เผยร่าง กม.คุ้มครองสถาบันครอบครัว มีเหตุจำเป็นให้อำนาจ จนท.ออกคำสั่ง ไม่ต้องรอศาล
พม. -ภาคี ถกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสถาบันครอบครัว หลังผ่าน สนช. ประกาศเป็นกฎหมาย ชี้ข้อดีทุกการกระทำรุนแรง หากเข้าข่ายให้เป็นความผิดอาญาทุกเรื่อง ทำควบคู่คุ้มครองสวัสดิภาพ ให้อำนาจ พมจ.ออกคำสั่งห้ามเข้าใกล้ ภายใน 48 ชม. จากเดิมมีสิทธิแค่ประสาน-ส่งต่อ- รับแจ้ง-บันทึกเหตุการณ์
วันที่ 29 มี.ค. 2562 ที่โรงแรมปริ๊นซ์ตัน ปาร์ค สวีท กรุงเทพฯ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีวิชาการเครือข่ายวิชาการครอบครัวศึกษา ครั้งที่ 1 “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ... ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่านให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งฉบับเดิมนั้นยังไม่บรรลุเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้และการตีความกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. จึงมุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง โดยเน้นการดำเนินคดี
“เรายกเลิก พ.ร.บ.เก่า เพื่อยกเลิกฐานความผิดทางอาญา ซึ่งต่อไปกรณีมีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว หากเข้าข่ายกระทำความผิดทางอาญาจะเป็นเรื่องอาญาทุกเรื่อง โดยทำควบคู่ไปกับการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจสั่งคุ้มครอง นำไปปรับพฤติกรรมของผู้กระทำ ในส่วนได้กระทำตามบริบทต่าง ๆ เช่น ผู้ติดสุราไปกระทำ จะถูกนำไปบำบัด เพื่อให้สามารถกลับสู่ครอบครัวได้”
อธิบดีกรมกิจการสตรีฯ กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ. ยังมุ่งเน้นการเข้าถึงพัฒนาครอบครัว การให้ความเข้มแข็ง ความรู้การสร้างครอบครัว การสมรส การมีบุตร สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และเน้นการคุ้มครองสวัสดิภาพด้วย ผู้ถูกกระทำจะได้รับการดูแล ได้รับสิทธิต่าง ๆ ในการเข้าไปบำบัดเยียวยา และปรับพฤติกรรมของผู้กระทำ
“กฎหมายอาญาสามารถดำเนินการได้ควบคู่ ทั้งอาญา คุ้มครอง และปรับพฤติกรรม และ 2 ศาล ควบคู่กันไป คือ ศาลอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าในกรณีที่มีการปรับพฤติกรรมแล้วดีขึ้น สามารถนำมาลดโทษในคดีอาญาได้ แต่หากไม่ดีขึ้น จะถูกลงโทษตามคดีอาญา ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มี” นายเลิศปัญญา กล่าว และว่า การเข้าไปดูแลผู้ถูกกระทำซ้ำ จนกระทั่งกระทบกระเทือนร่างกาย และจิตใจ ศาลสามารถพิสูจน์และนำไปลดโทษให้ลดน้อยลงได้ จะช่วยคุ้มครองผู้ถูกกระทำที่กลายเป็นผู้กระทำเอง
อธิบดีกรมกิจการสตรีฯ กล่าวอีกว่า กฎหมายยังให้อำนาจขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย นายทะเบียนต่าง ๆ ในการจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า ต้องให้ความรู้ทุกเรื่อง เช่น การหย่า ต้องให้ความรู้ว่า การมีบุตรหรือสิทธิของบุตรกระทำกระเทือนมากเพียงใด ฉะนั้น เราทำงานภายใน 3 กลไก คือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น กฎหมายใหม่จึงคุ้มครองทั้ ส่งเสริมพัฒนา และดูแลสวัสดิภาพทั้งหมด ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำให้เกิดความเป็นธรรม
“เราต้องดูแลผู้ถูกกระทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่การทำงานนั้น เมื่อมีกลไกเข้ามาในระดับทำงานอาจยากเล็กน้อย วิธีการจึงต้องบูรณาการอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ ต้องมีการระดมทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ ศาล ขับเคลื่อไปพร้อมกันอย่างใกล้ชิด” นายเลิศปัญญา ระบุ
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เพียงการประสาน ส่งต่อ รับแจ้ง และบันทึกเหตุการณ์ แต่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หรือผู้ในกฎหมายระบุไว้ หากเป็นเหตุจำเป็น ไม่สามารถรอศาลได้ เช่น มีเลือดตกยางออก ผู้กระทำตามเข้ามาด้วย หัวหน้าฯ สามารถออกคำสั่งภายใน 48 ชั่วโมง ได้ทันที สั่งห้ามเข้าใกล้ หรือมีอาการมึนเมา สั่งเข้ารับการบำบัดได้ หากไม่ปฏิบัติมีโทษ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/