จับตาไม่ให้ใครโกง 3 โครงการรัฐ ...
"...การประมูลโครงการนี้ล่าช้าจากกำหนดปลายปี 2561 มาจนปัจจุบัน เหตุที่สะดุดอยู่เพราะอภิมหาเอกชนรายนั้นได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจากเงื่อนไขการประมูล เป็นเงื่อนไขลับที่อันตรายเพราะขัดหลักการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และเปิดช่องให้มีการฟ้องเรียกค่าโง่จากรัฐได้ในภายหลัง..."
จับตา 3 โครงการระดับแสนล้าน ที่อาจถูกสอดไส้ – ลักไก่ – เร่งอนุมัติหรือแก้เงื่อนไขเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ ตามที่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐออกมาประสานเสียงกับกลุ่มทุนใหญ่สร้างข่าวที่ทำให้สังคมหลงประเด็น
โครงการใหญ่ที่ต้องเฝ้าจับตา
1. การประมูลรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2.24 แสนล้านบาท เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – สัตหีบ พ่วงด้วยสิทธิการบริหารที่ดินเชิงพาณิชย์รอบสถานีที่จะสร้างขึ้นใหม่ เช่น มักกะสัน ศรีราชา มีระยะเวลา 50 ปี
การประมูลโครงการนี้ล่าช้าจากกำหนดปลายปี 2561 มาจนปัจจุบัน เหตุที่สะดุดอยู่เพราะอภิมหาเอกชนรายนั้นได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจากเงื่อนไขการประมูล เป็นเงื่อนไขลับที่อันตรายเพราะขัดหลักการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และเปิดช่องให้มีการฟ้องเรียกค่าโง่จากรัฐได้ในภายหลัง
2. การประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน (สุวรรณภูมิ หาดใหญ่ เชียงใหม่และภูเก็ต) รวมทั้งสิทธิ์เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดภาษี (Pick - Up Counter) ที่นักท่องเที่ยวซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในเมือง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจนี้มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี
กว่าสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยเสียโอกาสหารายได้และสร้างชื่อเสียงด้านนี้ไปมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้มียอดขายสินค้าปลอดภาษีมากกว่าไทยถึง 5 เท่า และให้ส่วนแบ่งกับรัฐราวร้อยละ 38 ขณะที่ไทยให้เพียงราวร้อยละ 15 ซึ่งหมายถึงเงินที่จะนำมาพัฒนาประเทศต้องขาดหายไป เกิดการรั่วไหล เอาเปรียบรัฐ เกิดการผูกขาด โดยเชื่อว่าเป็นเพราะมีการสมรู้ร่วมคิดกัน และจงใจละเลยในการควบคุมตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นการประมูลครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อความโปร่งใส เปิดกว้างและเป็นธรรมให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
3. กสทช. ดันมาตรการอุ้ม 3 บริษัทมือถือเจ้าของสัมปทาน 4 จี ให้ยืดการชำระค่างวดสัมปทานออกไปมูลค่ารวมกันกว่าแสนล้านบาท ทั้งๆ ที่ทุกรายมีผลประกอบการงดงาม ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ โดยผู้บริหาร กสทช. ให้เหตุผลสนับสนุนว่าจะช่วยให้เอกชนมีเงินทุนมากพอมาร่วมประมูลโทรศัพท์ 5 จี สอดคล้องกับเอกชนรายหนึ่ง ขณะที่เอกชนอีกสองรายคือ ดีแทคและเอไอเอส ไม่ได้กล่าวอ้างเช่นนั้น
ความพยายามที่จะ “ให้” เอกชนยืดการชำระเงินค่างวดนี้ทำไม่สำเร็จมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อกลางปี 2561
ความยุติธรรมและการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เป็นเหตุผลหลักในการต่อต้านความพยายามของ กสทช. และเอกชนบางราย ขณะที่วงการธุรกิจต่างตั้งคำถามว่า ยังจำเป็นอยู่หรือที่ประเทศไทยต้องมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแค่ 3 รายเดิมนี้เท่านั้น
ดร. มานะนิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
หมายเหตุ : ภาพประกอบดิวตี้ฟรีจาก http://www.thansettakij.comm
ภาพประกอบรถไฟฟ้าความเร็วสูงจาก https://news.mthai.com
ภาพประกอบเสาสัญญาณจาก https://pixabay.com