“ธีรยุทธ บุญมี” : ปัญหาคนชายขอบ ต้องลดอคติชนชั้น-กระจายจากศูนย์กลาง
ศ.ธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ปาฐกถา “ประชากรชายขอบกับความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” ในการประชุม “ประชากรและสังคม” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล….
คนชายขอบกับความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยเป็นปัญหาใหญ่มากว่า 10 ปี สังคมไทยแบ่งระบบการปกครองเป็นหน่วยย่อยทำหน้าที่แตกต่างกันและนับถือระบบชนชั้นมาก แต่ยุคสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการยอมรับความแตกต่างทางชนชั้นและพยายามกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพื่อลดช่องว่าง จนมีวาทกรรมสังคม “ลดช่องว่าง” และในมุมกระแสทางเลือกจะเน้นอัตลักษณ์ทางสังคมเป็นบริบทขับเคลื่อนประเทศ
เมื่อมองเชิงวิชาการ จะเห็นว่าช่วง ค.ศ. 1940-1950 สังคมเริ่มมองเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ โดยยึดหลักความเชื่อความคิดและวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆ ขับเคลื่อนจนเกิดความเข้าใจในอัตลักษณ์และเริ่มมีทิศทางที่ดี แต่เมื่อโลกเริ่มเข้าสู่สังคมโลกาภิวัตน์ องค์ความรู้เดิมเริ่มเสื่อมถอย คนยุคนี้เริ่มปรากฎมุมมองใหม่ๆ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเกิดขึ้น จนลุกลามถึงปัจจุบัน
มุมมองคนชายขอบครอบคลุมตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพทางพรมแดน บ้านเมือง และร่างกาย แม้กระทั่งการสักตัวก็สามารถนำมาศึกษาเรื่องชายขอบเกี่ยวกับร่างกายภายนอกได้
ในสังคมหนึ่งเราสร้างความคิดบางอย่างครอบลงไปกับพื้นฐานความจริง ซึ่งเป็นความรู้ด้านมานุษยวิทยาที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตามการที่เรามีนิสัย มีธรรมชาติ มองทุกสิ่งเป็นหน่วยซึ่งต้องมีขนาดและขอบเขต เมื่อมีขอบเขตก็ทำให้เกิดชายขอบ สิ่งไหนอยู่ใกล้ศูนย์กลางก็เป็นศูนย์กลาง สิ่งไหนอยู่ใกล้ชายขอบก็เป็นชายขอบ ในเชิงจินตภาพต้องมีศูนย์กลาง และมีขอบมีศูนย์กลาง
ในเชิงมานุษยวิทยา มนุษย์มักมีอคติ ภาวะที่เรามองเห็นต่อการรับรู้ไม่เท่ากัน เช่น ห้องสี่เหลี่ยมหนึ่งห้องจะต้องมีขอบเขตและศูนย์กลาง โดยคนส่วนใหญ่มักมีอคติกับสภาวะนอกขอบว่าอันตรายและไม่รับรู้ปัญหานอกห้อง เมื่อเกิดการก่อจลาจลขึ้นรอบๆห้อง คนจะรู้สึกทันทีว่าภายในห้องเป็นมิตรปลอดภัย แต่พื้นที่นอกห้องอันตราย นั่นคือความไม่แน่นอนพื้นที่ภายนอก คำว่าชายขอบยังทำให้เรากลัวคนเชื้อสายที่แตกต่าง เช่น แขกขายถั่ว จนนำมาเป็นวาทกรรมหลอกเด็กในสมัยหนึ่งว่าหากดื้อเดี๋ยวให้แขกมาจับกิน
คำว่าชายขอบมีความไม่แน่นอนระหว่างภายในกับภายนอก ระหว่างเขากับเรา เช่น เรามักคิดว่าชาวเขาไม่เป็นพวกเดียวกับเรา และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นอคติว่าถ้าผิดไปจากที่เราเห็นหรือคุ้นเคย เรามักไม่ชอบ เพราะไม่เข้าข่ายระเบียบที่บัญญัติไว้ ภาวะดังกล่าวทั้งหมดถูกมองเป็นภาวะพิเศษ บางครั้งเรายกให้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้น นำมาซึ่งโชคหรืออันตรายร้ายแรงเป็นมลทิน อุบาท อัปมงคล
มีคนชายขอบมากมายในทุกสังคม นักวิชาการไทยมีความสุภาพมากเรียกคนชายขอบว่าพวกอื่น ผิดกับคนไทยสมัยโบราณที่มองอะไรเป็นอื่นจะเรียกเดียรัจฉานเพื่อใส่ภาพพจน์ที่ตรงข้ามชัดเจน ส่วนความหมายเดียวกันในสายตาฝรั่งอาจไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก เพราะพวกอื่นในทัศนะของต่างชาติมองว่าน่ากลัว โดยกลุ่มจิตวิทยามองว่าพวกอื่นเกิดในช่วงยุคการก่อตัวของมนุษย์ ยังไงก็ต้องมีสิ่งแปลกปลอมอยู่
“ลดความสำคัญระบบศูนย์กลาง” ใช้วัฒนธรรมเสรีขับเคลื่อนชาติ
เราให้ความสำคัญเรื่องขอบเขตซึ่งเป็นศูนย์กลางทางโครงสร้างมากเกินไป ทำให้ประเทศเกิดปัญหาได้ เช่น ปัญหาพรมแดน หากเราให้คนในประเทศศรัทธาชาตินิยมมาก โดยปลุกระดมไม่ให้เสียดินแดนแม้แต่หนึ่งตารางนิ้ว โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วการเสียดินแดนหมายถึงอะไร ทั้งๆที่จริงแล้วการเกิดยุคสมัยโลกาภิวัฒน์ที่เสรีทางการค้าทำให้เส้นขอบพรมแดนถูกทำลายไปเรื่อย ๆ แต่เรามองไม่เห็นไม่เข้าใจ และสนับสนุน กลับสนับสนุนทุ่มเทความรู้สึกนึกคิดและยึดติด
ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชากรชายขอบในสังคมไทย เกิดจากการวางระบบที่ยึดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวถูกแบ่งแยกจากคนส่วนใหญ่ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ เพศทางเลือก จึงควรแก้ไขโดยรื้อระบบปัจจุบันทิ้งเสีย
การขับเคลื่อนประเทศแบบศูนย์กลางจนส่งผลเกิดความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเขียนประวัติศาสตร์ไทยที่โน้มเอียงเข้าสู่ศูนย์กลางนิยม โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ เน้นพระราชกรณียกิจเป็นสำคัญ ละเลยส่วนอื่นๆของสังคม คนกลุ่มน้อย ภาคส่วนต่างๆ พอเราเน้นสถาบันเราก็จะเน้นเมืองหลวง ไทยจึงไม่มีประวัติศาสตร์สังคม กลุ่มคนอื่นอย่างพระ นักคิด นักจิตวิทยา นักประวัติศาสตร์ ปราชญ์ชาวบ้านจึงถูกลืมและทำให้การกระจายตัวของทรัพยากรระดับภูมิภาคไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย
นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากคนไทยไม่ยอมรับและเคารพความแตกต่างในวิถีชีวิต วัฒนธรรมของมุสลิม เพราะใส่ใจเพียงภาพรวมของประเทศซึ่งยึดศูนย์กลางเป็นหลัก โดยลืมท้องถิ่น จึงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการส่งเสริมความรักชาติเหมือนที่หลายฝ่ายกระทำอยู่จะไม่เป็นผล เพราะขณะนี้มีความขลังน้อยลง เนื่องจากถูกแทรกแซงจากระบบโลกาภิวัตน์ที่มีข้อมูลข่าวสารเป็นสื่อ ซึ่งต่างจากอดีตที่ข้อมูลข่าวสารเคลื่อนตามชนชั้น โดยหากยังคิดเหมือนอดีตปัญหาคนชายขอบก็จะไม่คลี่คลาย
ดังนั้นปัญหาคนชายขอบในสังคมไทย ควรได้รับการแก้ไขโดยใช้วัฒนธรรมเสรีนิยม ส่งเสริมให้คนในชาติรู้จักอดทน อดกลั้น และเคารพความต่างซึ่งกันและกัน