คำต่อคำ! นิตินัย แจงเหตุดันประมูลดิวตี้ฟรีใหม่ ยันจบดร.มารู้นิยามเรื่องผูกขาดดี
“...ถ้าทุกคนพูดเรื่องผูกขาด มันก็วนไปอยู่เรื่องเดิม ทั้งๆที่สนามบินภูเก็ตนั้นมันก็ไม่ได้การผูกขาดอะไร ผมเรียนจบดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์มา นิยามคำว่าผูกขาดก็คือต้องมีผู้ขายรายเดียว ซึ่งปัจจุบันมันก็ไม่มีรายเดียวแต่อย่างใด นิยามการผูกขาดคือมีผู้ชี้นำราคาสินค้าได้ แต่ดูกรณีนี้ก็ไม่ได้มีการชี้นำราคาสินค้าแต่อย่างใด เช่นน้ำหอมต่างๆ สุราต่างๆ เขาก็ต้องสู้ราคากับที่ขายในสนามบินอินชอน ชางฮี และถ้าชี้นำได้จริง ป่านนี้คิงพาวเวอร์คงขายแบล็คเลเบิ้ลไปได้ขวดละหมื่นกว่าบาทแล้ว ดังนั้น ต้องขอเรียนว่าโมเดลของเรานั้นเป็นโมเดลเพื่อต้องการให้มีผู้ที่มีความเข้มแข็ง เพื่อที่จะไปแข่งในเวทีโลก...”
"ทอท.ได้ดําเนินการจัดทําข้อกําหนดและรายละเอียดของทั้งสอง โครงการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องในทุกกระบวนการ โดยคํานึงประโยชน์สูงสุดของ ทอท.และประเทศที่จะได้รับ เป็นสําคัญ รวมถึงการที่จะดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่กําหนดให้มีคนนอกร่วมอยู่ใน กระบวนการด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนได้ ทอท.จะรอฟังเหตุผลใหม่ๆก่อนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าหากมีข้อโต้แย้งด้วยเหตุผลใหม่ๆ ทอท.ก็พร้อมจะออกมาชี้แจง โดยคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น จะสามารถชี้แจงข้อสงสัยต่างๆได้หมด และคาดว่าในเดือน ก.ย.น่าจะทราบผู้ชนะการประมูลพื้นที่ได้"
คือคำยืนยันล่าสุดจาก นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (ทอท.) ที่เปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อกรณีปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ ทักท้วงการดําเนินงานของ ทอท.ในการจัดทําข้อกําหนดและรายละเอียดการ ให้สิทธิประกอบกิจการจําหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยาน เชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ โดยเลือกประมูลแบบสัญญาเดียว ว่ามีลักษณะผูกขาด และอาจจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายร่วมทุนที่มีการ ประกาศใช้ใหม่ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : ลั่นศึกษาข้อมูลรอบด้านแล้ว! ผอ.ทอท.ยันเดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรีใหม่-ก.ย.ได้ชื่อผู้ชนะ)
อย่างไรก็ดี ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ยังมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคำชี้แจงของนายนิตินัย เกี่ยวกับโครงการนี้อีกหลายส่วน สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการเพิ่มเติม ณ ที่นี้
ในระหว่างการแถลงข่าว นาย นิตินัย ยืนยันว่า “การทำหน้าที่ของ ทอท.ตอนนี้คือต้องให้ทุกอย่างเคลียร์หมด โดยเฉพาะในเรื่องสัญญาทั้ง 4 สนามบิน วันนี้ผมจะฟังจากสื่อมวลชนที่ไปเขียนข่าวว่าพอเขียนแล้วมีอะไรเป็นข้อโต้แย้งหรือไม่ ซึ่งคาดว่าคงมีคนมาแย้ง แต่เมื่อแย้งแล้วถ้ามันไม่มีอะไร 3 เดือน 6 เดือน เรื่องนี้ก็น่าจะจบ เรื่องนี้เราจะต้องให้เวลาสังคมจนสิ้นสงสัยด้วย เราน่าจะคุยกันด้วยเหตุผล ในตอนนี้ผมไม่ฟังว่าอยากได้อะไรแล้ว เพราะที่ผ่านมาเราฟังว่าพวกท่านอยากได้อะไรแล้ว และเราก็เลยเอาสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์)”
“ถ้าทุกคนพูดเรื่องผูกขาด มันก็วนไปอยู่เรื่องเดิม ทั้งๆที่สนามบินภูเก็ตนั้นมันก็ไม่ได้การผูกขาดอะไร ผมเรียนจบดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์มา นิยามคำว่าผูกขาดก็คือต้องมีผู้ขายรายเดียว ซึ่งปัจจุบันมันก็ไม่มีรายเดียวแต่อย่างใด นิยามการผูกขาดคือมีผู้ชี้นำราคาสินค้าได้ แต่ดูกรณีนี้ก็ไม่ได้มีการชี้นำราคาสินค้าแต่อย่างใด เช่นน้ำหอมต่างๆ สุราต่างๆ เขาก็ต้องสู้ราคากับที่ขายในสนามบินอินชอน ชางฮี และถ้าชี้นำได้จริง ป่านนี้คิงพาวเวอร์คงขายแบล็คเลเบิ้ลไปได้ขวดละหมื่นกว่าบาทแล้ว ดังนั้น ต้องขอเรียนว่าโมเดลของเรานั้นเป็นโมเดลเพื่อต้องการให้มีผู้ที่มีความเข้มแข็ง เพื่อที่จะไปแข่งในเวทีโลก”
เมื่อถามถึงการชี้แจงต่อทางรัฐบาล
นายนิตินัยกล่าวว่า “เข้าใจว่าความเป็นห่วงของรัฐบาลนั้นคงมี 2 ส่วนคือ 1.เรื่องกฎเกณฑ์ กระบวนการ และ 2. ทอท.ทำอะไรอยู่ในระหว่างที่สังคมตั้งครหาว่ากินรวบ 4 สนามบิน ทอท.คิดดูดีหรือยัง ซึ่งผมก็ต้องบอกว่าคิดดูดีแล้ว แต่ต้องขออภัยจริงๆว่าได้ประชาสัมพันธ์ในเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป แต่ขอยืนยันกับทางรัฐบาลว่า ทอท.ได้ทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์และกระบวนการแล้ว แต่ ทอท.จะไม่เร่งแล้วกัน ขอรอชี้แจงให้ชัดเจนกันก่อน อันนี้คือสิ่งที่ผมแปลข้อความจากรัฐบาลว่าเขาต้องการในประเด็นว่าต้องทำให้ถูกต้อง อย่าเร่ง ต้องขอเรียนว่าเราฟังทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลด้วย ไม่ได้มุ่งเน้นจะเดินหน้าอย่างเดียวโดยไม่ฟังใคร”
เมื่อถามถึงขั้นตอนการดำเนินงานรวมถึงประเด็นด้านกฎหมาย
นายนิตินัยกล่าวว่า “ต้องเรียนว่าปกติแล้วการดำเนินงานโดยหน่วยงาน หน่วยงานนั้นถ้าอ่านกฎหมายแล้วไม่มีข้อสงสัยหน่วยงานนั้นก็ดำเนินการ หน่วยงานไหนดำเนินการไปแล้วมีข้อสงสัย ก็จะมีการไปถาม ส่งเรื่องไปให้ตีความทางกฎหมายก่อน ถ้าหากดู พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนซึ่งครอบคลุมในเรื่องกิจกรรมของท่าอากาศยานที่ให้บริการสาธารณะกับโครงสร้างพื้นฐาน นั่นหมายความว่ากิจกรรมการขายของต่างๆในสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีผลไปถึงกิจกรรมท่าอากาศยาน เกี่ยวไปถึงเรื่องการขึ้นลงของเครื่องบินด้วย ซึ่งกรณีนี้มันแตกต่างจากพ่อค้ามานั่งขายไก่ที่หัวลำโพง เพราะการนั่งขายไก่ของเขามันไม่ไปกระทบกับการมาถึงของรถไฟแต่อย่างใด แต่สำหรับสนามบินมันไม่ใช่ ดังนั้น ทอท.ก็จะต้องไปปรึกษากับทางฝ่ายกฎหมายเพื่อให้ทำอะไรให้ถูกต้องด้วย ซึ่งที่ผ่านมาที่ ทอท.จะเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีในวันที่ 19 มี.ค.นั้น เราก็ทำด้วยจิตบริสุทธิ์ เพราะเราอ่านกฎหมายแล้วเราไม่ได้มีประเด็นที่สงสัย เราก็เลยคิดว่าจะดำเนินการไปตามกระบวนการ แต่ขอย้ำว่าเรื่องนี้เราพยายามศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วนแล้ว”
“ที่ผ่านมานั้นคณะรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้คนกลางเข้ามาอยู่ในกระบวนการ ทางด้านของ ทอท.ก็ได้ปฏิบัติตามแล้วเช่นกัน โดยในวันที่มีการชี้แจงคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลนั้น ผู้ที่เป็นคนกลางดังกล่าวนี้ก็จะไปทำหน้าที่นั่งและรับฟังเช่นกัน ส่วนทางกระทรวงคมนามคมถ้าต้องการให้ ทอท.ชี้แจงอะไร ทอท.ก็พร้อมชี้แจงจนให้สังคมเข้าใจ เมื่อเข้าใจได้ชัดเจนจนไม่มีข้อสงสัยแล้ว ก็จะได้ดำเนินกันต่อไป แต่ถ้าไม่เข้าใจก็จะได้มีการสื่อสารให้เข้าใจว่าการดำเนินการเป็นอย่างไร”
เมื่อถามต่อว่าต้องการที่จะได้ผู้ชนะประมูลในช่วงเวลาเท่าไร
นายนิตินัยกล่าวว่า “ส่วนตัวก็คาดว่าในช่วงเดือนกันยายน น่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลได้ ขอเรียนว่าการทำงานนั้นยึดหลักตามกฎหมายและมีการตีความแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะได้ผู้ประกอบการร้านค้ามาแบบผิดๆ”
เมื่อถามถึงกระบวนการให้หน่วยงานกลางเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการพิจารณา
นายนิตินัยกล่าวว่า “ในเรื่องของการมีคนกลางเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ก็มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณารายได้ของทาง ทอท.ขึ้นมา ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณารายได้ที่ว่านี้ก็มีตัวแทนจากทางอัยการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งการที่มีอัยการเข้ามานั้นก็ถือว่าเป็นตัวแทนจากหน่วยงานกลาง ซึ่งจะเป็นกลไกในการคัดเลือกผู้ประกอบการในสนามบินต่อไป นอกจากนี้ในวันที่คัดเลือกนั้นทาง ทอท.ก็จะดำเนินการเอา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้ามามีส่วนในการคัดเลือกด้วย"
เมื่อถามว่าจะมีการเชิญองค์กรต่อต้านทุจริตหรือ ACTเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ประกอบการด้วยหรือไม่
นายนิตินัยกล่าว "ก็คงเชิญมาในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แต่เข้าใจว่าที่ผ่านมานั้น ACT จะไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างมากกว่า เช่นเดียวกับกรณีการใช้ข้อตกลงคุณธรรมก็เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แต่กรณีของ ทอท.นั้นเราไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง แต่เราประมูลขายสิทธิประกอบการ ดังนั้น เราก็อาจจะสับสนกับขอบเขตของ ACT นิดหนึ่งว่าจะมีส่วนในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง"
“ส่วนตัวแล้วมีมูลเหตุเชื่อได้ว่ามีอะไรแปลกๆกับหน่วยงานรวมไปถึงหลายๆสื่อที่จะพยายามมาโจมตี ทอท.ในประเด็นเหล่านี้เหมือนกัน แต่ ทอท.ก็พร้อมจะชี้แจงในประเด็นที่สงสัยต่างๆทุกประเด็นโดยเฉพาะข้อสังสัยในเชิงวิชาการต่างๆ”
เมื่อถามว่าในประเด็นเรื่องการจ้างบริษัทที่ปรึกษานั้นพอจะเปิดเผยชื่อและผลการศึกษาของบริษัทได้หรือไม่
นายนิตินัยกล่าวว่า "เป็นบริษัทไพร์มสตรีท ส่วนเรื่องผลการศึกษาของบริษัทนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมได้แถลงไปแล้ว แต่ความจริงผลการศึกษาของบริษัทนี้นั้นเขามีเป็นตั้ง เพียงแต่พอมีคำวิจารณ์มาทีหนึ่ง ก็ไปศึกษาเพิ่ม”
เมื่อถามว่าในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ดังนั้นมีความกังวลไหมว่าถ้ามีผู้มีอำนาจหน้าใหม่เข้ามาจะทำให้มีเหตุผลหักล้างใหม่ๆเข้ามาอีก จนชะลอการประมูลสิทธิสัมปทานต่อไปได้
นายนิตินัยกล่าวว่า "ข้อหักล้างใหม่ๆนั้นจะต้องมาจากเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ถ้ามาด้วยอารมณ์เราคงไม่ฟัง ขอเรียนตามตรงว่าตัวผมแข็งแรงพอที่จะยึดตรรกกะ จะแพ้ก็ว่าเอาเหตุผลมาหักล้าง ผมจะไม่ไปเปลี่ยนโมเดลการจัดสัมปทานโดยไม่มีเหตุผลเด็ดขาด"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage