เปิดบทวิเคราะห์ บีบีซี อังกฤษ โค้งสุดท้ายเลือกตั้งไทย & สูตรจัดตั้งรบ.ใหม่
"...อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญก็คือทั้งการใช้ ส.ว. 250 เสียง เพื่อจะเลือกตัวนายกรัฐมนตรีแม้ว่าจะสร้างความได้เปรียบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างมาก เพราะต้องการ ส.ส.เพียงแค่ 126 เสียง ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ส่งผลในแง่ลบเช่นกัน เพราะว่าผู้บริหารในอนาคตจะถูกจำกัดด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และก็ส่งผลไปยังพรรคพลังประชารัฐและพรรคต่างๆที่หาเสียงด้วย เพราะต้องไปยึดโยงกับยุทธศาสตร์ 20 ปี แทนที่จะไปยึดโยงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ..."
เหลือระยะเวลาอีกเพียงแค่ 1 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค. 62 แล้ว
แต่ดูเหมือนช่วงเวลานี้ มุมมองสื่อต่างประเทศ จะให้ความสนใจนำเสนอบทวิเคราะห์สูตรจัดตั้งรัฐบาลใหม่มากขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยไว้ดังนี้
นับตั้งแต่ตอนที่กองทัพไทยได้ยึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ในตอนนั้นก็มีการประกาศว่าจะเป็นการรัฐประหารเพื่อยุติการรัฐประหารทั้งมวล
หลังจากที่การรัฐประหารก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2549 นั้นถือว่า "ล้มเหลว"
ต้องยอมรับกันตรงๆว่า สิ่งที่คณะรัฐประหารต้องการดำเนินก็คือการพยายามจะขจัดความเข้มแข้งของกลุ่มที่เคลื่อนไหวและสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งชนะการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2544 มาโดยตลอด
ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนนายทักษิณนั้นถูกมองว่าเป็นภัยจากทั้งกองทัพและกลุ่มทุนต่างๆ ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่
ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.2562 นี้ นับเป็นการพิสูจน์เป้าหมายของคณะรัฐประหารในการขจัดอิทธิพลของนายทักษิณประสบความสำเร็จหรือไม่ โดยผ่านทางพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งเมื่อปีที่ 2561 ผ่านมา เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีอำนาจในรัฐบาลทหารอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการดูดเอานักการเมืองท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงจากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาอีก
ยิ่งไปกว่านั้นพรรคพลังประชารัฐยังมีกลไกที่สำคัญก็คือ ส.ว.อีก 250 เสียงที่จะมีส่วนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้เพดานเก้าอี้ ส.ส.ของพรรคการมืองที่อยู่ภายใต้ขั้วของนายทักษิณ ถุกขยับให้สูงขึ้นไปอีก ถ้าหากพรรคการเมืองขั้วทักษิณต้องการที่จะได้รับชัยชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุบพรรคไทยรักษาชาติก็ทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายขั้วทหารจะมีปัจจัยที่เอื้อประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะได้รับชัยชนะ
เพราะจากผลโพลต่างๆนั้นบ่งชี้ชัดเจนว่าโอกาสที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเปลี่ยนใจนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะในฐานเดิมอย่างภาคเหนือและภาคอีสาน ที่แม้ว่าจะมีความพยายามไม่ให้ใช้ภาพของนายทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการนำนโยบายประชานิยมเก่าๆที่เคยได้รับความนิยมมาใช้เพื่อหาเสียงก็ตาม
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่อันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย และเป็นคู่แข่งรายสำคัญนั้นก็ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าจะแสดงท่าทีว่าพร้อมร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นได้ซึ่งรวมไปถึงพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทยที่เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้านั้นก็ได้มองคำมั่นสัญญาว่าจะทำให้เกิดการปฏิรูปขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับตรงๆว่าพรรคนี้นั้นกำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยจำนวนกว่า 7 ล้านคน ที่พึ่งจะมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก
ดังนั้นปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นความพยายามของกลุ่มทหารที่จะรักษาอำนาจต่อไปได้
ถ้าหากดูผลสำรวจในช่วงหลังๆนั้นจะเห็นว่ายังมีพลังเงียบที่ระบุว่ายังไม่ได้ตัดสินใจเลือกใครอยู่อีกมาก ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งนั้นก็อาจจะมาจากการความอดทนอดกลั้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่พูดถึงดีกว่า
ในทางกลับกันภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในกลุ่มผู้ที่สนับสนุนนั้นก็ดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความชื่นชอบทั้งในท่าทีที่ขึงขัง หยาบกระด้าง ตรงไปตรงมา และภาพพจน์ส่วนตัวว่าไม่ทุจริต
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามปรับท่าทีของตัวเองให้ดูนุ่มนวลลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่ได้พูดถึงนโยบายที่จะใช้สู้การเลือกตั้งมากนัก และพรรคพลังประชารัฐในตอนนี้ก็พยายามจะดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อที่จะกระตุ้นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพราะการจัดตั้งเวทีในแต่ละครั้งนั้น ปรากฏข้อมูลว่าการปลุกเร้าดูจะไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมรับฟังการปราศรัยที่น้อย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่เติบโตช้า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยมีอัตราที่สูงขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ยางพารา น้ำตาล และข้าวที่ตกลง ก็ทำให้คำสัญญาของรัฐบาลทหารที่อ้างว่าต้องการที่จะสร้างเสถียรภาพ พร้อมกับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำให้กับกระเป๋าคนไทยนั้นดูจะไร้น้ำหนักลงขึ้นไปอีก
ประกอบกับกรณีภาพพจน์ของคนในรัฐบาลทหารที่มีความไม่โปร่งใส และการเลื่อนการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนใจมวลชนที่เคยสนับสนุนขั้วนายทักษิณให้ไปสนับสนุนขั้วรัฐบาลทหารได้
นอกจากนี้ นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังได้เคยบอกถึงสัญญาณความตื่นตระหนกอีกประการของขั้วรัฐบาลทหารที่เด่นชัดว่าเป็นการตั้งข้อหาอาชญากรรมต่างๆกับบุคคลที่อยู่ในขั้วการเมืองฝั่งตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญก็คือทั้งการใช้ ส.ว. 250 เสียง เพื่อจะเลือกตัวนายกรัฐมนตรีแม้ว่าจะสร้างความได้เปรียบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างมาก เพราะต้องการ ส.ส.เพียงแค่ 126 เสียง ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ส่งผลในแง่ลบเช่นกัน เพราะว่าผู้บริหารในอนาคตจะถูกจำกัดด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และก็ส่งผลไปยังพรรคพลังประชารัฐและพรรคต่างๆที่หาเสียงด้วย เพราะต้องไปยึดโยงกับยุทธศาสตร์ 20 ปี แทนที่จะไปยึดโยงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ
อย่างไรก็ตามถ้าพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับขั้วพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารได้คะแนนเสียงเพียงพอ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก จุดนี้ก็จะไปท้าทายความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์โดยทันที เพราะจะมีเสียงและมีอำนาจเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ต้องไปพึ่งพาแรงสนับสนุนจาก ส.ว.
ทั้งหมดทั้งมวลนี้นั้นก็คงต้องขึ้นอยู่ว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่นั้นจะได้คะแนนเสียงมากน้อยแค่ไหน ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงมากเกินกว่า 80 เสียงขึ้นไป ก็เป็นไปได้สูงมากที่จะดึงดูดตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่นหลายๆพรรคให้เข้ามาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขนี้ รัฐบาลใหม่น่าจะเป็นรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจากหลายพรรคการเมือง จนทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพเป็นอย่างมาก
แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐทำได้แย่กว่าที่คิดเอาไว้ ความพยายามจะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก และประเทศไทยอาจตกไปสู่วงวันความไม่สงบทางการเมืองได้อีกครั้ง
ดังนั้นทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อบ่งชี้โดยชัดเจนว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาลทหารนั้นได้มีความพยายามเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างจริงจัง เนื่องด้วยว่าหลังจากเดือน พ.ค. 2562 ไปแล้ว บรรยากาศทั้งการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ จะกลับมารุนแรงยิ่งกว่าแต่ก่อน
(เรียบเรียงจาก:https://www.bbc.com/news/world-asia-47620749)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/