ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล : กรณีโอนหุ้นให้ blind trust ป.ป.ช.ต้องคิดอ่านละเอียดมากขึ้น
"..กรณีนักการเมืองที่โอนหุ้นในชื่อของตนเองในกิจการครอบครัว เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์โอนหุ้นใน บริษัททรัมป์ ที่เดิมอยู่ในชื่อของตน เข้าไปในกอง Blind Trust นั้น ถึงแม้ว่า กติกากำหนดว่า ผู้บริหารกอง Blind Trust จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการลงทุนทรัพย์สินส่วนนี้แทนทรัมป์ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ ในฐานะผู้ถือหุ้น วันเดียวที่เขาจะมีอำนาจ ก็คือวันประชุมผู้ถือหุ้น คือจะออกเสียงอะไร ก็ไม่ต้องไปถามทรัมป์ ส่วนวันอื่น ไม่มีอำนาจอะไรเลย..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความเห็นต่อกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวเมื่อ 18 มี.ค.2562 กรณีการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนที่ถือหุ้นธุรกิจเครือซัมมิทมูลค่า 5 พันล้านบาทว่าจะใช้แนวทาง Blind trust คือโอนทรัพย์สินไปให้ trust หรือ กองทุน เป็นผู้ดูแล ส่วนใหญ่จะให้ บริษัท phatara asset management ทั้งหมดคือ หุ้นในบริษัทมหาชน ส่วน บ้าน รถ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บไว้ในนามส่วนตัว และยังบอกอีกว่า วิธิการนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ private fund มาก่อน เป็นนวัตกรรมใหม่ ยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณ
ระบุว่า “กรณีนายธนาธรโอนทรัพย์สินของตน 5,000 ล้านบาทเข้ากอง Blind Trust”
ขออธิบายเพิ่ม เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ ว่าทำไมโครงสร้างนี้ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้จริง กรณีเป็นธุรกิจครอบครัว
กรณีนักการเมืองที่โอนหุ้นในชื่อของตนเองในกิจการครอบครัว เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์โอนหุ้นใน บริษัททรัมป์ ที่เดิมอยู่ในชื่อของตน เข้าไปในกอง Blind Trust นั้น
ถึงแม้ว่า กติกากำหนดว่า ผู้บริหารกอง Blind Trust จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการลงทุนทรัพย์สินส่วนนี้แทนทรัมป์ก็ตาม
แต่ในทางปฏิบัติ
ในฐานะผู้ถือหุ้น วันเดียวที่เขาจะมีอำนาจ ก็คือวันประชุมผู้ถือหุ้น คือจะออกเสียงอะไร ก็ไม่ต้องไปถามทรัมป์ ส่วนวันอื่น ไม่มีอำนาจอะไรเลย
เขาอาจจะมีอำนาจมากขึ้น ถ้าหากผู้ถือหุ้นอื่นในครอบครัวเลือกให้เขาเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทแทนทรัมป์ แต่ก็ไม่มีกติกาใดที่บังคับเรื่องนี้
นอกจากนี้ ต่อให้เข้าไปเป็นกรรมการ ก็จะมีเพียงเสียงเดียวในคณะกรรมการเท่านั้น
ส่วนในทางทฤษฎี ที่เขามีสิทธิที่จะขายหุ้นในบริษัททรัมป์ออกไป และเอาเงินที่ได้ไปลงทุนอื่นแทนนั้น ในทางปฏิบัติ ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
ดังนั้น กรณีที่ทรัพย์สินของนักการเมือง เป็นหุ้นในกิจการครอบครัว นอกจากไม่สามารถป้องกันประโยชน์ทับซ้อนได้จริงแล้ว ยังจะมีปัญหาอีกด้วย
เนื่องจากมีภาพภายนอก เสมือนว่ามีเกราะป้องกัน นักการเมืองจึงอาจจะแอบส่งผ่านข้อมูล เพื่อให้กิจการครอบครัวรู้ข้อมูลภายในก่อน และปรับตัวได้ก่อนคู่แข่ง
รวมทั้งนักการเมืองอาจจะออกนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่กิจการครอบครัว โดยทำทีว่าตนเองไม่รู้ว่านโยบายจะมีผลออกมาเช่นนั้น
ดังนั้น ในกรณีกิจการครอบครัว
ป.ป.ช. จึงต้องคิดอ่าน กำหนดข้อบังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจที่ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมกับภาครัฐ และที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของรัฐ
เพื่อให้สื่อมวลชนและภาคประชาชนติดตามป้องปรามประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
วันที่ 19 มีนาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook : Thirachai Phuvanatnaranubala
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
โอนหุ้นให้ blind trust ‘ธนาธร’ไม่ใช่คนแรก 15 รมต. 4 รัฐบาล ‘ชวน-บิ๊กตู่’ทำมาแล้ว
โฉมหน้าหนังสือสัญญาจัดการหุ้น 2 บ. 28 ล. รมว.พาณิชย์ หลังเกิน 5%
เปิดสัญญา“ประดิษฐ-เมียพงศ์เทพ”จ้างบริษัทจัดการพอร์ตหุ้นพันล้าน