ผลโพลล์กับความเป็นจริง
สิ่งที่สาธารณชนจะช่วยทำให้พื้นที่สาธารณะของไทยได้มีเหตุมีผลมากขึ้นในอนาคต คือการตรวจสอบผลลัพธ์ของทุกโพลล์ และตัวบุคคล ตลอดจนสถาบันต้องให้ชี้แจงว่า เพราะเหตุใดผลลัพธ์ของโพลล์จึงแตกต่างจากความเป็นจริงที่เปิดเผยตัวออกมา
วันที่ 17 มีนาคม รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำโพลล์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ว่า
1.โพลล์เป็นหลักคิดและเป็นวิธีการวิจัยที่พยายามเข้าถึงความจริง (truth)ของผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง แต่วิธีการวิจัยของโพลล์มีลักษณะเป็นสถิตย์ (static)ส่วนความเป็นจริงในสังคมมีความเป็นพลวัตร (dynamism)ดังนั้นผลลัพธ์ของโพลล์จึงอยู่ข้างหลังความเป็นจริงตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผลโพลล์กับความเป็นจริงจะเหมือนกันหรือตรงกัน สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ ผลใกล้เคียงกัน
2.การทำวิจัยโพลล์แตกต่างจากการทำวิจัยเรื่องอื่นๆ คือ ความจริงของคะแนนนิยมของคนเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทุกสัปดาห์และทุกเดือน การทำโพลล์เหมือนการวิ่งไล่จับเงาตัวเอง ซึ่งไม่มีโอกาสไล่จับความจริงได้ทัน
3.สาเหตุที่โพลล์ไม่สามารถไล่ตามความจริงได้ทันมาจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้งที่มาจากการนำเสนอนโยบายใหม่ๆ ของแต่ละพรรค ยิ่งกว่านั้นในช่วง 1-3 อาทิตย์สุดท้ายจะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมมากที่สุดจากท่าทีทางการเมืองและวาทกรรมของผู้นำพรรค
4.การทำโพลล์อาจจะแม่นยำขึ้น หากมีการทำโพลล์เป็นระยะยาวพอ ทำให้มองเห็นแนวโน้มของคะแนนนิยมของผู้สมัครในแต่ละเขตได้ นอกจากนี้การเก็บตัวอย่างที่ระดับความเชื่อมั่น 93-95 เปอร์เซ็นต์น่าจะมีเหตุผลพอให้ยอมรับผลลัพธ์ได้ อย่างไรก็ได้ความผิดพลาดจากผู้เก็บข้อมูลในภาคสนามอาจทำให้ความเชื่อมั่นลดลงไปอีก
"ผมคิดว่าการประเมินเชิงคุณภาพโดยอาศัยการรับฟังจาก resource person เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดอคติของนักวิจัยที่มีต่อวิธีการวิจัยที่ถูกเรียกว่า (so-called) วิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์"
5.ผลลัพธ์ของแต่ละโพลล์อาจเป็นชุดความรู้ (knowledge) ใหม่ หรือเป็นแค่วาทกรรม (discourse) หรือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง (political propaganda)ก็ได้ ชุดของความรู้เหล่านี้ต่างต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงพื้นที่สาธารณะในสังคม (public space)โดยมีทั้งโพลล์ที่หวังจะให้สาธารณชนได้ขบคิด ตรึกตรองด้วยเหตุด้วยผล และใช้ปัญญาในการตัดสินใจด้วยตนเอง หรืออาจต้องการครอบครอง ครอบงำและชี้นำให้คนคล้อยตาม
6.เพราะเหตุว่า โพลล์เป็นเพียงชุดความรู้ วาทกรรมหรือการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ยังไม่ใช่ความจริง (truth) ดังนั้นการตัดสินใจทางการเมืองในการเลือกตั้งควรยึดหลักการที่ทำให้บ้านเมืองสงบพอประมาณ คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมหลังการเลือกตั้ง ปัญหาใหญ่ๆของประเทศได้รับความสนใจและจะได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล
7.จากการวิจัย พบถึงความไม่แน่นอนของผลลัพธ์จากการเลือกตั้ง มีเขตเลือกตั้งประมาณ 250 เขตทั่วประเทศที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในเขตเลือกตั้ง ความไม่แน่นอนนี้อาจทำให้ความจริงในวันที่ 24 มีนาคมแตกต่างจากผลลัพธ์ของทุกโพลล์ได้
"ภาคที่ผมพอจะคาดคะเนผลการเลือกตั้งได้บ้างแล้วในขณะนี้คือ กรุงเทพและภาคใต้ปชป.มีโอกาสครองเสียงข้างมาก ภาคอีสานพท.น่าจะได้เสียงส่วนใหญ่ไป ภาคกลางและตะวันออกเป็นของพปชร. ส่วนภาคเหนือพปชร. กับพท.น่าจะได้เสียงใกล้เคียงกัน"
8.สิ่งที่สาธารณชนจะช่วยทำให้พื้นที่สาธารณะ(public space) ของไทยได้มีเหตุมีผลมากขึ้นในอนาคต คือการตรวจสอบผลลัพธ์ของทุกโพลล์และตัวบุคคลตลอดจนสถาบันต้องให้ชี้แจงว่า เพราะเหตุใดผลลัพธ์ของโพลล์จึงแตกต่างจากความเป็นจริงที่เปิดเผยตัวออกมา ทั้งนี้เพื่อลงโทษทางสังคม(social sanction)ต่อบุคคล องค์กรและสถาบันที่ทำงานโดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเพียงพอให้พ้นไปจากพื้นที่สาธารณะ