จดหมายเปิดผนึก พีเน็ต ทบทวนคำวินิจฉัยกกต.ไม่นำบัตรนิวซีแลนด์มานับเป็นคะแนน
"...ขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หากคณะกรรมการการเลือกตั้งทบทวนนำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของชาวไทยในนิวซีแลนด์มานับย่อมเป็นคุณแก่ทุกฝ่าย โดยเป็นกรณีที่พึงบังคับใช้กฎหมายให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกรอนสิทธิ ซึ่งไม่ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป โดยเฉพาะสอดคล้องกับกฎหมายมหาชนที่มุ่งให้รัฐต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่กระทบต่อสิทธิของบุคคล..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2562 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ได้ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่องขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์มานับเป็นคะแนน
ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ว่า บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ส่งมาจากกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งตามกำหนดต้องมาถึงประเทศไทยวันที่ 19 มีนาคม 2562 แต่กลับล่าช้ามาถึงประเทศไทยเมื่อเวลา 20.50 น. ของวันที่ 23 มีนาคม 2562 หลังจากนั้นมีการนำส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในช่วงค่ำของวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหล่านั้นซึ่งมีจำนวน 1,542 ใบ มานับเป็นคะแนน โดยอ้างมาตรา 114 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ซึ่งได้สังเกตการณ์และตรวจสอบการเลือกตั้งมาตั้งแต่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเปิดรับสมัครผู้สมัคร การลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า การปราศรัยหาเสียง การลงคะแนนในวันเลือกตั้ง และการนับคะแนน มาอย่างต่อเนื่อง ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อกรณีการพิจารณาไม่นับบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยในประเทศนิวซีแลนด์ มิได้มีสิ่งใดบ่งชี้ว่ามิได้เป็นไปโดยสุจริต การนำส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากต้นทางมาถึงประเทศไทยล่าช้าไม่ทันการนับคะแนน ไม่น่าจะเป็นเหตุอ้างได้ว่าไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมจนทำให้บัตรเหล่านั้นกลายเป็นบัตรเสีย ดังอ้างตามมาตรา 114 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
2. สิทธิเลือกตั้งเป็นอำนาจโดยตรงของประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศและนิติบัญญัติ การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรยังมีต้นทุนสูง ทั้งในส่วนของผู้มาใช้สิทธิ์และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้รับผิดชอบจึงต้องระมัดระวังมิให้เกิดความผิดพลาดทุกขั้นตอน การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยโดยใช้ข้อกฎหมายอย่างรวบรัด โดยไม่คำนึงถึงสิทธิ และการทำหน้าที่พลเมืองของประชาชน ย่อมมิใช่วิสัยวิญญูชนที่ต้องมีความเคารพสิทธิของผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าสิทธิของตนเอง และทำให้สังคมขาดความไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการจะจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วง สุจริตและเที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
3. ขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หากคณะกรรมการการเลือกตั้งทบทวนนำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของชาวไทยในนิวซีแลนด์มานับย่อมเป็นคุณแก่ทุกฝ่าย โดยเป็นกรณีที่พึงบังคับใช้กฎหมายให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกรอนสิทธิ ซึ่งไม่ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป โดยเฉพาะสอดคล้องกับกฎหมายมหาชนที่มุ่งให้รัฐต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่กระทบต่อสิทธิของบุคคล
4. รัฐธรรมนูญฯ 256๐ มาตรา 224 วงเล็บ (3) ประกอบกับมาตรา 225 ให้อำนาจ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีที่พบว่า การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของนิวซีแลนด์นี้น่าจะเข้าข่ายการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ทำให้ผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 1,542 คนต้องเสียสิทธิ์ในการนำผลคะแนนไปคำนวณประกอบการได้มาซึ่ง ส.ส.
5. หากพิจารณาที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 บัญญัติว่า “องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (ว.1) การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญและปราศจากอคติ ทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ (ว. 2) คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับการสรรหามาอย่างยากเย็น คือ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้ง ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และเคยดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการ มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี” ย่อมจะต้องมีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจให้เกิดประโยชน์สูงสุดดังที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ นั่นคือ “การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังที่ได้ยกมาเป็นเหตุผลสนับสนุน เพื่อให้สิทธิเลือกตั้งของชาวไทยในนิวซีแลนด์ได้รับการคุ้มครอง และเพื่อผดุงไว้ซึ่งความสุจริตและเที่ยงธรรมขององค์กรอิสระโดยรวม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/