หน.วิเชียร เล็งหารืออัยการ อุทธรณ์คดี “เสือดำ” ในข้อหาที่ยกฟ้อง
1 ปีที่รอคอย คดี “เสือดำ” หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฯ ยืนยันเดินหน้าหารืออัยการยื่น “อุทธรณ์” ข้อหาที่ยกฟ้อง ระบุรับได้ ศาลให้เปรมชัยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ด้านศศิน ชี้ผลสะเทือนของเสือดำ นำมาสู่การคลอด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
สืบเนื่องจากศาลจังหวัดทองผาภูมิ มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 นายเปรมชัย กรรณสูต ‘บิ๊กบอส’ บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ใน 4 ข้อหาคือ ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 8 เดือน ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 16 เดือน พร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2 ล้านบาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้ศาลยกฟ้องข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่า และเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ขณะที่จำเลยที่ 2-4 มีโทษแตกต่างกันไปนั้น
วันที่ 20 มีนาคม 2562 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดงานเสวนา "1 ปี คดีเสือดำ กับคำตัดสินที่รอคอย" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งในเวทีมีการประมวลเหตุการณ์ พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังมีคำพิพากษา คดีประวัติศาสตร์แห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดย นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายธัชพงศ์ แกดำ ผู้ประสานงานกลุ่ม T’Challa พิทักษ์เสือดำ และนายวิเชียร ชิณวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมอภิปราย
นายวิเชียร กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีความเห็นต่างจากคำพิพากษา โดยเฉพาะข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) เนื่องจากหลักฐานที่ไปพบนั้น เจอซากเสือดำภายในแคมป์ที่พักของนายเปรมชัย และพวก ดังนั้นจะขอทำหน้าที่และสู้ต่อในการดำเนินคดีต่อไป ซึ่งจะได้หารือเบื้องต้นกับอัยการถึงการยื่นอุทธรณ์ต่อไป
หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ กล่าวถึงคำพิพากษาที่ให้นายเปรมชัย ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 2 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นเรื่องที่รับได้ พอใจ ไม่น่าเกลียด เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้มีการประเมินมูลค่าสัตว์ป่าไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสัตว์ป่าหรือสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือดำ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินมูลค่าเสือดำออกมา ทางออกในการประเมินมูลค่าสัตว์ได้อ้างอิงจากราคาสัตว์ในสวนสัตว์ มูลค่าอยู่ที่ 400,000 บาท ทางกรมอุทยานฯ จึงตั้งกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่เสือเมื่อหายออกจากป่า ค่าเลี้ยงดู และการฝึกให้มีสัญชาตญาณสัตว์ป่า
“การประเมินว่าเสือ 1 ตัว เป็นมูลค่า 12 ล้านบาท และเมื่อนำไปปล่อยแล้วโอกาสให้มีทางรอดจำนวนเสือต้องมากกว่า 1 ตัว จึงต้องปล่อยอีก 4 ตัว เพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งต้องเพิ่มมูลค่าเป็นเงินเข้าไปอีก และเมื่อเสนอไปทางอัยการท่านก็เห็นต่าง โดยมองว่า อยู่ที่ 4 แสน และสุดท้ายบทสรุปกรมอุทยานฯ จึงยืนยันฟ้องแพ่งเป็นเงิน 12 ล้านบาท ขณะที่เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลฯ ได้มีคำพิพากษาแล้วว่า ให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 2 ล้านบาท”
ด้านนายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้คุยกับทางอุทยานเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าฯ แล้ว ทางกรมอุทยานจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์ในข้อหาที่มีการยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม ในชั้นศาลอุทธรณ์ จะไม่อนุญาตให้นำหลักฐานใหม่เข้าไป เพราะตามกฎหมายบอกไว้ชัดเจน ซึ่งคดีนี้ไม่น่าจะมีหลักฐานพยานอะไรใหม่ เพราะจากกระบวนการสอบสวนทำกันมาค่อนข้างละเอียด ตอนนี้เหลือแต่ว่าหากจะมีการอุทธรณ์ขอให้ศาลได้ทบทวนคำพิพากษาหรือดุลพินิจ เพราะการร่วมกันกระทำความผิด กับการสนับสนุนอัตราโทษแตกต่างกัน
“ทั้งหมดต้องรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มออกมา ถึงจะเริ่มนำคำพิพากษามาวิเคราะห์ และเริ่มงานได้ ซึ่งการยื่นอุทธรณ์ จะพิจารณาจากศาลไม่ได้ตัดสินตามที่อัยการส่งฟ้อง 6 ข้อหา ,อัยการโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ,พยานหลักฐานที่อัยการโจทก์สืบไว้ สามารถตัดสินลงโทษได้ กรณีนี้ต้องพิจารณาประกอบกัน ระหว่างเจ้าของสำนวนศึกษาและทำความเห็นในชั้นต้นก่อน” (อ่านประกอบ:จากใจอัยการ ถึงคดีเปรมชัย ผู้สนับสนุนล่าเสือดำ)
ขณะที่นายศศิน กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำคำพิพากษาฉบับเต็มมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาว่า มีส่วนบกพร่องส่วนใด เพื่อหาแนวทางในการร่วมอุทธรณ์
"คุณเปรมชัยได้กล่าวคำว่า “ขอโทษ” หลังศาลพิพากษา จะรอลุ้นว่าเมื่อทำผิดแล้วสำนึกยอมรับ เปลี่ยนฝ่ายกลับมาทำดีได้หรือไม่ เพราะเราต้องการให้แสดงออกมากกว่าคำว่าขอโทษ หากทำอย่างนี้สังคมจะได้ประโยชน์กว่า"
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงผลสะเทือนของคดีเสือดำ ทำให้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับใหม่ผ่าน สนช. และมีเนื้อหาในการเพิ่มโทษในแง่ของสัตว์ป่าคุ้มครอง จาก 40,000 บาท ไปถึงระดับแสนบาท และเพิ่มโทษขึ้นต่ำในสัตว์ป่าสงวน คือศาลจะไม่ใช้ดุลพินิจ แต่จะใช้โทษขั้นต่ำ 2 ปี โดนปรับสูงสุดถึงล้านบาท
"เสือดำก็ยังไม่ถูกประกาศให้เป็นสัตว์สงวน ซึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่สัตว์ตัวไหนเป็นที่สนใจ และเข้าเกณฑ์สัตว์ป่าสงวนได้ก็สามารถเสนอให้กรรมการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องเสือดาว เสือดำ ควรเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของทางนักวิชาการที่จะให้คำตอบ"
ทั้งนี้ นายธัชพงศ์ กล่าวว่า เคารพคำตัดสินของศาล แต่ติดใจเรื่องการยกฟ้องข้อหาครอบครองเสือดำของคุณเปรมชัย โดยมองว่าช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมและการเข้าถึงสิทธิในทางกฎหมายของสังคมไทยยังมี อีกทั้ง มองว่า เสือดำเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง เมื่อละลายลงมานั้นกระทบแทบทุกประเด็นในสังคม จึงคิดว่า มาตรการป้องกันและคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเดียวคงไม่พอ ควรมีมาตรการที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ทั้งด้านกฎหมายและชีวิตให้เขาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่