ผู้บริโภคชี้แผนยกเลิกแร่ใยหินภายใน 5 ปีนานเกิน หวั่นคนไทยเสี่ยงมะเร็งเพิ่ม
ผู้บริโภคหวั่นแผนยกเลิกแร่ใยหิน 5 ปีเอื้อชะลอธุรกิจกระทบสุขภาพ นักวิชาการเผยงานวิจัยสำเร็จได้ขึ้นกับนโยบายรัฐ “กระเบื้องโอฬาร” โปรยยาหอมอีก 2 ปี ไทยผงาดส่งออกสินค้าแร่ใยหิน แนะผลวิจัยต่างชาติใช้กับไทยไม่ได้
วันที่ 4 ก.ค. 55 กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นโครงการจัดทำร่างแผนการยกเลิกนำเข้าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
จากกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อ 12 เม.ย.54 เห็นชอบในหลักการที่ต้องการให้ประเทศไทยไร้แร่ใยหิน และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับดำเนินการตามอำนาจที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย โดยเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแนวทางที่ 2 ที่ห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ และห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ดังกล่าวด้วยโดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำแผนดำเนินการ ซึ่งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นคณะวิจัย เพื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
รศ.จรินทร์ เทศวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า โลกเริ่มต้นนำแร่ใยหินไครโซไทล์มาใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เพราะเป็นแร่ธรรมชาติที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้ผลิตภัณฑ์ได้ดี แต่มีข้อเสียทำให้โดยเฉพาะต่อคนที่ได้รับการสูดดมฝุ่นของแร่ใยหิน เมื่อสะสมในร่างกายนาน 15-30 ปี จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งอเมริกาเคยใช้เฉลี่ยถึง 4 กก./คน/ปี อังกฤษ 3 กก./คน/ปี แต่เมื่อพบว่าเป็นสาเหตุให้คนเกิดโรคมะเร็ง จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายห้ามใช้ ทำให้ขณะนี้ประเทศแถบยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ลดการใช้แร่ลงเหลือเพียง 0.1 กก./คน/ปี
ส่วนประเทศในเอเชียอย่างจีนยังมีการใช้มากที่สุดถึง 626,000 ตัน/ปี ไทยใช้แร่ใยหิน 86,900 ตัน/ปี คิดเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่ง 90% ใช้ในอุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังคาและท่อระบายน้ำ แต่หากไทยมีการออกกฎห้ามนำเข้าและใช้ก็สามารถนำใยสังเคราะห์ทดแทนได้ เช่น ใยแก้ว ใยคาร์บอด ใยอะรามิด รวมถึงเยื่อกระดาษ
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า การวิจัยแผนเพื่อลด ละ เลิกการใช้แร่ใยหินและพัฒนาวัสดุทดแทนนั้น ทีมวิจัยได้นำผลิตภัณฑ์แร่ใยหินที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากที่สุด 5 ตัวอย่างมาศึกษา ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ผ้าเบรกหรือคลัช กระเบื้องปูพื้นและท่อน้ำ โดยการยกเลิกจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดทุกภาคส่วน ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการที่อาจปรับตัวไม่ทันและต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องมือที่ใช้วัตถุดิบกลุ่มใหม่ 2.แรงงานประมาณ 2 พันคนจะต้องว่างงานเมื่อบริษัทปิดชั่วคราวหรือยกเลิกกิจการ 3.ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นเมื่อผู้ประกอบการปรับราคาตามต้นทุน และต้องพบผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพ 4.รัฐบาลจะต้องอุดหนุนเงินมหาศาลแก่ผู้ประกอบการ จึงต้องกำหนดระยะเวลาการยกเลิกภายใน 5 ปี เพื่อให้ทุกฝ่ายปรับตัวทัน
“การวิจัยพัฒนาใยสังเคราะห์ทดแทนแร่ใยหินและระงับการนำเข้าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้การควบคุมของรัฐจริงจัง แต่หากไม่ประสบความสำเร็จอาจต้องขยายเวลาต่อไป” รศ.จรินทร์กล่าว
ด้านนายอุฬาร เกรียวสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทกระเบื้องโอฬาร หนึ่งในบริษัทนำเข้าและผลิตสินค้าจากแร่ใยหิน กล่าวว่า คณะวิจัยควรศึกษาผลกระทบที่จะมีต่อทุกฝ่ายให้ครอบคลุม เพราะหวั่นว่าหากมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินโดยหันมาใช้ใยสังเคราะห์แทนนั้น อนาคตนอกเหนือจากผู้ประกอบการจะไม่มีเงินทุนเปลี่ยนอุปกรณ์การผลิตแล้ว ผู้บริโภคจะต้องแบกรับภาระค่าผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นและมาตรฐานสินค้าที่ต่ำลง อย่าลืมว่าอีก 2 ปีข้างหน้าไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากส่งเสริมให้มีการใช้แร่ใยหินซึ่งมีความแข็งแกร่งกว่าวัตถุดิบชนิดอื่นจะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ และสามารถเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกในอาเซียนและจีนได้ ทั้งนี้เห็นว่าการนำสถิติคนเป็นโรคมะเร็งจากต่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดการใช้แร่ใยหินในไทยไม่เหมาะ เพราะมีบริบทแตกต่างกัน แต่หากจะยกเลิกจริงต้องนำสถิติในเมืองไทยมาประกอบการวิจัย
ขณะที่นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค วิพากษ์วิจารณ์งานวิจัยร่างแผนการยกเลิกฯ ดังกล่าวว่ามีจุดบกพร่องหลายด้าน ได้แก่ การขาดการติดตามข้อมูลการลักลอบนำเข้าแร่ใยหินภายหลังมติคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ และขาดการวิเคราะห์ผลกระทบของบริษัทที่เลิกใช้และบริษัทที่ยังใช้แร่ใยหินในการผลิตผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังหวั่นว่าหากมีการยืดเวลาออกไปอีก 5 ปีจะเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจใช้เทคนิคการวิจัยชะลอคำสั่งยกเลิกและขยายเวลาการวิจัยออกไปมากกว่าสุขภาพที่เป็นบริบทสำคัญ ทำให้มีผู้ป่วยจากการทำงานและใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น มิเช่นนั้นคณะวิจัยคงไม่แสดงความไม่มั่นใจต่อผลงานเด็ดขาด
ส่วนกรณีอ้างว่าการยกเลิกแร่ใยหินจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของชาติ ตนเห็นว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะแร่ชนิดดังกล่าวถูกประเทศกว่า 50 ชาติยกเลิกแล้ว ไทยจึงควรเดินรอยตามเพราะต่างชาติมีข้อมูลวิจัยที่ต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขไทยเคยมีการประกาศแผนงานเมื่อ 5 ปีผ่านมาในการยุตินำเข้าและใช้แร่ใยหิน ดังนั้นหากมีการยืดเวลาออกไปจะเกิดความไม่เป็นธรรมกับบริษัทที่ยกเลิกก่อนด้วย.