“ธีรยุทธ” ชี้ปมปัญหาคนชายขอบ เพราะไร้ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน
“ธีรยุทธ” ชี้ปมปัญหาคนชายขอบเกิดจากประวัติศาสตร์บิดเบี้ยว-รวมศูนย์ส่วนกลาง เสนอใช้วัฒนธรรมเสรีแก้ปัญหาความรุนแรง “กฤตยา” ยกคดีโลกร้อน-แรงงานข้ามชาติคือความล้มเหลวรัฐในการแก้ปัญหา
วันที่ 2 ก.ค. 55 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการประจำปี 2555 ครั้งที่ 8 “ประชากรและสังคม” หัวข้อ ประชากรชายขอบและความเป็นธรรมในสังคมไทย ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ โดย ศ.ธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนชายขอบในสังคมไทยเกิดจากโครงสร้างการขับเคลื่อนที่ยึดติดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐ ทำให้คนชายขอบถูกกีดกันออกจากสังคม อีกทั้งการเขียนประวัติศาสตร์ที่โน้มเอียงชนชั้นสูง ทำให้ไทยไม่มีประวัติศาสตร์ภาคประชาชน เช่น พระ นักคิด นักจิตวิทยา นักประวัติศาสตร์ ปราชญ์ชาวบ้าน จึงทำให้ทรัพยากรกระจุกตัวไม่กระจายอำนาจ
นอกจากนี้อ.ธีรยุทธยังกล่าวว่าการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยไม่ยอมรับความแตกต่างวิถีชีวิตวัฒนธรรมมุสลิม ยึดติดประวัติศาสตร์รวมศูนย์ ละเลยท้องถิ่น ความพยายามแก้ปัญหาด้วยความส่งเสริมความรักชาติในปัจจุบันมีความขลังน้อยลงเพราะมิสามารถต้านทานข้อมูลข่าวสารที่ไหลลื่นในระบบโลกาภิวัฒน์ ชนชั้นไม่สามารถกุมอำนาจข้อมูลข่าวสารได้อย่างในอดีต ดังนั้นควรแก้ไขปัญหาโดยใช้วัฒนธรรมเสรี ส่งเสริมให้คนอดทน อดกลั้น และเคารพความแตกต่าง
ด้านรศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผอ. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงานข้ามชาติ หรือตัวอย่างคดีโลกร้อน ล้วนสะท้อนความเป็นธรรมที่คนชายขอบในสังคมไทยได้รับ คนจน คนด้อยโอกาสถูกมองว่าแตกต่างและถูกกีดกันจากความช่วยเหลือในสังคมระบบอุปถัมภ์ สังคมไทยยังมีแนวโน้มเชื่อผู้นำยกย่องผู้มีบารมี และให้ความสำคัญกับความสูงต่ำทางชนชั้น มากกว่าสิทธิเสรีภาพอันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์
รศ.ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวถึงภาพรวมชนกลุ่มน้อยในสังคมไทยว่ามีมากถึง 303,610 คน กระจายอยู่ตามชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันตก แม้รัฐไทยจะมีนโยบายให้สถานะทางทะเบียนเพื่อพิสูจน์สิทธิบุคคล แต่คนกลุ่มนี้ก็ถูกจัดเป็นพลเมืองชั้นสองโดยไม่ได้รับสิทธิด้านสวัสดิการและไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับสิทธิสัญชาติไทย การศึกษา การรักษาพยาบาล ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ นอกจากนี้ยังถูกมองจากรัฐไทยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นต้นตอการแพร่ระบาดยาเสพติด
ส่วนคนไร้สัญชาติพบการกระจายตัวส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดแถบชายแดนพม่า ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ระนอง และแม่ฮ่องสอนถึง 210,182 คน ซึ่งจำนวนนี้มีเด็ก 27,994 คนไม่มีใบเกิดหรือไม่ได้สัญชาติ จึงไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานของประชากรไทย
ขณะที่ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิจัยอาวุโสเอเชียตะวันออก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อและสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยเฉพาะประเด็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาวโรฮิงญาจากพม่า และชาวขแมร์กรอมจากเวียดนาม เพราะประเทศแถบอาเซียนไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และยังไม่มีนโยบายให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัย แต่เน้นเรื่องความมั่นคงของชาติ จึงเข้มงวดควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว ทำให้ขาดการแก้ไขปัญหาถาวร ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างแอฟริกาและละตินอเมริกาที่สามารถคลี่คลายปัญหาและผลักดันออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องลี้ภัย
นักวิจัยอาวุโสเอเชียตะวันออก กล่าวต่อว่า แม้ประเทศอาเซียนจะพยายามแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนในอดีตโดยให้ผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม แต่ด้วยปัจจุบันการเมืองแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทำให้วิธีดังกล่าวเริ่มไม่ได้ผล จึงเสนอให้กำหนดแนวทางคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ลี้ภัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยไทยต้องพัฒนาความเป็นสากลผ่านช่องทางผ่อนคลายกฎระเบียบบางข้อ เช่น จัดสรรที่ดินบางส่วนให้ผู้ลี้ภัยทำเกษตรกรรม เพื่อพึ่งตนเองและสร้างรายได้ หรือร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาฝีมือแรงงาน.