สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์:ประชารัฐแท้จริง ต้องให้ ‘พลังพลเมือง’ เข้มแข็งนำหน้า
“ผมได้ยินคนในวงการราชการ ซึ่งหลายคนยังมีความสามารถสูงมาก แต่บอกว่า การทำงานภาครัฐยากเหลือเกิน เพราะมีโรคระบาดโรคใหม่ เรียกว่า โรคเอ๊ะ! หากมีการประชุมกรรมการชุดใดกำลังจะมีมติลงมา มีใครสักคนเอ๊ะ!อะไรขึ้นมา...เอ๊ะ! เรื่องนี้สอดคล้องกับกฎระเบียบของรัฐที่มีอยู่หรือไม่ สอดคล้องกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ทุกคนจะไม่มีคำตอบ แล้วจะสนทนากันอีกนาน สุดท้ายมีมติว่าเรื่องนี้เลื่อนออกไปก่อน นี่คือปัญหาของภาครัฐในประเทศไทย”
วันที่ 22 มี.ค. 2562 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 6 เรื่อง พลังพลเมือง พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรุงเทพฯ
ดร.สมเกียรติ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันที่ 24 มี.ค. 2562 จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งการกลับสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทย คงไม่ใช่หนทางราบรื่นมาก แน่นอนว่า จะเปิดเวทีให้เรากลับเข้าสู่ประชาคมโลก ให้คนไทยมีศักดิ์ศรีมากขึ้น มีส่วนร่วมในการปกครองตัวเองมากขึ้น และคนยากคนจนมีโอกาสได้รับการกระจายมากขึ้น
ทั้งนี้ หากดูประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยของยุโรป ไม่ว่าในโลกของประชาธิปไตยต้นแบบ อย่างสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ พบว่า
สหรัฐฯ ได้ประธานาธิบดีชั้นยอดอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์
อังกฤษกำลังเจอปัญหา Brexit ซึ่งทุกวันนี้อังกฤษในฐานะเป็นต้นแบบประชาธิปไตยยังไม่รู้เลยว่าตนเองอยากได้อะไรกันแน่ โหวตกี่รอบในรัฐสภายังไปไม่รอด
อียิปต์ ยูเครน โลกอาหรับ ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ เกิดอาหรับสปริง หลังจากนั้นไม่นานปรากฎว่ามีปัญหาความรุนแรงขึ้นในวงกว้าง
ขณะที่ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างจีน ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุกลับกลายเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่า มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ซึ่งปี 2562 คาดว่าจีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลงมา เหลือประมาณร้อยละ 6 แต่ถือว่าสูงกว่าหลายประเทศมาก
จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า “ประชาธิปไตยแล้วกินได้จริงหรือไม่”
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า เคยมีคำกล่าวของ Alexis de Tocqueville นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1805-1859 และมีโอกาสเดินทางไปสหรัฐฯ โดยในช่วงประชาธิปไตยตั้งต้นของสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Democracy in America ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“คนอเมริกา เมื่อต้องการอะไร จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมาทำ แทนที่จะเรียกร้องหารัฐ”
แล้วขยายความต่อ Alexis de Tocqueville ได้เห็นการประชุมท้องถิ่นในสหรัฐฯ เห็นกลุ่มสมาคม กลุ่มครอบครัว กลุ่มศาสนา กลุ่มชุมชนต่าง ๆ จึงชี้ว่า นี่คือฐานรากประชาธิปไตยในสหรัฐฯ
ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่เราเข้าไปแก้ไขปัญหาของเราเอง อย่างไรก็ตาม Alexis de Tocqueville ได้ย้อนมองกลับไปยังฝรั่งเศส พบว่า เวลามีปัญหา คนฝรั่งเศสมักวิ่งไปหารัฐ
“ผมขอเติมเข้าไปด้วยว่า คนอิตาลี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ฝรั่งเศส จะวิ่งไปหามาเฟีย ส่วนคนไทยจะวิ่งไปหาทั้งมาเฟียและรัฐ หรือรัฐที่เป็นมาเฟียในเวลาเดียวกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยลุ่ม ๆ ดอน ๆ”
ก่อนที่เราจะฝากความหวังไว้กับรัฐ แล้วภาครัฐโดยทั่วไปเป็นอย่างไร
ประธาน ทีดีอาร์ไอ อธิบายนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงได้สรุปไว้ว่า “รัฐทำอะไรสำเร็จยากเหลือเกิน โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่” เนื่องจากภาครัฐมีแรงจูงใจไม่เหมือนกับภาคประชาชนทั่วไป แรงจูงใจของระบบราชการเป็นอีกแรงจูงใจหนึ่ง ซึ่งหลายครั้งไม่ได้สอดคล้องกับแรงจูงใจของประชาชน กรณีที่สอดคล้องถือว่าดีไป แต่หลายกรณีไม่สอดคล้องกัน กรณีเช่นนี้รัฐจะมีจูงใจที่เป็นอิสระจากแรงจูงใจประชาชน
แม้ว่าโดยทฤษฎีประชาธิปไตยแล้ว ผู้บริหารภาครัฐนั้นต้องมีนโยบายที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งจะมีโปสเตอร์หาเสียงนโยบายสารพัด ความยากเย็นอยู่ตรงที่แรงจูงใจของรัฐ เมื่อเป็นรัฐแล้วกับตอนหาเสียงเลือกตั้งจะไม่เหมือนกัน
“รัฐไม่มีข้อมูลหลายเรื่อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ และประชาชนผู้ปฏิบัติจะรู้ดีกว่า เพราะฉะนั้นหากรัฐพยายามทำอะไร คิดไว้ สุดท้ายการทำเช่นนั้นจะไม่เคยประสบความสำเร็จเลย”
การศึกษาทางรัฐศาสตร์จำนวนมากที่ชี้ประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าการที่รัฐจะปลูกป่า การที่รัฐจะสร้างเมืองแบบใหม่ โดยมองแบบรัฐ ซึ่งมีตัวอย่างหลายเมืองที่มีชื่อเสียง ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่าง เมืองบราซิลเลี่ยน ประเทศบราซิล ได้รับการดีไซน์ผ่านมุมมองจากรัฐ ดีไซน์จากคนที่มองจากสวรรค์ มองจากอวกาศ
“ที่ทำการของเมืองเป็นนกอินทรี ถ้ามองจากท้องฟ้าลงมา แต่ประชาชนที่เดินในเมืองไม่รู้จักนกอินทรี รู้เพียงว่าถนนหนทางในเมืองไม่เป็นมิตรกับการพบปะสังสรรค์อะไรกันเลย ฉะนั้นถ้ารัฐออกแบบเมืองเอง จะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน”
ส่วนกรุงเทพฯ แม้ไม่ใช่นกอินทรี แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ หากแต่มีปัญหาคล้ายกัน คือ คนไม่มีทางเดิน หรือคนอยากจะพบปะเจอกัน ถ้าไม่ไปเจอกันในร้านกาแฟเสียสตางค์แก้วละกว่า 100 บาท คงจะหาที่เจอกันได้ยาก
ทั้งยังเห็นว่า ภาครัฐยังมีการยืดหยุ่นที่น้อยกว่าภาคประชาสังคมและธุรกิจ และการที่มีกลไกการตรวจสอบเข้มงวดเรื่อย ๆ จากความขัดแย้งทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้การยืดหยุ่นของภาครัฐลดน้อยลงไป
“ผมได้ยินคนในวงการราชการ ซึ่งหลายคนยังมีความสามารถสูงมาก แต่บอกว่า การทำงานภาครัฐยากเหลือเกิน เพราะมีโรคระบาดโรคใหม่ เรียกว่า โรคเอ๊ะ! หากมีการประชุมกรรมการชุดใดกำลังจะมีมติลงมา มีใครสักคนเอ๊ะ!อะไรขึ้นมา...เอ๊ะ! เรื่องนี้สอดคล้องกับกฎระเบียบของรัฐที่มีอยู่หรือไม่ สอดคล้องกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ทุกคนจะไม่มีคำตอบ แล้วจะสนทนากันอีกนาน สุดท้ายมีมติว่าเรื่องนี้เลื่อนออกไปก่อน นี่คือปัญหาของภาครัฐในประเทศไทย”
แล้วรัฐยังขาดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เพราะต้องการทำอะไรเป็นแบบเดียว ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้ให้เห็นว่านี่คือความยากลำบากของการทำงานในภาครัฐ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าไร้คนที่มีความสามารถ และคนที่มีเจตนาที่ดีในภาครัฐ เพียงแต่ธรรมชาติขององค์กรทำอะไรได้ยาก
ดร.สมเกียรติ ยังระบุในประเทศไทย รัฐไทยยังมีลักษณะรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางสูงมาก ทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นการแย่งชิงการเป็นรัฐบาลจึงมีความสำคัญสูงมาก การปฏิวัติรัฐประหารจึงเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใหญ่โตมาก ถ้าเราดูประเทศที่มีการกระจายอำนาจเยอะ ๆ อย่างสหรัฐฯ เรายังจินตนาการไม่ออกว่าจะปฏิวัติรัฐประหารได้อย่างไร ในประเทศที่มีการกระจายอำนาจไปยังรัฐต่าง ๆ
การทำงานของรัฐในเวลารวมศูนย์อำนาจมา กลับมีการแยกส่วน ขาดการประสานงานกัน เรียกว่า ไซโล อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ หมดแล้ว แต่กลับพบว่า แต่ละกระทรวงไม่คุยกัน แต่ละกรม กองไม่คุยกัน วิธีแก้ปัญหาจึงต้องตั้งกระทรวงใหม่ ซึ่งรวมของที่ไม่เคยคุยกันมาอยู่ด้วยกัน กลายเป็นเกิดปรากฎการณ์อย่างที่มีการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
หรือเมื่อเกิดปัญหา เช่น การจัดการน้ำ ต้องมีกระทรวงน้ำ จัดการป่าที่ดี ต้องมีกระทรวงป่า เป็นต้น นี่คือวิธีคิดของราชการไทย คิดแบบ One Size Fits All คิดว่าจะสามารถออกแบบเดียว แล้วใช้กันได้ทั่วไป หากไม่ทำแบบดังกล่าว หมายความว่า มีการเลือกปฏิบัติ และจะมีคนร้องต่อศาลปกครอง หรือต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังไม่เปิดให้สังคมมีส่วนร่วมเท่าที่ควร และอีกส่วนหนึ่ง คือ การที่ข้าราชการจำนวนไม่น้อยมีความตั้งใจดี แต่เห็นว่าทำงานยาก จะออกจากภาครัฐไป นี่คือความน่าเป็นห่วง เละความน่าเป็นห่วงสุดท้ายคือ ภาครัฐกลัวทำผิดกฎระเบียบ
ถ้าเราไม่หวังพึ่งพาอาศัยรัฐแล้ว เราจะหวังพึ่งพาอาศัยอะไรได้
ดร.สมเกียรติ นำเสนอ ‘กลไกตลาด’ ซึ่งไม่ใช่ของอะไรที่เป็นนามธรรม แต่คือการที่คนจำนวนมากอยากจะไปทางไหน แล้วตีมูลค่าของนั้นออกมา ใครจะสวนทางตลาด ตลท.จะมีหลักฐานเชิงประจักษ์พิสูจน์มากมาย ถ้าเกิดคนเชื่อว่าหุ้นกำลังจะขึ้น ใครไปสวนทางตลาด ไปคิดว่าหุ้นจะลงนั้นก็จะเจ๊ง เพราะฉะนั้นกลไกตลาดเป็นกลไกที่มีพลังมหาศาลในการชักจูงเรื่องต่าง ๆ ให้ไปทางใดทางหนึ่งได้ ซึ่งกลไกตลาดเป็นกลไกที่สำคัญมาก
กลไกตลาดแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่กลไกรัฐแก้ไขไม่ได้ และมีตัวอย่างหลายเรื่องมากมาย อย่างเช่น การลดปล่อยก๊าซเสียในสหรัฐฯ ซึ่งมีการใช้กลไกตลาด คือ การเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเสีย และซื้อขายลิมิตปล่อยได้ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเสียได้ แสดงให้เห็นว่ากลไกตลาดมีพลัง แต่ในเวลาเดียวกันกลไกตลาดมีข้อบกพร่องเช่นเดียวกัน ข้อมูลไม่สมบูรณ์ในตลาดทำให้เกิดการหลอกลวง การเอาเปรียบ
ประกอบกับตลาดมีผลกระทบภายนอก แน่นอนว่า คนที่จะทำธุรกรรมในตลาด ผู้เสนอและผู้สนอง ต้องสมัครใจเป็นคู่ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องห่วงทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งสองฝ่ายนี้เป็นผู้พอใจในธุรกรรมที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่การทำธุรกรรมในตลาดหลายครั้งจะส่งผลกระทบไปยังคนภายนอก ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุด แม้คนซื้อคนขายสินค้าอาจชอบ แต่หากโรงงานปล่อยควันพิษออกมา สังคมไม่รับรู้ไม่อนุญาตด้วย และตลาดยังมีแนวโน้มที่จะผูกขาด เพราะฉะนั้นกลไกตลาดเอง แม้จะเป็นกลไกที่แก้ไขปัญหาสังคม ไม่ว่าการศึกษา สุขภาพ ต่าง ๆ ได้ แต่ก็เป็นกลไกที่มีข้อบกพร่องอยู่ในเวลาเดียวกัน
ขณะที่ในเศรษฐกิจไทย กลไกตลาดเต็มไปด้วยการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ การผูกขาดในอุตสาหกรรมค้าปลีก มีพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมจำนวนมาก การผูกขาด ในธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งมีการควบรวมกิจการกัน ทำให้เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งคนชั้นกลางจะเดือดร้อนแล้ว การผูกขาดธุรกิจภาพยนตร์ การผูกขาดในธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และการผูกขาดธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งต้องวัดใจรัฐบาลว่าจะจัดการกับการประมูลดิวตี้ฟรีรอบใหม่อย่างไร จะเป็นแบบเดิม หรือให้มีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
โลกของประชาสังคม=โลกสวรรค์
ดร.สมเกียรติ กล่าวโชคดีที่โลกของเราไม่ได้มีเฉพาะนรกกับมนุษย์ แต่ยังมีโลกสวรรค์อยู่ด้วย สวรรค์ที่ว่า คือ โลกของประชาสังคม เป็นกลไกที่สามารถช่วยเสริม ช่วยแก้ ตลอดจนบางครั้งช่วยนำในการแก้ปัญหาด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการแก้ไขปัญหาความยุติธรรม และปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย
ทั้งยังกล่าวว่า โลกของเราไม่ได้มีแค่รัฐและตลาดที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แต่เรายังมี ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นที่รวมตัวของคนที่สุดท้ายแล้วคนเหล่านั้นจะไม่ใช่เพียงปัจเจกชน ในฐานะประชาชนที่เป็นโหวตเตอร์คนเดียวหรือผู้บริโภคคนเดียว แต่มีฐานะเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง แล้วรวมตัวกัน
ภาคประชาสังคมเปรียบเหมือนภาชนะและร่มกำบัง ที่รวมเอาพลังของประชาชนเข้ามาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ ประชาคม สหกรณ์ สหภาพ และยังมีการรวมตัวของประชาชนที่ไม่เป็นทางการจำนวนมาก เช่น ชุมชน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ชมรม ครอบครัว กลุ่มศาสนา กลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ อีกมากมาย
นี่คือความรุ่มรวย ความหลากหลายของภาคประชาสังคม ภาคประชาสังคมอาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกผูกพันของคนทั่วไปก็ได้ เช่น ญาติ เพื่อน แต่ถ้าดูไปลึก ๆ จะเห็นว่าภาคประชาสังคมไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์ของบุคคลหรือความรู้สึกร่วมกันเท่านั้น แต่เกิดจากการมีเป้าหมายร่วมกันด้วย
ขอนแก่นโมเดล คือ ตัวอย่างหนึ่ง ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวคนขอนแก่นรู้จักและเข้าใจมานานแล้วว่า หากทุกคนจะไปซื้อรถมาขับกัน ถนนในขอนแก่นจะไม่พอให้รถวิ่งได้ คนขอนแก่นเข้าใจวิธีแก้ไขปัญหาจราจรมานานแล้ว คนขอนแก่นเหมือนกับคนในหลายจังหวัดอยากจะได้ขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพดี ราคาบริการยอมรับได้ อยากได้รถไฟฟ้า เหมือนคนกรุงเทพฯ อยากได้รถราง แต่ขอแล้วขออีก ซึ่งรัฐบาลสัญญาจะให้ แต่สุดท้ายคนขอนแก่นไม่ได้
คนขอนแก่นจึงระดมทุนกันเอง ไม่หวังพึ่งงบประมาณจากรัฐบาล นับเป็นสปิริตของประชาธิปไตยที่ตอบ Alexis de Tocqueville ได้อย่างดี เมื่อประชาชนอยากได้อะไร อย่าหวังพึ่งรัฐ หรือมาเฟียอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งตนเองด้วย นั่นจึงทำให้ขอนแก่นจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง ทุนประเดิม 200 ล้านบาท โดยครอบครัวนักธุรกิจในขอนแก่นลงขันกันในจำนวนเท่ากัน ซึ่งไม่เพียงพอสร้างขนส่งสาธารณะแน่นอน แต่ทำให้เห็นข้อตกลงร่วมกันของกลุ่ม และทำให้มีส่วนรวมในการดึงพลังของฝ่ายต่าง ๆ
โดยหน่วยงานในขอนแก่นที่เป็นประชาสังคมนี้ช่วยกันวางแผนวิธีทำให้ขอนแก่นมีรถราง สุดท้ายเมื่อรวมตัวกันติด 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น มารวมตัวกันตั้งเป็นบริษัทพัฒนานคร และดำเนินการจัดตั้งรถไฟฟ้า และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ทำให้ขอนแก่นจะมีรถไฟฟ้าเป็นจังหวัดแรก ขอนแก่นโมเดลจึงได้ให้บทเรียนกับประชาสังคมในไทยหลายประการ คือ คนเหล่านี้มีสำนึกรักษ์บ้านเกิด ไม่ได้คิดพึ่งคนอื่น ไม่รองบประมาณจากรัฐบาล แต่เป็นจุดตั้งต้นแล้วว่า ให้รัฐบาลมาสนับสนุน
“หากเราจะมีประชารัฐที่แท้จริง สิ่งที่ภาครัฐไทยต้องทำ คือ ให้สังคม พลังพลเมืองเข้มแข็งนำหน้า ท้องถิ่นหนุนตาม ธุรกิจเข้ามาร่วม ถ้าภาครัฐ รัฐบาลกลาง สนับสนุนด้วย ประชารัฐที่แท้จริง เพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งล้วนเป็นปัญหายาก ๆ การศึกษา สุขภาพ คอร์รัปชัน ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ปัญหาที่ดูเหมือนแก้ไม่ได้ ความยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคมจะถูกแก้ได้” ดร.สมเกียรติ ทิ้งท้ายภาพในสิ่งที่อยากเห็น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/