“การเลือกตั้ง” โอกาสแสดงพลังนำร่วมของคนไทย
การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของพลเมืองอย่างเต็มที่ นำพลังแห่งการนำร่วมมาใช้เพื่อดูแลสังคมร่วมกัน ซึ่งไม่ควรจบแค่การออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่ควรอยู่ในวิถีชีวิต ต่อให้จบกระบวนการเลือกตั้งไปแล้ว เราจะยังคงทำหน้าที่เป็นพลเมืองอย่างเต็มที่เหมือนเดิม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นก็ตาม
ประเทศไทยห่างหายจากกระบวนการที่ทำให้คนไทยออกมามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสังคมร่วมกันมานานหลายปี (นับตั้งแต่ปี 2554) การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ จึงถือเป็นสถานการณ์หนึ่งที่เรียกร้องให้ทุกคนในสังคมลุกขึ้นมาใช้สิทธิในการเป็นพลเมืองภายใต้กติกาเดียวกัน เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญสุดที่จะพาประเทศไทยไปสู่จุดนั้น คือ การที่คนไทยเห็นคุณค่าในพลังของตัวเองที่จะสร้างการนำร่วม (Collective Leadership) ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ดร.อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรักษาการรองคณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่คนไทยจะได้ออกมาแสดงพลังร่วมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน ต้องเลือกพรรคเดียวกัน แต่เป็นการที่ทุกคนใช้สิทธิ์ แสดงออกให้เห็นว่าทุกคนใส่ใจกระบวนการทางประชาธิปไตย แต่การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคม ยังมีอุปสรรคสำคัญทางด้านความเชื่อที่คนไทยต้องข้ามผ่าน คือ “การคิดว่าตัวเองไม่มีพลังมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” การแก้ปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะมาเป็น “ฮีโร่” ขจัดปัดเป่าปัญหาให้
ดร.อดิศร อธิบายเถึงชุดความเชื่อที่หยั่งรากอยู่ในวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของผู้ใหญ่ดูแลผู้น้อย ทำให้เราเชื่อว่าถ้าเราดูแลตัวเองได้ดี เสียภาษี ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน แค่นั้นก็ดีพอสำหรับสังคมแล้ว เรื่องอื่นปล่อยให้กลุ่มผู้นำเป็นคนจัดการกันไป เพราะเราไม่น่าจะมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มันทำให้ทุกการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเรามักมองหาฮีโร่ของแต่ละพรรค มองหาผู้นำที่เป็นไอดอล ไม่ว่าจะเป็นผู้นำรุ่นเก่า หรือผู้นำรุ่นใหม่ สังคมยังยึดติดกับการตามหาผู้นำที่เหมาะสม เพราะเราคิดว่า ‘เราต้องมีผู้นำที่ดีที่สุดก่อน ประเทศถึงจะรอดไปได้’
เพื่อให้เกิดการขยับเขยื้อนการเปลี่ยนแปลงในสังคมจากทุกส่วน เราจึงจำเป็นต้องถอดถอนคติความเชื่อแบบเดิม ที่บอกว่า “เราเป็นแค่สมาชิกคนหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำ แล้วก็ปล่อยให้เขานำพาชีวิตเราไป” แต่เราต้องทำให้คนไทยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เห็นว่าในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่จำเป็นต้องอาศัยพลังร่วมของทุก ๆ คน จึงจะสามารถช่วยกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้
ถ้าเราเชื่อในศักยภาพการบ่มเพาะพลังภายในตัวเอง ปลดปล่อยตัวเองจากภาวะการถูกกดทับ ปลดแอกจากภาวะที่คิดว่าตัวเองเป็นเพียงคนตัวเล็กคนหนึ่งในสังคมได้ จะมีพลังในแง่บวกบางอย่างเกิดขึ้นในตัวเรา เราจะเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น พร้อมจะลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยไม่เพียงนั่งรอให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาเพียงฝ่ายเดียว
ถ้าเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นปัญหาร่วมที่ต้องลงไปช่วยกันแก้ไข และเชื่อมั่นในพลังของการทำงานร่วมกัน “ภาวะการนำร่วม (Collective Leadership)” จะเกิดขึ้นได้ในสังคม
สำหรับผมมองว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของพลเมืองอย่างเต็มที่ นำพลังแห่งการนำร่วมมาใช้เพื่อดูแลสังคมร่วมกัน ซึ่งไม่ควรจบแค่การออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่มันควรอยู่ในวิถีชีวิตของเรา นั่นหมายความว่าต่อให้จบกระบวนการเลือกตั้งไปแล้ว เราจะยังคงทำหน้าที่เป็นพลเมืองอย่างเต็มที่เหมือนเดิม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นก็ตาม