บริษัทบริหารสินทรัพย์
“บริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน ทำหน้าที่รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาบริหารจัดการและจำหน่ายต่อไป เพื่อให้สถาบันการเงินทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ที่มา : https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutionsDevelopmentFund
บริษัทบริหารสินทรัพย์ในประเทศไทยเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินปี 2540 เพื่อทำหน้าที่รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน ให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจหลักของตนเอง ในช่วงเริ่มต้นบริษัทบริหารสินทรัพย์จะอยู่ในกลุ่มภาครัฐและธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ก่อนที่จะมีบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในระยะหลัง โดยปัจจัยสำเร็จของธุรกิจนี้ คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่รองรับการซื้อหนี้ รวมถึงประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจบริหารหนี้
บทนำ
ภายหลังประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพในสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมากจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในด้านการให้สินเชื่อและบริหารสินทรัพย์ที่ยังมีคุณภาพดีอยู่เพื่อประคับประคองให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ รัฐบาลจึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์รับถ่ายโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจหลักของตนเอง บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) เป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 โดยได้กำหนดให้ บบส. สามารถรับซื้อ รับโอน หรือรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ลงไปถึงจัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)) และทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงินตามกำหนดของ ธปท. หรือสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจ บบส. ที่จดทะเบียนกับ ธปท. จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางคดีและภาษี เช่น การเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีที่มีการฟ้องร้องอยู่ในศาล หรือในการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว รวมถึงการได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีที่เกิดจากการโอนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินผู้โอนและ บบส. โดย บบส. จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลของทางการ เช่น การจดทะเบียนเป็น บบส. การรับซื้อรับโอนหนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีการรายงานข้อมูลต่อ ธปท. รวมถึงการปฏิบัติต่อลูกหนี้อย่างเป็นธรรม
1. ภาพรวม บบส.
บบส. มีจำนวนและขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมี บบส. ดำเนินการทั้งสิ้น 58 แห่งและสินทรัพย์รวม 224,223 ล้านบาท ณ สิ้นธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2555 ที่มี 22 แห่งและสินทรัพย์รวม 171,381 ล้านบาท (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 จำนวน บบส. และขนาดสินทรัพย์
ที่มา : แบบรายงาน บบส.
สินทรัพย์รวมในระบบ บบส. ส่วนใหญ่ถือครองโดย บบส. ภาครัฐ (สัดส่วน 77%) ส่วนที่เหลือเป็น บบส. ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ บบส. เอกชนอื่น ๆ โดยสัดส่วนสินทรัพย์ของ บบส. ภาครัฐ (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และกระทรวงการคลังถือหุ้น) ปรับเพิ่มขึ้นจากการซื้อทรัพย์อย่างต่อเนื่องของ บบส. กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และการโอนสินทรัพย์ของ บบส. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในปี 2560 ขณะที่ สัดส่วนสินทรัพย์ของ บบส. ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงเนื่องจากเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มที่นับรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ของ บบส. เป็น NPL ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วยทำให้ บบส. ในกลุ่มส่วนใหญ่ไม่ซื้อหนี้เพิ่ม (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 สัดส่วนสินทรัพย์ของ บบส. แต่ละกลุ่ม
ที่มา : แบบรายงาน บบส.
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามี บบส. เอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจาก บบส. ภาครัฐ และ บบส. ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนใหญ่เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 โดยจำนวน บบส. เอกชน ณ ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 47 แห่ง เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2555 ที่มีอยู่ 11 แห่ง ส่งผลให้สัดส่วนสินทรัพย์ บบส. เอกชน เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 16% ของสินทรัพย์รวมทั้งระบบ
การที่บริษัทเอกชนสนใจดำเนินธุรกิจ บบส. ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีธุรกิจเดิมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ บบส. เช่น ประกอบธุรกิจติดตามหนี้ หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ การปรับโครงสร้างหนี้หรือดำเนินคดีกับลูกหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เห็นโอกาสทางธุรกิจจึงได้เข้ามาจดทะเบียนธุรกิจ บบส. เช่นกัน
กระบวนการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ บบส. ประกอบด้วยการบริหารจัดการ NPL และ ทรัพย์สินรอการขาย (NPA) วิธีการบริหารจัดการ NPL ทำโดยการประนอมหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้หรือกระบวนการทางศาล รวมถึงการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันของลูกหนี้ ขณะที่ วิธีการบริหารจัดการ NPA เป็นการปรับปรุง NPA เพื่อขายให้แก่ผู้ซื้อต่อไป โดย NPA เหล่านี้ได้มาจากการประมูลซื้อจากสถาบันการเงิน การตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงการประมูลซื้อหลักประกันจากการขายทอดตลาด (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 กระบวนการบริหาร NPL และ NPA
ที่มา : Company profile บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ปี 2015
รูปที่ 4 การดูดซับ NPL (มูลหนี้เงินต้นเดิม)
ที่มา : แบบรายงาน บบส. (ไม่รวมการรับโอนหนี้ของ บบส. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย)
ในช่วง 4 ปีหลัง (ปี 2558 – 2561)บบส. ซื้อหนี้ NPL (มูลหนี้เงินต้นเดิม) เฉลี่ย 49,350 ล้านบาท ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 8 ของ NPL ระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) (รูปที่ 4)
สำหรับ บบส. ภาครัฐ มีการซื้อหนี้ NPL เพิ่มขึ้นในปี 2561 โดยเป็นการซื้อหนี้ที่มีหลักประกัน ขณะที่ การซื้อหนี้ของ บบส. เอกชน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งแบบที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน (รูปที่ 5-6) โดย บบส. เอกชน 47 แห่ง แบ่งเป็นเน้นซื้อหนี้มีหลักประกัน 21 แห่ง ไม่มีหลักประกัน 11 แห่ง และซื้อหนี้ทั้งมีและไม่มีหลักประกัน 5 แห่ง
รูปที่ 5 การซื้อหนี้ NPL (ราคาซื้อ)
ที่มา : แบบรายงาน บบส. (ไม่รวมการรับโอนหนี้ของ บบส. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย)
รูปที่ 6 ประเภทหนี้ที่ บบส. ซื้อ
รูปที่ 7 แหล่งเงินทุนของ บบส.
ที่มา : งบการเงินบริษัทบริหารสินทรัพย์ (ไม่รวมตั๋วแลกเงินออกให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ของ บบส. สุขุมวิท)
หากพิจารณาในมิติแหล่งเงินทุนแล้ว บบส. ขนาดใหญ่ที่มีฐานะการเงินที่ดีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลากหลาย เช่น การกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ การออกหุ้นกู้ รวมถึงการกู้ยืมจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้น ขณะที่ บบส. ขนาดเล็กที่สินทรัพย์ไม่มากนัก จะใช้แหล่งเงินทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำ 25 ล้านบาท) หรือกู้ยืมจากกรรมการเป็นหลัก (รูปที่ 7)
ด้านความเชื่อมโยงการจัดหาแหล่งเงินทุนโดยตรงของ บบส. กับตลาดเงินและตลาดทุน พบว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยมีการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการออกหุ้นกู้อยู่ไม่มากนัก ระบบ บบส. มีการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์รวม 31,385 ล้านบาท และมีการออกหุ้นกู้รวม 32,164 ล้านบาท ณ ธันวาคม 2561 ขณะที่ บบส. เอกชน บางรายมีแหล่งเงินทุนผ่านกลุ่มผู้ถือหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2561
2. แนวโน้มการเติบโตของ บบส.
บบส. ยังมีแนวโน้มการเติบโตของสินทรัพย์ต่อเนื่องจากการคาดการณ์ของผู้ประกอบการว่าธุรกิจ บบส. ยังเติบโตต่อไปได้จาก NPL ในระบบที่ยังมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น (รูปที่ 8) นอกจากนี้ บบส. ยังมีโอกาสในการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์และลงมติประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อ 25 มกราคม 2562 ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจให้ บบส. สามารถรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งการรับเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) โดยกฎหมายที่แก้ไขได้กำหนดหลักเกณฑ์ด้านธรรมภิบาลเพิ่มเติมจากกฎหมายฉบับเดิมด้วย
แม้จะมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่จากจำนวน บบส. ที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยที่สนับสนุนให้ บบส. สามารถแข่งขันได้ อยู่ที่ความได้เปรียบจากต้นทุนการเงินที่ต่ำและประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากธุรกิจบริหารหนี้ NPL มีกระบวนการทำงานหลายขั้นตอนที่อาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การคำนวณกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการชำระหนี้ การพิจารณามูลค่าและสภาพคล่องของหลักประกัน การตรวจสอบและประเมินราคาต้นทุนในการซื้อหนี้ การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ การดำเนินคดีทางกฎหมายและการขายทอดตลาดหลักประกัน รวมถึงการดูแลทรัพย์ NPA และการขาย NPA เป็นต้น ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น ต้องใช้ทักษะของผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งมีระยะเวลาในการบริหารหนี้ค่อนข้างนาน ซึ่งหาก บบส. ไม่มีประสบการณ์และความชำนาญที่เพียงพอ รวมถึงมีต้นทุนการเงินที่สูง อาจส่งผลให้มีต้นทุนการดำเนินงานสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ
รูปที่ 8 ภาพรวม NPL
ที่มา : รายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2561
3. ข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของ บบส.
ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของ บบส. พบข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการประกอบธุรกิจทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ในส่วนข้อจำกัดหรืออุปสรรคจากปัจจัยภายในบริษัท เช่น บบส. ขนาดเล็กจะมีแหล่งเงินทุนจำกัด โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเป็นหลัก รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน มีน้อย จึงเป็นอุปสรรคในการซื้อหนี้มาบริหารอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ผลการดำเนินงานลดลงจนถึงขั้นขาดทุน รวมถึงอาจจะมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องจากกระแสเงินสดที่ไม่แน่นอน และประมาณการได้ยาก
นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการเรียกเก็บหนี้ได้น้อยลง และโอกาสในการขายทรัพย์ NPA ทำได้ยากขึ้น อีกทั้ง จำนวน บบส. ที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้มีการแข่งขันในการประมูลซื้อหนี้สูงขึ้น อาจทำให้ต้นทุนในการซื้อหนี้เพิ่มขึ้น
4. แนวโน้มบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีต่อระบบการเงิน
ที่ผ่านมาบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นกลไกพื้นฐานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน จากการรับซื้อรับโอนหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารหนี้ที่รับซื้อมาผ่านการประนอมหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และดำเนินการในกระบวนการทางศาล รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย ในระยะต่อไป บริษัทบริหารสินทรัพย์จะมีบทบาทต่อระบบการเงินไทยเพิ่มมากขึ้นในการรองรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ยังทรงตัวในระดับสูง และจากผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน ในหนี้กลุ่มบัตรเครดิต กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. นอกจากนี้การทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่ลูกหนี้ จะช่วยให้การจัดการหนี้รายย่อยเป็นระบบและครบวงจรมากขึ้น ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น