ฟังมุมมอง 'อดีต กรธ..' ถอนถอน กกต.กรณีข้อครหาจัดเลือกตั้ง 24 มี.ค. ทำได้หรือไม่?
"..เกี่ยวกับประเด็นนี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นน่าจะมีความครอบคลุมในการตรวจสอบ ทั้งในประเด็นว่าจะให้ กกต.ปรับแก้หลักการให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย การส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาอีกทีหนึ่งถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินพบประเด็นทุจริต.."
จากประเด็นข้อครหาการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา จนทำให้ในขณะนี้มีผู้เข้าชื่อยื่นให้ถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวนมากกว่า 7 แสนคนแล้ว
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranwes.org ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการถอดถอน กกต.ทั้ง 7 รายดัง จึงนำมาเสนอเพื่อให้สาธารณชนมีมุมมองทางด้านกฎหมายต่อกรณีนี้มากขึ้น
"ขอพูดตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก่อนว่ามาตรา 235 ในหมวดว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีถ้อยคำเรื่องการถอดถอนองค์กรอิสระอยู่ โดยถ้าหากสงสัยว่ากรรมการองค์กรอิสระทำในสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง ทำไม่ถูก ไม่มีจริยธรรม จรรยาบรรณในการทำหน้าที่ ก็สามารถยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ได้เลย ซึ่งเขาจะไต่สวนได้เลย ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะดูเรื่องจริยธรรมองค์กรอิสระ ข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ พอมีมูลเรื่องประเด็นกระทำผิดจริยธรรมก็จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ถ้าเป็นประเด็นทุจริตจะต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"
ส่วนประเด็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยขาดประสิทธิภาพจนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมานั้น นายชาติชายกล่าวว่า "ตรงนี้ยังหมิ่นเหม่ยังไม่เข้าข่ายว่า กกต.ทำงานโดยขาดจริยธรรมหรือไม่"
"จากการปฏิบัติหน้าที่ ของ กกต.ที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุทำให้ประชาชนสงสัยได้ว่าทำไม กกต.ทำงานไม่เต็มสูบ ทำงานเลินเล่อ ถ้าสงสัยในประเด็นนี้ ประชาชนก็สามารถจะไปยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้คลายสงสัยได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องมีหลักฐานชัดเจนด้วยว่า กกต.มีเจตนาอย่างชัดเจน และ ป.ป.ช.เองก็ต้องมีหลักเกณฑ์ด้วยว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นความเลินเล่อจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ"
นายชาติชาย ยังกล่าวต่อไปว่า แต่ก็มีอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำเรื่องไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน ก็คือการใช้ช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งประชาชนสามารถนำประเด็นเรื่องการกระทำของ กกต.ซึ่งต้องสงสัยว่าจะเกิดความเสียหาย ไปร้องที่ให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาได้เช่นกัน แต่แม้ว่าจะยังไม่มีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ถ้าหากมีเกิดความเสียหายหรือเกิดเรื่องที่ไม่ดีไม่งามขึ้นแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเข้ามาตรวจสอบได้เลยเช่นกัน ซึ่งนี่แตกต่างจาก ป.ป.ช.ที่ต้องรอให้มีคนมาร้อง หรือจะมองให้เป็นประเด็นทุจริตก่อน จึงจะเข้าไปตรวจสอบได้"
"เกี่ยวกับประเด็นนี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นน่าจะมีความครอบคลุมในการตรวจสอบ ทั้งในประเด็นว่าจะให้ กกต.ปรับแก้หลักการให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย การส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาอีกทีหนึ่งถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินพบประเด็นทุจริต "
" สรุปก็คือในประเด็น กกต.นั้นประชาชนสามารถไปร้องได้ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และร้องได้กับทั้ง ป.ป.ช. โดยจะไปเป็นแสน เป็นล้านคน หรือไปแค่คนเดียวก็ยังได้"
นายชาติชายยังกล่าวด้วยว่า "แต่ถ้าหากมองไกลไปอีกว่าในอนาคตมีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความเหมาะสมของการเลือกตั้งในครั้งนี้ แล้วท้ายที่สุดการเลือกตั้งมันเป็นโมฆะ เมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่ต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ กกต.กับหน่วยงานต่างๆแล้ว เพราะคงเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการนำสืบได้เลยว่า มันเป็นโมฆะเพราะคณะบุคคลใดกันแน่ แล้วจะดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป"
"ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นไม่ได้ต้องการจะมาซ้ำเติม กกต.แต่อย่างใด แค่จะพูดถึงช่องทางที่ประชาชนสามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/