เก็บตกเวที 9 ปีความรุนแรง...แนวคิดโดดเดี่ยวขบวนการของทหาร กับเรื่องเล่าจาก"ยูแว"
"ทีมข่าวอิศรา"เก็บตกประเด็นน่าสนใจจากเวทีสาธารณะหัวข้อ "9 ปีความรุนแรงภาคใต้ อัศจรรย์ความรู้ในแดนเนรมิต" ซึ่งจัดโดย แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันศุกร์สุดท้ายปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนตัล กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ผู้ร่วมเวทีจากหลากหลายฝ่ายนำเสนอและน่านำมาบันทึกไว้ก็คือ "ทางเลือก-ทางรอด" ของปัญหาความไม่สงบในดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่ยืดเยื้อมานานร่วม 1 ทศวรรษ
ชูกระจายอำนาจ-สันติสนทนา
ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เสนอว่า
1.นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 ถึงเดือน พ.ค.2555 เกิดเหตุรุนแรงขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 1.4 หมื่นคน สถิติความรุนแรงหลังปี 2550 มีแนวโน้มลดลง เหลือเฉลี่ยเดือนละ 60-100 ครั้ง แต่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกลับไม่ได้ลดลง สะท้อนได้ว่าความรุนแรงยังคงมีอยู่และจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องยาวนาว
2.ปัญหาชายแดนภาคใต้จะยังไม่สามารถแก้ไขได้ตราบใดที่ยังเข้าไม่ถึงรากเหง้าแกนกลางของปัญหา คือ เรื่องความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ และศาสนา ซึ่งเกิดปฏิกิริยาขึ้นพร้อมๆ กัน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ความยากจน ยาเสพติด ด้วย
3.รัฐทุ่มเทกองกำลังความมั่นคงลงไปในพื้นที่จำนวนกว่า 1.5 แสนคน ทั้งทหาร ตำรวจอาชีพ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และกองกำลังกึ่งทหาร แต่ผลที่ตามมากลับไม่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
4.ทางเลือกและทางรอดต่อสถานการณ์ความไม่สงบนี้ มีหลายภาคส่วนได้นำเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจไว้หลายโมเดล แต่ยังอยู่ในขั้นตอนที่ทุกฝ่ายต้องพูดคุยหาข้อสรุปร่วมกัน อีกแนวทางหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าของรัฐก็คือ นโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เริ่มยอมรับในความแตกต่างของคนในพื้นที่และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีการพูดคุยกันในรูปแบบ "สันติสนทนา" (Peace Dialogue)
ทหารแนะโดดเดี่ยวขบวนการ!
พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช ตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เสนอว่า
1.พื้นที่ชายแดนภาคใต้มีความโดดเด่นในแง่อัตลักษณ์ แต่นโยบายของรัฐบางอย่างกลับเป็นการทำลายความแตกต่างเพื่อสร้างความเหมือน จนทำให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งที่ความแตกต่างเหล่านั้นคือต้นทุนสำคัญของสังคม
2.ทางออกของปัญหาความไม่สงบคือรัฐต้องหาทางกุมสภาพพื้นที่ให้ได้ ต้องได้ใจประชาชนเพื่อให้ขบวนการถูกโดดเดี่ยว ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐเองก็ต้องมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกันและเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมตรวจสอบได้
3 เงื่อนไขกับ 5 ทางแก้
นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้และชนต่างวัฒนธรรม สมช. เสนอว่า
1.ปัญหาในพื้นที่ที่นำไปสู่ความรุนแรงเกิดจาก 3 เงื่อนไขด้วยกัน คือ
- เจ้าหน้าที่รัฐบางคนไม่เข้าใจอัตลักษณ์และวัฒนธรรม
- กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการแบ่งแยกดินแดน
- อิทธิพลอำนาจมืด อาทิ ขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน
2.แนวทางแก้ไขมี 5 เรื่องสำคัญ คือ
- การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหา
- ไม่ควรใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาเพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น และเพิ่มความเกลียดชังมากขึ้น
- ไม่ควรไปเปลี่ยนความเชื่อของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ความเชื่อเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ควรชวนกลุ่มคนที่มีแนวคิดเหล่านี้มาเลือกแนวทางต่อสู้แบบสันติ
- ต้องสร้างสมดุลของอำนาจระหว่างข้าราชการจากส่วนกลางกับข้าราชการในพื้นที่
- ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐ กลไกภาครัฐต้องบูรณาการ
มุ่งแก้การศึกษา-สร้างพื้นที่ปลอดภัย
ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) เสนอให้มีการทำงานร่วมกันในเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาจะทำให้เห็นรากเหง้าของปัญหา และในพื้นที่ยังมีความไม่รู้อยู่เยอะมาก จนเกิดอคติต่อกัน แต่การศึกษาจะเปลี่ยนอคติให้กลายเป็นความเข้าใจ และก้าวไปสู่สันติภาพได้
นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน สื่อมวลชนอาวุโสจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เสนอว่าต้องหนุนเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งด้วยตัวเองมากขึ้น คนในพื้นที่ต้องกล้าพูด กล้าแสดงความเห็น และต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย เพื่อให้ได้ข้อเสนอจากคนช้างล่างและเกิดทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา เพราะหากพูดแล้วไม่ปลอดภัยก็ย่อมไม่มีใครกล้าเสี่ยง
เรื่องเล่าจาก "ยูแว"
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมไทยยังไม่ได้ใช้ "ความรู้" ในการแก้ปัญหาภาคใต้ แม้จะมีการใช้ "ข้อมูล" แต่ก็ไม่นับเป็นความรู้ที่แท้จริง ยกตัวอย่างจากงานวิจัยของ ดันแคน แม็คคาร์โก นักวิชาการเยอรมัน ได้ให้ข้อสรุปของปัญหาเอาไว้ว่า ความขัดแย้งถึงตายนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาความชอบธรรม และปัจจุบันรัฐไทยหมดสิ้นแล้วซึ่งความชอบธรรมที่จะเผชิญกับผู้ก่อการ จึงจำเป็นต้องหาหนทางสถาปนาสายสัมพันธ์ความชอบธรรมระหว่างอำนาจส่วนกลางคือ "กรุงเทพฯ" กับ "ปาตานี" เสียใหม่
นอกจากนั้นยังมี "เรื่องเล่าจากยูแว" (ยูแว หมายถึงกลุ่มผู้ก่อการในขบวนการก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ; อธิบายความหมายโดยกองบรรณาธิการ) ) ว่า พวกเขาไม่ได้รับเงินจากต่างประเทศ ปืนที่ใช้ก็มีแค่ไม่กี่กระบอก มือปืนก็มีไม่กี่คน และปืนเวียนกันใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สาเหตุที่เขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐไทยโดยใช้ความรุนแรงเพียงเพราะต้องการให้มีคนหันมาสนใจ เนื่องจากที่ผ่านมาเขาต่อสู้โดยไม่มีใคร แต่เมื่อมีเสียงปืนเสียงระเบิดจึงมีคนหันมามอง และองค์กรต่างประเทศหันมาสนใจมากขึ้น
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ความรุนแรงในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สามารถเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ในโลก แนวทางในการเผชิญกับปัญหาความรุนแรงภาคใต้มีหลายข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น สันติสนทนา ซึ่งแตกต่างจากการเจรจาสันติภาพ, การใช้รูปแบบเขตปกครองตนเอง แต่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน รวมถึงการศึกษาแนวทางรัฐเดี่ยวที่เป็นประชาธิปไตยแต่มีเขตปกครองพิเศษ เช่น อังกฤษ เวลส์ และสก๊อตแลนด์ เป็นต้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพหลุมระเบิดที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากศูนย์ภาพเนชั่น