บ.ทัวร์ฮั้ว จนท.รัฐ! เบื้องหลังการจัดเก็บรายได้อุทยานฯรั่ว-ตรวจสอบไม่ได้100% ?
“…ที่ผ่านมาการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบพบและได้ลงโทษทางวินัยไปแล้ว และการตรวจสอบในเขตอุทยานแห่งชาติเองทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอุทยานแห่งชาติมีข้าราชการประจำน้อย การสร้างระบบควบคุมภายในการตรวจตรา ตรวจสอบการจัดเก็บเงินรายได้อาจทำได้ไม่ทั่วถึง รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางคนที่ทำงานมานาน และรู้เห็นเป็นใจกับผู้ประกอบการ ถ้าเป็นการฮั้วกับผู้ประกอบการโดยตรง ทางอุทยานแห่งชาติไม่สามารถตรวจสอบได้ 100% ทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือ ให้เงินผ่านเจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุด…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาตรการและข้อเสนอแนะป้องกันการทุจริตในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญ เช่น การปรับปรุงการจัดเก็บรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ รวมถึงชี้แนะปัญหาด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการปรับปรุงหลักเกณฑ์คัดเลือกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง เนื่องจากที่ผ่านมาถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง รวมถึงช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตจำนวนมาก โดยเฉพาะการนำเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ไปอนุมัติโครงการเร่งด่วนระหว่างปี 2557-2559 เป็นเงินกว่า 1.22 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการดูงานต่างประเทศ และพบบุคลากรที่ไม่เกี่ยวข้องไปด้วยนั้น (อ่านประกอบ : กรมอุทยานฯใช้งบเร่งด่วน 3 ปี 1.2 พันล. ป.ป.ช.เจอเอาไว้ดูงาน ตปท.คนไม่เกี่ยวได้ไปด้วย)
ปัญหาการทุจริตเรื่องการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติอยู่ตรงไหน ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ช่วงเดือน ก.ย. 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงปัญหาที่เกิดจากการทุจริตเกี่ยวกับเงินรายได้ของอุทยาน ตอนหนึ่งตั้งคำถามว่า ปัญหานี้เกิดจากสาเหตุใด
หนังสือของกรมอุทยานฯ ตอบกลับมาว่า ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลนักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือเข้าไปเที่ยวเกาะต่าง ๆ ได้หลายทาง จึงไม่สามารถเก็บเงินค่าบริการอำนวยความสะดวกเข้าอุทยานแห่งชาติได้ทั่วถึง ต่างจากอุทยานแห่งชาติทางบกที่มีเส้นทางเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวมีด่านเก็บค่าบริการในทางหลักที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว
ส่วนปัญหาการรั่วไหลของเงินรายทางนั้น ตั้งแต่ต้นทางการเก็บเงิน เทคนิคการทุจริตต่าง ๆ ไม่ว่าการเหมาจ่ายของบริษัททัวร์ เป็นต้น
ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อเดือน ก.ค. 2560 โดย ป.ป.ช. ตั้งคำถามว่า ปัญหาการรั่วไหลในการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ มีหรือไม่ หากมีลักษณะการกระทำความผิดอย่างไร
ผู้แทนกรมอุทยานฯ ตอบว่า ในอดีตต้องยอมรับว่า มีการรั่วไหลพอสมควร สาเหตุการรั่วไหล ได้แก่ ขั้นตอนการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ พบว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ไม่สามารถเก็บค่าเข้าอุทยานแห่งชาติจากนักท่องเที่ยวได้ครบถ้วน โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีทางเข้ารอบเกาะ เรือนำเที่ยวสามารถเข้าไปในเขตอุทยานได้รอบด้าน
ประกอบกับบริษัททัวร์หรือผู้ประกอบการพยายามหลบเลี่ยงไม่ชำระเงิน เนื่องจากผลประโยชน์ของบริษัททัวร์มีมูลค่าจำนวนมาก โดยเฉพาะค่าบริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีตั้งแต่ระดับ 200-400 บาท ขึ้นอยู่กับอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวค่าเข้าจะสูง เป็นเหตุจูงใจให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงไม่ชำระเงิน
นอกจากนี้ปัญหาการรั่วไหลเกิดจากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการดำเนินการจัดเก็บ เนื่องจากเจ้าหน้าที่นอกจากดูแลด้านการท่องเที่ยวแล้ว ในด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จำเป็น เจ้าหน้าที่ต้องแบ่งกำลังมาดูแลด้านอื่น ๆ
สำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งคำถามอีกว่า ข้อมูลการทุจริตของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บเงินรายได้มีจำนวนเท่าใด กรมอุทยานฯมีการตรวจพบการร่วมมือกันของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกับผู้ประกอบการหรือไม่ หากพบแล้วดำเนินการอย่างไร
ผู้แทนกรมอุทยานฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบพบและได้ลงโทษทางวินัยไปแล้ว และการตรวจสอบในเขตอุทยานแห่งชาติเองทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอุทยานแห่งชาติมีข้าราชการประจำน้อย การสร้างระบบควบคุมภายในการตรวจตรา ตรวจสอบการจัดเก็บเงินรายได้อาจทำได้ไม่ทั่วถึง
รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางคนที่ทำงานมานาน และรู้เห็นเป็นใจกับผู้ประกอบการ ถ้าเป็นการฮั้วกับผู้ประกอบการโดยตรง ทางอุทยานแห่งชาติไม่สามารถตรวจสอบได้ 100% ทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือ ให้เงินผ่านเจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุด
นี่คือข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาเงินรั่วไหลจากรายได้บำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ที่ปรากฏข่าวคึกโครมในช่วงปี 2557-ปัจจุบัน ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาตอนหนึ่งว่า ขั้นตอนการทุจริตเกิดขึ้นระหว่าบริษัททัวร์ และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอุทยานแห่งชาติ
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ คงต้องรอวัดฝีมือภาครัฐกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
10 ปีโดนร้องทุจริตเพียบ! เบื้องหลังมาตรการ ป.ป.ช.ชง ครม.แก้เงินรายได้อุทยานรั่ว
โดนการเมืองแทรกแซงตลอด! ป.ป.ช.ชง ครม.ปรับปรุงคัด หน.อุทยานแห่งชาติ ป้องเงินรั่วไหล
หมายเหตุ : ภาพประกอบอุทยานแห่งชาติขุนสถาน จ.น่าน จาก poomaitourkhunsathan.blogspot.com