เปิดไม้ตายสุดท้าย‘บิ๊กตู่’อยู่ต่อ ปิดฉากพรรคการเมือง‘ดื้อ’ตั้ง รบ.ไม่ลงตัว?
“…การเลือกตั้งเป็นเพียงรูระบายเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือ ร่างขึ้นเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ เพราะถ้าเกิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หมดวาระลง ต้องมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาทำหน้าที่ควบคุม การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประเด็นสำคัญคือ ถ้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ตามไปเรื่อย ๆ และไม่ใช่รัฐบาลรักษาการณ์ แต่มีอำนาจเต็ม สามารถใช้มาตรา 44 ได้ เป็นไปตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 และ 265…”
ฝุ่นยังคงฟุ้งตลบ
สำหรับศึกแย่งชิงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ระหว่างฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ‘ประชาธิปไตย’ นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และเครือข่าย ที่อ้างจำนวน ส.ส. ข้างมาก กับอีกฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่อ้างคะแนนเสียงมหาชน ‘ป๊อปปูล่าร์โหวต’ สูงสุด
ตัวแปรสำคัญยังมีอีกหลายพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ยังคงไม่ประกาศ ‘จุดยืน’ ลงเล่นการเมืองว่าจะล่มหัวจมท้ายกับฝ่ายไหน ?
หากมีการ ‘ดีล’ สำเร็จ วางแผนจัดตั้งรัฐบาลได้ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ คือในวันที่ 9 พ.ค. 2562 ก็คงจะดี โร้ดแม็ปจะได้เดินไปต่อ เนื่องจากเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปแล้ว จะต้องเปิดประชุมสภาภายใน 15 วัน เพื่อทำการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
แต่ถ้าเกิด ‘เดดล็อค’ ทางการเมือง ไม่สามารถดีลสารพัดขั้วให้จับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ คราวนี้อาจเกิดปัญหาขึ้น ?
‘เนติบริกร’ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายสำนักระบุว่า หากพรรคการเมืองยังรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ จะต้องอยู่ต่อไป โดยไม่ใช่รัฐบาลรักษาการตามปกติ แต่อยู่ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อใด เพราะไม่มีกรอบกำหนด (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
นั่นหมายความหลังจากนี้ หากพรรคการเมือง ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ยังไม่สามารถรวม ส.ส.ข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลได้ จะทำให้คณะรัฐมนตรีชุดที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนดนั่นเอง
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
ส่วนมาตรา 265 ระบุว่า ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
มาตรา 264 และ 265 ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังกล่าว สรุปให้เข้าใจง่ายคือ คณะรัฐมนมตรี พล.อ.ประยุทธ์ ชุดนี้ รวมถึง คสช. ทั้งคณะ จะต้องอยู่ต่อไป จนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นอกจากนี้ในส่วนของ คสช. ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกประการ นั่นหมายความว่าสามารถใช้มาตรา 44 ดำเนินการในเรื่องใด ๆ ก็ได้
ทีนี้เงื่อนปมปัญหาอยู่ที่ หาก กกต. รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะต้องมีการเปิดประชุมสภาภายใน 15 วัน ถ้าพรรคการเมืองยังจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เข้าทำหน้าที่ในสภา ขณะที่ฝ่ายบริหารยังคงเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ จะทำงานกันอย่างไร ?
อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รายหนึ่ง ยอมรับกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบมาเพื่อให้ ‘บิ๊กตู่’ ได้อยู่ต่อ ถ้าเกิดฝ่ายการเมืองดื้อดึง
กรธ.รายนี้ ระบุว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงรูระบายเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างขึ้นเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ เพราะถ้าเกิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หมดวาระลง ต้องมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาทำหน้าที่ควบคุม การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ประเด็นสำคัญคือ ถ้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไปเรื่อย ๆ และไม่ใช่รัฐบาลรักษาการณ์ แต่มีอำนาจเต็ม สามารถใช้มาตรา 44 ได้ เป็นไปตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 และ 265
กรธ.รายนี้ วิเคราะห์ว่า หากเป็นเช่นนี้จะเกิดประเด็นใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 นั่นคือมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่รัฐบาลเป็นชุดเก่า จะบริหารประเทศกันอย่างไร ?
แม้ว่ารัฐบาลชุดเก่า อาจเสนอกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ได้ ส่วนจะผ่านหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่สาระสำคัญคือ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ต้องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดเก่า จะสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำไปแล้ว จะมีผลทางกฎหมายคือ รัฐมนตรีคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องพ้นจากเก้าอี้หรือไม่ ตรงนี้เป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนไว้ และที่มาของคณะรัฐมนตรีเป็นคนละชุดกัน
นี่คือ ‘ไม้ตาย’ ของ ‘บิ๊กตู่’ ไว้แก้ทางพวก ‘ดื้อดึง’ เพราะถ้าไม่ยอม คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็จะทำหน้าที่ต่อไปเรื่อย ๆ และจะนำพาประเทศไปในทิศทางใด ยังไม่มีใครรู้ได้ ?
ดังนั้นวิธีแก้ไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้คือ พรรคการเมืองจำเป็นต้องหาช่องทาง ‘ดีล’ จัดตั้งรัฐบาลกันให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปตามกลไกในรัฐธรรมนูญปี 2560
แต่ท้ายที่สุด ถ้าพรรคการเมืองสามารถหาช่องทาง ‘ดีล’ กันได้ลงตัว ‘ไม้ตาย’ ชิ้นนี้คงไม่ได้ใช้ และบริหารบ้านเมืองกันไปได้ตามปกติ
ส่วนจะ ‘ดีล’ กันลงตัวเมื่อไหร่ คงต้องลุ้นฉากต่อไปอย่ากระพริบตา!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ย้อนเส้นทาง 'มิ่งขวัญ' มิตรเก่า 'ทักษิณ' ผู้รับปากจัดตั้งรบ.กลุ่มเพื่อไทย แบบมีเงื่อนไข?
เบื้องลึก! ปัจจัยหลักอนาคตใหม่คะแนนทะลุเป้า ผลัก‘ธนาธร’เล่นบทผู้นำฝ่ายค้านในสภา?
ปรากฎการณ์เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 'พปชร.-อนาคตใหม่' แจ้งเกิด-ปชป.พ่าย 'อภิสิทธิ์' ลาออก