มีผลแล้ว! ระเบียบจ่ายเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
มีผลแล้ว! ระเบียบ คกก.บริหารศาลยุติธรรม จ่ายเงินรางวัล ค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลย ในการไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/1 พ.ศ. 2562 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใช้หลักยากง่ายของคดี ต่ำสุด 2,000 สูงสุด 25,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 มี.ค.2562 เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยในการไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/1 พ.ศ. 2562 ลงนามโดย นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรม มีทั้งสิ้น 11 ข้อ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2562 เป็นต้นไป สาระสำคัญ
ข้อ 3 อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 165/1 ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 6 และตารางท้ายระเบียบนี้
ข้อ 4 ให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลให้ทนายความ โดยพิจารณาตามความยากง่ายของลักษณะคดี กับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความได้ปฏิบัติหน้าที่ โดยให้คำนึงถึงความเอาใจใส่ในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายที่ทนายความได้เสียไปประกอบด้วย
ข้อ 5 การสั่งจ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ ให้จ่ายเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประทับฟ้องหรือพิพากษายกฟ้อง ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง หากศาลมีคำสั่งให้ทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องปฏิบัติหน้าที่ว่าความแทนจำเลยในชั้นพิจารณาคดีต่อไป การจ่ายเงินรางวัลให้แก่ทนายความดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีให้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 6 ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง หากปรากฏว่าคดีเสร็จไปโดยศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้องหรือในคดีที่ทนายความปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงบางส่วน โดยไม่ได้เป็นความผิดของทนายความผู้นั้นและศาลเห็นว่ามีเหตุผลพิเศษที่ทนายความผู้นั้นควรได้รับเงินรางวัล ให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายเงินรางวัลให้แก่ทนายความได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกิน 5,000 บาท
ข้อ 7 ค่าใช้จ่ายทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/ ในกรณีที่มีการส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2560 โดยเทียบตำแหน่งทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยกับตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเพื่อสิทธิในการเบิกจ่าย ดังนี้
(1) ผู้ที่เป็นทนายความมาแล้วยังไม่ถึง 5 ปี เทียบเท่ากับตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
(2) ผู้ที่เป็นทนายความมาแล้วตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี เทียบเท่ากับตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ
(3) ผู้ที่เป็นทนายความมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 15 ปี เทียบเท่ากับตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ
(4) ผู้ที่เป็นทนายความมาแล้วตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เทียบเท่ากับตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ
ข้อ 8 ทนายความมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายตามข้อ 7 เมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ในคดีนั้น ๆ แล้วเสร็จในแต่ละครั้ง และให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติในการเบิกจ่าย
ข้อ 9 ให้ศาลชั้นต้นที่มีอานาจไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญายกเว้นศาลเยาวชนและครอบครัว นำบัญชีรายชื่อทนายความซึ่งได้แจ้งความประสงค์ต่อศาลว่าจะรับเป็นทนายความตามมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้กับการตั้งทนายความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามระเบียบนี้
ในการพิจารณาตั้งทนายความให้แก่จำเลย ศาลพึงคำนึงถึงความยากง่ายของคดีและประสบการณ์ของทนายความประกอบด้วย แต่ถ้าได้มีการจัดหาทนายความให้แล้วในชั้นสอบสวนและทนายความนั้น เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อตามวรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยร้องขอ ศาลอาจมีคำสั่งตั้งทนายความผู้นั้นเป็นทนายความต่อไปในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ได้
ทนายความที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคสองจะต้องไม่เรียกเอาผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่เหมาะสมอันเป็นการขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่จำเลย
ดูประกาศฉบับเต็ม
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/035/T_0001.PDF