ให้ลูกหลานไปทัศนศึกษา อย่างปลอดภัย ? .. คำถามใหญ่ ที่ผู้ปกครองขอคำตอบ
"...เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเดินทางไปทัศนศึกษา จึงควรมีข้อพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้ 1.มีการอบรมแนวทาง/คู่มือในการเดินทางไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย 2. สพฐ. มีระบบกำกับติดตามและมีมาตรการลงโทษชัดเจน 3. รัฐบาล พิจารณาทบทวนงบอุดหนุนกิจกรรมเสริมด้วยการไปทัศนศึกษาให้เพียงพอ 4. กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้รถบัสรับจ้างไม่ประจำทาง (หมวด 30) ที่มีการติดตั้ง GPS ต้องปรับให้เป็นระบบที่มีการเตือนความเร็วตามสภาพถนน..."
อุบัติเหตุใหญ่กับรถบัสทัศนศึกษา รร.บ้านโคกน้ำเกี้ยง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งออกเดินทางไปทัศนศึกษาจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ช่วง 21.00 น. และเกิดเหตุรุ่งเช้าวันที่ 18 มีค. 2562 เวลาประมาณ 05.56 น. โดยมีนักเรียน ม.2 เสียชีวิต 1 รายและคณะครูนักเรียนบาดเจ็บ 19 ราย https://mgronline.com/crime/detail/9620000026727
ซึ่งครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุเศร้าสลดกับนักเรียนที่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมเพื่อไปทัศนศึกษา ย้อนหลังไป 5 กับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดกับรถทัศนศึกษา ได้แก่
28 ก.พ. 2557 รร.บ้านดงหลบ จ.นครราชสีมา เดินทางเที่ยงคืน เกิดเหตุสาย 304 เวลาตีสี่ มีนักเรียนและครูเสียชีวิต 15 ราย
8 มี.ค. 2560 รร.พังทุยพัฒนศึกษา จ.ขอนแก่น เดินทาง 21.00 น. เกิดเหตุสาย 304 เวลาตีสาม โดยมีครูและนักเรียนเสียชีวิต 6 ราย
19 ม.ค. 2561 รร.หาดใหญ่วิทยา 2 ออกเดินทางกลางคืน เกิดเหตุที่ อ.เวียงสะ จ.สุราษฎธานี เวลา 6 น. มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย
22 มี.ค. 2561 รร.บ้านโนนใหญ่ จ.กำแพงเพชร นัดเดินทางตีสี่ เกิดเหตุที่อยุธยา มีนักเรียนบาดเจ็บ รวม 39 ราย
เห็นได้ว่า แบบแผนปัญหาของเหตุการณ์ที่ผ่านมาหรือแม้แต่ครั้งนี้ จะมีลักษณะเดียวกันคือ (1) เดินทางช่วงกลางคืน (2) เลือกใช้รถ 2 ชั้น (3) ความรุนแรงนอกจากเรื่องโครงสร้างรถ จะมีผลจากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้กระเด็นหรือหลุดออกมานอกรถ
แม้ทาง สพฐ. จะมีข้อสั่งการเมื่อ 7 มี.ค. 2557 หลังเหตุการณ์สะเทือนใจจาก กรณี รร.บ้านดงหลบ โดยกำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องถือปฏิบัติ ได้แก่ ห้ามเดินทางกลางคืน ห้ามใช้รถ 2 ชั้นเส้นทางเสี่ยง หากมีการพักค้างคืนต้องได้รับอนุญาตจากเขตพื้นที่ นร./ครู ต้องคาดเข็มขัดตลอดเวลา มีแผนฉุกเฉินรองรับ ฯ ซึ่งพบว่าในการเข้มงวดจริงจังได้ระยะหนึ่ง
แต่ช่วงหลังก็ยังคงพบความเสี่ยงในลักษณะเดิม คือ นัดเดินทางกลางคืน ใช้รถสองชั้นในเส้นทางเสี่ยง และที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ กรณีไปทัศนศึกษาเช้าเย็นกลับ (one day trip) ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนจะเลือกวิธีนี้เพราะสะดวก ประหยัด อีกทั้งไม่ต้องรอขออนุญาตจากเขตพื้นที่การศึกษา แต่เนื่องจากสถานที่สำหรับทัศนศึกษาเขตจังหวัดมีจำกัด ทำให้ต้องออกเดินทางข้ามจังหวัด เมื่อต้องเดินทางไกลขึ้น ก็ยังคงเลือกใช้วิธีการนัดเดินทางกลางคืนเหมือนเดิม นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่จะพบกรณีทัศนศึกษาแบบ one day trip คือเลือกรถสองแถว รถหกล้อใหญ่ เพราะมีอยู่ทั่วไป แต่มีความเสี่ยงมือต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัด
จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้มีรากปัญหา ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ การประหยัดงบ เนื่องจากงบอุดหนุนค่าหัวนักเรียนในการเดินทางไปทัศนศึกษาได้รับจำกัด กรณีประถมศึกษา คนละ 240 บาท ต่อภาคเรียน มัธยมต้น คนละ 440 บาทต่อภาคเรียน มัธยมปลาย คนละ 475 บาท ต่อภาคเรียน ซึ่งทางโรงเรียนจะมีค่าใช้จ่ายทั้ง ค่าเช่าเหมารถ (คิดเป็นรายวัน ถ้าเกินเวลาเพิ่มอีก 1 วัน) ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้งบที่ได้รับไม่เพียงพอ ส่งผลให้แต่โรงเรียนต้องหาวิธีประหยัดงบจนกลายมาเป็น “ความเสี่ยง” ในการเดินทาง ได้แก่
1. เส้นทางไกล ก็นัดเด็กมาขึ้นรถกลางคืน เพื่อประหยัดค่าที่พักค้างคืน
2. เลือกรถที่บรรทุกได้จำนวนมาก เช่น รถ 2 ชั้น รวมทั้งมักจะใช้คนขับคนเดียว
3. เลือกเส้นทางที่สั้น (ทางลัด) เพื่อลดระยะเวลาเดินทางและประหยัดน้ำมัน
นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่แต่โรงเรียนมักจะเลือกไปทัศนศึกษาจะเป็นปลาย กุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งนักเรียนสอบปลายภาคและคณะครูก็ไม่มีภาระด้านอื่น ๆ ทำให้ช่วงดังกล่าวมีจำนวนความต้องการเดินทางสูง (Demand สูง) แต่รถบัสที่ปลอดภัย เช่น รถชั้นเดียว มีอยู่มีจำกัด หรือในหลาย ๆ กรณีก็ต้องอาศัยเช่าเหมารถจากจังหวัดอื่นเพราะไม่มีรถ อย่างกรณี รร.บ้านดงหลบ นครราชสีมา ก็ต้องเช่ารถจากขอนแก่น หรือกรณีนี้ รร.บ้านโคกน้ำเกี้ยง ทะเบียนรถ จ.ชัยภูมิ สันนิษฐานว่าเช่าจากชัยภูมิ
ตราบใดที่ยังคงมีนโยบายให้ทุกโรงเรียนต้องมีกิจกรรมเสริมด้วยการไปทัศนศึกษา โดยที่รากปัญหาเรื่องงบอุดหนุนที่จำกัด ตลอดจนระบบกำกับติดตาม ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ก็คงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ปกครองที่จะอนุญาตให้ลูกหลานไปทัศนศึกษากับโรงเรียน และเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเดินทางไปทัศนศึกษา จึงควรมีข้อพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้
1. โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา
1.1 มีการอบรมแนวทาง/คู่มือในการเดินทางไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย พร้อมจัดทำแผนงานในทุกเขตพื้นที่การศึกษา ให้สอดคล้องกับมาตรการที่ สพฐ.กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
1.2 กรณีที่โรงเรียนจัดกิจกรรม one day trip ก็ควรมีการแจ้งเขตพื้นที่การศึกษารับรู้และมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด โดยเฉพาะการเลือกใช้รถที่ปลอดภัย
2. สพฐ. มีระบบกำกับติดตามและมีมาตรการลงโทษชัดเจน กับกรณีที่โรงเรียนหรือเขตพื้นที่มีการฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนดไว้ เช่น เขตพื้นที่ที่การปล่อยปะละเลยให้โรงเรียนนัดเด็กมาเดินทางกลางคืน ซึ่งเป็นความเสี่ยง
3. รัฐบาล พิจารณาทบทวนงบอุดหนุนกิจกรรมเสริมด้วยการไปทัศนศึกษาให้เพียงพอ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ไม่สามารถระดมทุนจากผู้ปกครองได้
4. กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้รถบัสรับจ้างไม่ประจำทาง (หมวด 30) ที่มีการติดตั้ง GPS ต้องปรับให้เป็นระบบที่มีการเตือนความเร็วตามสภาพถนน และ แจ้งเตือนทันทีทั้งกับคนขับและผู้ประกอบการ (real time alert system) รวมทั้ง กรณีที่พนักงานขับรถขับเกินเวลาที่กำหนด
ในขณะที่ เด็กๆ ทุกคน โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างจังหวัดต่างอำเภอ ล้วนใฝ่ฝันอย่างมีโอกาสไปเที่ยวทัศนศึกษากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้นปีละครั้ง แต่เชื่อว่าในใจผู้ปกครองทุกคนที่มาส่งลูกขึ้นรถไปทัศนศึกษา นอกจากเห็นลูกหลานมีความสุขที่ได้ไปเที่ยวทัศนศึกษา แต่เหนืออื่นใดคือการได้ความมั่นใจกับระบบจัดการและเห็นลูกหลานกลับมาบ้านอย่างปลอดภัย .. ซึ่งนี่คือคำถามใหญ่ ที่ยังรอคำตอบ
******************