จับชีพจร ‘พรรคการเมือง’ กับนโยบายโมดิฟาย ‘การศึกษา’
จับชีพจร 3 พรรคการเมือง ปชป-พท.-อนาคตใหม่ กับนโยบายยกเครื่องระบบการศึกษาไทย เสียงพ้องลดวิชาการ เน้นสร้างทักษะชีวิต สู่การสร้างงานอาชีพ
‘การศึกษา’ ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกประมาณ 7 ล้านคน คาดหวังให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนำไปดำเนินการ และเกี่ยวกับนโยบายนี้ได้ถูกตั้งคำถามขึ้นในเวทีสัญญาประชาคม “พรรคการเมือง ทำอย่างไรประชาธิปไตยจะไม่ล้มเหลวอีก” จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
มี 3 พรรคการเมืองใหญ่ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคอนาคตใหม่ เข้าร่วม ซึ่งคำถามสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ หากได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำอย่างไรให้ประชากรของประเทศได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเติบใหญ่อย่างเหมาะสม
ขยายเรียนฟรีถึง ปวส. ส่งเสริมอาชีวะ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. และอดีตนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามอย่างชัดแจ้ง ยืนยันเป้าประสงค์ของการศึกษายุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมเป็นการให้ข้อมูลสู่การศึกษาที่สร้างทักษะชีวิต
“สมัยก่อนใครไม่ไปโรงเรียนไม่มีทางรู้ อยากรู้เรื่องอะไรต้องไปสอบถามคนรู้หรือหนังสือที่หยิบเรื่องที่อยากรู้ ซึ่งไม่ง่ายทั้งคู่ แต่ยุคปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์ มีไวไฟ ยิ่งอ่านภาษาต่างประเทศออกได้ คิดว่า ข้อมูลไม่ใช่เรื่องยาก”
หัวหน้าพรรค ปชป. จึงมองว่า อนาคตต้องปรับไปสู่การศึกษามุ่งเน้นการสร้างทักษะชีวิต ทักษะสังคม และประโยชน์ที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพการงาน ซึ่งแน่นอนว่า ต้องรื้อหลักสูตรใหม่เกือบทั้งหมด แม้กระทั่งการเรียนสาระพื้นฐาน จะต้องไม่ต้องสอนให้รู้เท่านั้น แต่ต้องสอนให้ใช้ได้ด้วย
“ภาษาอังกฤษ เป็นตัวอย่างดีที่สุด คนไทยยุคหลัง ๆ เรียนไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ ซึ่งแต่ละช่วงชั้นต้องปรับตรงนี้”
พร้อมกันสนับสนุนให้เรียนต่อในระดับอาชีวศึกษา อภิสิทธิ์ เน้นย้ำจึงเป็นเหตุผลให้มีนโยบายขยายเรียนฟรีถึงระดับ ปวส. และให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรอาชีวศึกษามากขึ้น เพื่อความทันสมัย สอดคล้องกับการมีตำแหน่งงานรองรับ
ส่วนหลักสูตรอุดมศึกษานั้น อนาคตจะมีความเป็นสหวิทยาการมากขึ้น พร้อมกับไม่เห็นด้วยให้แยกเรียนสายศิลป์กับสายวิทย์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะวันข้างหน้าเทคโนโลยีและความสร้างสรรค์ต้องมาบรรจบกัน เพื่อสร้างมูลค่า ซึ่งความคล่องตัวตรงนี้ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการแก้ให้เกิดการการกระจายอำนาจออกจากกระทรวง
การศึกษายุคใหม่ ต้องลดวิชาการ
โภคิน พลกุล พรรคเพื่อไทย เปิดฉากเล่าย้อนความหลังเรื่องตลกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ระบุว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2492 เป็นฉบับแรกที่บัญญัติว่า ”เราต้องให้คนที่รับการศึกษามีความคิดเป็นประชาธิปไตย” หลังจากนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดเขียนขึ้นอีกเลย จนกระทั่งฉบับปี 2540 และ 2550 ก่อนฉบับปัจจุบัน 2560 จะหายไป
ถ้าเราได้ติดตามข่าวคราว จะพบว่า “การศึกษาวันนี้ต้องปรับเปลี่ยน” ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันให้มีนโยบาย “ลดเวลาเรียนลง” แต่เกิดการถกเถียงกันว่า เด็กจะไปอยู่ที่ไหน ดังนั้น จึงพบการแก้ปัญหาเหมือนวัวพันหลัก
ปัญหาทั้งหมดยืนยันว่า มาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม การสอนให้เคารพผู้อาวุโส คนมีอำนาจ คนมีเงิน
“ไปเชียงใหม่มีโอกาสได้พูดคุยกับนักศึกษาหลายสถาบัน ทราบว่า ที่นี่มีระบบโซตัสแรงมาก ซึ่งไม่ต้องเชียงใหม่ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังแรง กระทรวงมหาดไทยยิ่งสุดแรง คำถามคือเพราะเหตุใดระบบโซตัสยังอยู่ได้ในยุคนี้ ซึ่งคนมาร่วมคือคนรากหญ้า เนื่องจากอยากหาอภิสิทธิ์ น้องคนหนึ่งบอกว่า จะไปทำงาน มีรุ่นพี่มาช่วยฝากฝัง เพราะไม่งั้นลอยหมด ดังนั้น ระบบนี้เป็นความชั่วร้ายทั้งหมด”
ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การศึกษาสมัยใหม่ ไม่ต้องเป็นวิชาการมาก สิ่งแรกต้องเรียนรู้ คือ รู้จักตนเอง มีเพื่อนฝูง สิ่งที่สอง คือ การรู้จักโลก สิ่งที่สาม คือ การเพิ่มทักษะ และสิ่งที่สี่ คือ การปรับตัว ดังนั้น การศึกษาปัจจุบันไม่ใช่รู้อย่างเดียว แล้วจะเอาตัวรอด เพราะยืนยันว่า “ไม่รอด”
การศึกษาจึงต้องเปลี่ยนเชิงเนื้อหา ไม่ต้องมานับถือว่า ฉันเป็นรุ่นพี่ เป็นรุ่นโน้น หรือรุ่นนี้ แต่อยู่กันด้วยเหตุผล โต้เถียงกันได้
ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาอย่างโรงเรียนต้องร่วมกันระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ ครูไม่อยากให้ผู้ปกครองมาร่วม และไม่อยากฟังนักเรียน ถามว่าแล้วจะอยู่ในยุค 4.0 อย่างไร
“เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม บอกว่า รัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องสุมหัวคุยกันว่าประเทศนี้ บ้านเมืองนี้ สังคมนี้ จะไปในทิศทางใด แต่ไทยกลายเป็นการสื่อสารทางเดียว ดังนั้น ต้องแก้ไขตรงนี้ คิดว่า ไม่ได้เลิกด้วยการบังคับ แต่ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่”
ส่วนในมหาวิทยาลัย โภคิน เสนอว่า ส่วนใหญ่กรรมการสภามหาวิทยาลัย มาจากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ถามว่ามีนักศึกษาเข้าไปนั่งในตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่
“คุณจะบอกให้เรียน แต่ไม่ให้คนอยากเรียนมาบอกว่า คนมาสอนพวกผมไปไม่ได้ จึงเสนอวิธีแก้ระบบ ต้องนำตัวแทนนักศึกษาไปนั่งในกรรมการสภามหาวิทยาลัย” ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ระบุ
ปรับหลักสูตร ลดท่องจำ ยกระดับศูนย์เด็กเล็ก
ชำนาญ จันทร์เรือง ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การศึกษาเป็นประเด็น 1 ใน 3 รากฐานหลักของพรรคอนาคตใหม่ เราใช้คำว่า “ปฏิวัติการศึกษา” โดยพรรคเสนอว่า การปฏิวัติการศึกษาเพื่ออนาคตของลูกหลานไทย ต้องปรับปรุงหลักสูตร ลดการท่องจำ เพิ่มทักษะ เพื่อรองรับอนาคตที่จะเกิดขึ้น ยุบหน่วยงานซ้ำซ้อน ลดอำนาจกระทรวง โรงเรียนบริหารงบประมาณและหลักสูตรเอง
“ในประเทศเจริญแล้ว เช่น สหรัฐฯ หากจำไม่ผิด มีวิชาบังคับเดียวเท่านั้น คือ ประวัติศาสตร์อเมริกัน นอกเหนือจากนั้น ใครอยู่บนภูเขา เรียนเรื่องภูเขา แต่ของไทยปรากฎว่า คนเชียงใหม่เรียนเรื่องทะเล คนทะเลเรียนเรื่องชาวเขา แล้วสอบเหมือนกัน สมัยหนึ่ง คนอยู่บนดอย ถามว่าสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีกี่แห่ง เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นลูกหลานอยากเรียนอะไร ต้องได้เรียนตามที่ต้องการและอย่างมีความสุข”
ทั้งนี้ ในระบบการเรียนการสอนของยุโรป ผู้เรียนในระดับปริญญาคือผู้ที่มุ่งเป็นนักวิชาการ ครูอาจารย์ และเห็นว่า ไทยยังมองข้ามมนุษย์พันธุ์อาชีวะ ซึ่งเป็นผู้สร้างชาติตัวจริง ขณะที่ไปที่ไหนมีแต่คนสอบถามว่า ทำอย่างไรให้มีงานรองรับ ถามว่าเมื่อเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ จะมีงานรองรับได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม พร้อมสนับสนุนการลดภาระเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน และอาหารกลางวันต้องฟรี ไม่ใช่ในฐานะสงเคราะห์ แต่เป็นสวัสดิการ รวมถึงต้องยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ และปรับปรุงโรงเรียนขาดแคลนทั้งหลาย
................................................................
การปรับปรุงแก้ไขระบบการศึกษาไทยเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงปัจจุบันดูเหมือนว่า ยังไม่เสถียรเท่าที่ควร ต้องรอความหวังว่า รัฐบาลใหม่จะมีแอคชั่นในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งไม่แน่อาจมี 1 ใน 3 พรรค ข้างต้น เข้าร่วมผลักดันก็ได้ .
ภาพประกอบ:https://www.gotoknow.org/posts/618044
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/