จากใจอัยการ ถึงคดีเปรมชัย ผู้สนับสนุนล่าเสือดำ
ถ้าเราช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความศักดิ์สิทธิ ใช้หลักนิติธรรม แม้ไม่มีประจักษ์พยาน ก็ลงโทษได้ จะหนักหรือเบา ก็เป็นการกระทำผิดกฎหมาย คดีเสือดำจะเป็นคดีตัวอย่าง ไม่ว่าท่านจะมีสถานภาพทางสังคมอย่างไร ทำผิดกฎหมาย กฎหมายไม่เลือกปฏิบัติ สังคม ประชาชน ผู้รักษากฎหมายไม่ยอม ถ้าเราช่วยกัน กฎหมายจะไม่เป็นแค่ตัวหนังสืออีกต่อไป
1 ปีเสือดำ กับคำตัดสินที่รอคอย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีเสวนาขึ้น หลังศาลจังหวัดทองผาภูมิ มีคำพิพากษาคดีลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี เพียง 1 วัน
ในส่วนของกระบวนการต่อจากนี้ คณะทำงานอัยการคดีเสือดำจะได้ขอคัดคำพิพากษาฉบับเต็ม เพื่อพิจารณาโดยละเอียดว่าจะยื่นอุทธรณ์ ต่อไปหรือไม่ ภายในระยะเวลา 30 วัน และหากอัยการทำไม่ทัน สามารถยื่นขอขยายเวลาการยื่นอุทธรณ์ได้อีก นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายขั้นตอน และยืนยันว่า ทั้งหมดต้องรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มออกมาเสียก่อน จากนั้นถึงเริ่มนำคำพิพากษามาวิเคราะห์ จึงเริ่มงานได้
ซึ่งการยื่นอุทธรณ์ จะพิจารณาจาก 1.ศาลไม่ได้ตัดสินตามที่อัยการส่งฟ้อง 6 ข้อหา 2.อัยการโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา 3.พยานหลักฐานที่อัยการโจทก์สืบไว้ สามารถตัดสินลงโทษได้ กรณีนี้ต้องพิจารณาประกอบกัน ระหว่างเจ้าของสำนวนศึกษาและทำความเห็นในชั้นต้นก่อน
“การอุทธรณ์เป็นอำนาจของศาลสูงจังหวัดกาญจนบุรี ชั้นต้นเจ้าของสำนวนจะเสนอความเห็น ควรจะอุทธรณ์หรือไม่ และเสนอต่อไปยังอัยการศาลสูง สั่งว่าจะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์”
คดีเสือดำ เป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจมาก รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมให้โอกาสทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งโจทก์และจำเลย หากคุณเปรมชัย กรรณสูต ที่ตกเป็นจำเลย เห็นว่าโทษหนักไปก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ หรือฝ่ายโจทก์คืออัยการ มองว่าศาลลงโทษคุณเปรมชัยน้อยไป ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ที่เห็นเป็นผู้สนับสนุนล่าสัตว์
“จริงๆ คดีแบบนี้ ถือเป็นคดีทั่ว ๆ ไป อัยการที่อยู่ในเขตป่า เขตอุทยานก็ทำเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ซับซ้อน หากเป็นชาวบ้านมีการยื่นฟ้องเขาก็รับสารภาพ บังเอิญคดีเสือดำเป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคม และสังคมให้ความสนใจ”
นายโกศลวัฒน์ ยืนยันว่า ระเบียบสำนักอัยการสูงสุด เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะคดีเสือดำ เราทำงานเป็นลายลักษณ์อักษร และเซ็นชื่อกำกับ เพื่อยืนยันระบบของเราตรวจสอบสำนวนได้ ฉะนั้นไม่ต้องกลัว ขอให้เชื่อมั่น เราทำงานเป็นระบบ ตรวจสอบได้
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ศาลไทยเป็นระบบกล่าวหา เมื่อกล่าวหาต้องสืบพยานหลักฐานให้ศาลมั่นใจว่ากระทำผิดจริง เมื่อพยานหลักฐานใดที่ศาลสงสัย กฎหมายเขียนว่า ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมให้โอกาสต่อสู้ สองฝ่ายได้สืบพยานได้ต่อสู้คดี
“คนจนคนรวยอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน หากจนสามารถบอกศาลได้ว่า จนไม่มีทนายขอให้ศาลแต่งตั้งทนายให้ได้ หากรวยก็จ้างทนายมาสู้”
การที่ศาลฯ ตัดสินให้จำเลยที่ 1 นายเปรมชัย กรรณสูตร จำคุก 16 เดือน ข้อหาพกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่า จำคุก 8 เดือน และร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 เดือนนั้น รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การที่ศาลสั่งลงโทษจำคุกข้อหาสนับสนุนการล่าสัตว์ แสดงให้เห็นว่า ศาลก็เห็นว่านายเปรมชัยมีการกระทำความผิดจริง และไม่รอลงอาญา
“กฎหมายเป็นแค่ตัวหนังสือ จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ต้องขอบคุณ นายวิเชียร ชิณวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าทำการจับกุม ซึ่งถ้าทุกคนไม่เพิกเฉย เห็นการกระทำผิดกฎหมายแล้วไม่ยอม ลุกขึ้นมาแจ้งเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่เห็นแล้วจับ ฉะนั้น เราอย่าเพิกเฉยกับเหตุร้าย การกระทำผิดกฎหมาย ถ่ายภาพ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
ผมเชื่อว่า ถ้าพวกเราไม่ยอม ไม่เพิกเฉยเราจะดำเนินคดีได้ เราอย่าไปมองว่า คุกมีไว้ขังแต่คนจน ไม่ขังคนรวย ตรงนี้อัยการไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันคนรวย ระดับสูง คนดังของสังคม อัยการฟ้องให้ผิดติดคุกมาแล้วมากมาย อยู่เมืองไทยไม่ได้ก็มี ส่วนใครหนีไม่หนีเป็นฐานะส่วนบุคคล ฉะนั้นกฎหมายไม่เลือกปฏิบัติ วันนี้อยากให้เปลี่ยนทัศนคติ เมื่อคุณเปรมชัย ถูกศาลตัดสินจำคุกได้ แสดงว่า กฎหมายไม่เลือกคนจนหรือคนรวยแล้ว
สังคมไทยลองทบทวนกันหน่อย คำว่า คุกมีไว้ขังคนจน จริงหรือไม่ อย่าได้ให้คำพูดแบบนี้บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเลย ปัจจุบันคดีคอร์รัปชั่น คดีการเมือง อัยการดำเนินคดีแต่คนระดับสูง ติดคุกกันมาแล้วมากมาย แม้แต่อัยการประพฤติมิชอบ เราก็เอาติดคุก เช่นคดีขนนอแรดเข้าไทย”
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า การร่วมกระทำความผิด กับการสนับสนุน อัตราโทษต่างกัน ซึ่งการสนับสนุนโทษแค่ 2 ใน 3 ของการกระทำความผิด ซึ่งต้องไปวิเคราะห์คำพิพากษาศาลว่า ฟังพยานแต่ละปากเบิกความอย่างไร พยานนิติวิทยาศาสตร์ท่านพิจารณาอย่างไร อัยการจะนำมาพิจารณายื่นหรือไม่ยื่นอุทธรณ์ ถ้าอัยการไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา อาจยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิจารณา ข้อหาฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่า เหมือนที่ยื่นฟ้องไปตั้งแต่แรก
“ต้องรอคำพิพากษาฉบับเต็ม สิ่งที่ศาลเห็นว่า คุณเปรมชัย เป็นผู้สนับสนุนการล่าสัตว์นั้น กับหลักฐานที่ปรากฎในสำนวนเป็นอย่างไร ความจริงในที่เกิดเหตุ ไม่มีคนเห็นตอนยิง มีแต่เจ้าหน้าที่เข้าไปพบเห็นอะไร พนักงานสอบสวน รวบรวมให้อัยการ ฉะนั้นไม่ว่า จนหรือรวยเราฟ้องเหมือนกัน ส่วนการต่อสู้คดีก็ว่ากันไป"
คดีอย่างนี้ทั่วๆ ไปในเขตจังหวัดที่มีป่า นายโกศลวัฒน์ มองว่า โดยมากเราฟ้อง ผู้ต้องหารับสารภาพ ส่วนคำว่า “ผมขอโทษครับ” ของนายเปรมชัย ทางกฎหมายไม่ถือว่า เป็นการรับสารภาพ หากจะรับสารภาพต้องไปรับสารภาพในศาล
“แต่ผมขอบคุณคุณเปรมชัย ที่สื่อมวลชนไปถาม แล้วพูดคำว่า ขอโทษ เป็นความรู้สึกทางสังคม ส่วนทางกฎหมายอัยการมีหน้าที่อย่างไรก็ต้องทำต่อไป อัยการไม่สามารถทำงานตามกระแสโซเชี่ยลได้ ทำตามพยานหลักฐานที่ปรากฎสำนวนเท่านั้น เหมือนที่เราทำมาแล้วโดยไม่เลือกปฏิบัติ”
ช่วงท้าย รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังยกตัวอย่างคดีเปรี้ยวหั่นศพด้วยว่า ก็ไม่มีประจักษ์พยานเห็นตอนเปรี้ยวฆ่า หรือหั่นศพ อัยการใช้นิติวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ดังนั้น ถ้าเราช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความศักดิ์สิทธิ ใช้หลักนิติธรรม แม้ไม่มีประจักษ์พยาน ก็ลงโทษได้ จะหนักหรือเบา ก็เป็นการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมกับหวังว่า คดีเสือดำจะเป็นคดีตัวอย่าง ไม่ว่าท่านจะมีสถานภาพทางสังคมอย่างไร ทำผิดกฎหมาย กฎหมายไม่เลือกปฏิบัติ สังคม ประชาชน ผู้รักษากฎหมายไม่ยอม ถ้าเราช่วยกัน กฎหมายจะไม่เป็นแค่ตัวหนังสืออีกต่อไป