายได้ลดลง ขายสินค้าได้น้อยลง และไม่สามารถขยายกิจการได้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบมีเพียง 17.52% ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่มีตัวเลขใกล้เคียงกัน
"กรรมการฝ่ายลูกจ้างยอมรับว่าคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้นแต่แย่ลงกว่าเดิม ขณะที่ฝ่ายนายจ้างบอกว่ามาตรการรองรับของรัฐไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา" น.ส.ส่งศรี กล่าว
น.ส.ส่งศรี กล่าวว่าผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่าผู้ประกอบการมีวิธีการลดผลกระทบ เช่น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น 73.93% งดรับลูกจ้างเพิ่ม 39.06% เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา เพิ่มราคาจำหน่ายสินค้า และเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน 14.91% ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคม ลดภาษี เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน สนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556
"ผลสำรวจดังกล่าวอาจกระทบต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 1 ม.ค.56 หากรัฐยังยืนยันตามนโยบายเดิมก็ต้องเร่งหามาตรการรองรับเพิ่มเติม หรืออาจต้องพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นนายจ้างก็อยู่ไม่ไหว อาจทำให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง"
รองปลัด รง.ยังกล่าวว่าหลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างจะจัดทำโครงการสำรวจผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในสถานประกอบการกว่า 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยว่าจ้างสถาบันการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น คาดว่าจะสรุปผลใน 3 เดือนหรือปลาย ต.ค.นี้ บอร์ดค่าจ้างยังจะจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง ส.ค.นี้เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะ จากนั้นจะนำข้อมูลจากการสัมมนาและผลสำรวจมาวิเคราะห์ เสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป
ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิอรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่าการขึ้นค่าจ้าง 300 บาททำให้เอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวได้ จึงเสนอให้มีการศึกษาวิจัยเร่งด่วนภายในปี 2556 ในการใช้แนวทางค่าจ้างแบบลอยตัว
"ถ้ามีการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในจังหวัดเล็กๆ ยิ่งส่งผลกระทบเป็นทวีคูณ ฉะนั้นควรศึกษาแนวทางค่าจ้างแบบลอยตัว โดยขึ้นอยู่กับฝีมือแรงงานและขนาดเศรษฐกิจแต่ละจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญการเมืองต้องหยุดแทรรกแซงบอร์ดค่าจ้าง" นายปัณณพงศ์ กล่าว .
ด้าน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมรองรับการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาททั่วประเทศ 1 ม.ค.56 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา ซึ่งจากการศึกษาค่าจ้างเฉลี่ยที่นำส่งกองทุนประกันสังคม มี.ค.55 เทียบกับ เม.ย.55 ปรากฏว่า 7 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้าง 300 บาทแล้วมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10 % หมายถึงนายจ้างเกือบทุกรายไม่มีผลกระทบจากการปรับค่าจ้างมากนัก ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมติดตามตัวเลขดังกล่าวต่อเนื่อง เพื่อนำมาประมวลวิเคราะห์ผลกระทบได้ในอนาคต
กระทรวงแรงงานได้สรุปข้อหารือที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ เช่น ลดอัตราภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ยกเว้นภาษีส่วนที่ผู้ประกอบการจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง ขยายเวลาการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน และการกำหนดค่าจ้างแรงงานตามกลไกตลาด การพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานและการฝึกอบรมแรงงานฝีมือในสาขาที่ขาดแคลนโดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานไปบูรณาการเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว .