วิพากษ์ นโยบายโค้งสุดท้าย พปชร. "ประเทศไทยต้องรวย" หรือหนทางเสี่ยงวิกฤติ ศก.รอบใหม่?
"...ผมมองว่านโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เเจกเงินเเจกผลประโยชน์มหาศาล จะกระทบกับวินัยการเงินการคลังของประเทศ ผมลองคำนวนคร่าวๆ เม็ดเงินที่พรรคพลังประชารัฐต้องใช้อาจสูงถึง 6 เเสนล้านบาท และต้องหามาเพื่อสนับสนุนในแต่ละปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณในปัจจุบันที่มีประมาณ 2 ล้านล้านบาทถึง 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 30 ซึ่งไม่มีทางที่จะหารายได้มาชดเชยได้เพียงพอ รัฐบาลคงจะต้องเพิ่มเพดานเงินกู้ เพิ่มหนี้ของประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายเหล่านี้ได้ สุดท้ายเขาก็ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยเงินกู้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวินัยการคลังของประเทศอย่างมหาศาล และแน่นอนว่าด้วยว่าจะกระทบ SME ที่มีอยู่ในประเทศไทยถึง 3 ล้านราย..."
สืบเนื่องจากที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคฯ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคฯ ร่วมกันแถลงเปิดตัวนโยบายโค้งสุดท้าย "ประเทศไทยต้องรวย ด้วยพลังประชารัฐ"
โดยนายอุตตม กล่าวตอนหนึ่งว่า "จะผลักดันค่าแรงงานขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน อาชีวศึกษา 18,000 บาทต่อเดือน และปริญญาตรีจบใหม่ 20,000 ต่อเดือน ทั้งหมดไม่สูงเกินไป นโยบายเราเน้นเรื่องคุณภาพ ต้องทำให้คนมีความหวัง คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี และจะยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปี ยกเว้นภาษีค้าขายออนไลน์ 2 ปี สินเชื่อ 1 ล้านบาทต่อโชห่วย"
ส่งผลทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากคนในสังคมเป็นอย่างมาก ว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่? ถ้าทำจริงแล้วจะเกิดผลตามมาอย่างไร?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อนโยบายเหล่านี้ เพื่อนำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบ และใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณารับฟ้องข้อมูลนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ในช่วงเวลาโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.2562 นี้
สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
@ สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"ผมมองเลยว่าการขึ้นค่าแรงแบบนี้นั้นมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน โดย 1. กระทบภาคธุรกิจ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันถูกบีบจากธุรกิจขนาดใหญ่ให้มีกำไรต่ำ จะยิ่งได้รับผลกระทบ ค่าเเรงเพิ่ม เเต่รายได้เท่าเดิม ผมได้พูดคุยกับผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME หลังจากมีข่าวออกมา เขาบอกเลยว่ารับไม่ไหวกับการขึ้นค่าแรงโดยทันที 100 กว่าบาทแบบนี้ การที่มีนโยบายแบบนี้ออกมานั้นมันทำให้เขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเลยว่าจะลดคนงานหรือไม่ก็หนีไปประเทศอื่น หรือไม่ก็เอาเครื่องจักรเข้ามาทำงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะในหลายอุตสาหกรรมเช่นเสื้อผ้าที่ค่าเเรงคิดเป็น 60% ของต้นทุน"
"2.อุตสาหกรรมเราจะไม่มีความสามารถในการเเข่งขัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เเรงงาน มีต้นค่าเเรงในสัดส่วนสูง เช่นเเปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องนุ่งห่ม จะได้รับผลกระทบอย่างหนักกระทบถึง supply chain ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ที่ราคาสินค้าเกษตรอาจจะลดต่ำลง เนื่องจากขาดความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ ภาคการค้าเเละบริการขาดสินค้าในประเทศ เช่นธุรกิจค้าส่งเครื่องนุ่งห่มที่ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำในโลก อาจจะไม่สามารถหาสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตในประเทศได้อีกต่อไป"
"ดังนั้นผมมองว่านโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เเจกเงินเเจกผลประโยชน์มหาศาล จะกระทบกับวินัยการเงินการคลังของประเทศ ผมลองคำนวนคร่าวๆ เม็ดเงินที่พรรคพลังประชารัฐต้องใช้อาจสูงถึง 6 เเสนล้านบาท และต้องหามาเพื่อสนับสนุนในแต่ละปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณในปัจจุบันที่มีประมาณ 2 ล้านล้านบาทถึง 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 30 ซึ่งไม่มีทางที่จะหารายได้มาชดเชยได้เพียงพอ รัฐบาลคงจะต้องเพิ่มเพดานเงินกู้ เพิ่มหนี้ของประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายเหล่านี้ได้ สุดท้ายเขาก็ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยเงินกู้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวินัยการคลังของประเทศอย่างมหาศาล และแน่นอนว่าด้วยว่าจะกระทบ SME ที่มีอยู่ในประเทศไทยถึง 3 ล้านราย"
นายสุทธิกร ยังกล่าวต่อว่า "สิ่งที่สำคัญกว่าควรจะเป็นการเพิ่มทักษะของแรงงาน ไม่ใช่เอาเงินมาจ่ายเพิ่มขี้น แต่กลับไปทำให้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น ถ้าแบบนี้ก็เป็นเงินเฟ้อมากขึ้น ผมว่าถ้าหากแรงงานมีความเหมาะสมนั้น ภาคเอกชนเขายอมจ่ายค่าแรงให้แพงอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีความสามารถอะไรเลย แล้วอยู่ดีๆมาเพิ่มค่าแรงโดยจ่าย 425 บาทนั้น ตรงนี้ถือว่าผิดนโยบายมาก"
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมาแบบกรณีต้มยำกุ้งในปี 2540 นายสุทธิกรกล่าวว่า "เป็นไปได้ เพราะว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นี้นั้นจะส่งผลให้มีคนตกงานเพิ่มมากขึ้นแน่นอน บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในไทย เขาสามารถเปรียบเทียบค่าแรงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ถ้าค่าแรงที่ไทยไม่คุ้มกับกำไรแล้ว เขาก็จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นเลย หรือแม้แต่เอสเอ็มอีไทยเองถ้ารายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าจ้างเพิ่มก็อาจจะพิจารณาลดการจ้างงาน โดยใช้เครื่องจักรมาแทนที่หรือย้ายฐานการผลิต ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นสรุปได้ว่าจะทำให้การจ้างงานอาจจะหายเป็นล้านตำแหน่งได้ และผนวกกับสงครามการค้าระหว่างประเทศที่เข้มข้นอาจจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย จนสามารถก่อให้เกิดวิกฤติได้"
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
@ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
"ผมว่าถ้ามองตามหลักวิชาการก่อน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นมีข้อดี 2 ประการ คือ 1.การยกระดับความเป็นอยู่ เพราะค่าแรงขั้นต่ำเป็นตัวรับประกันว่าแรงงานจะได้เงินในระดับนี้แน่ และ 2.เป็นตัวรับประกันในด้านความมั่นคงทางเศรษฐศาสตร์ เพราะการขึ้นค่าแรงนั้นบังคับให้ผู้ประกอบการนั้นต้องมีการงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามมาด้วย โดยอาจจะเป็นเรื่องการลงทุน การทำให้ตัวเองมีเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อจะสามารถนำเงินมาจ่ายค่าแรงได้"
"อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าแรงนั้นควรจะสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ โดยดูว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีโตเท่าไร ค่าแรงก็ควรโตเท่านั้น เช่นจีดีพีโต 3-4 เปอร์เซ็นต์ แต่ค่าแรงไปโตมากกว่านั้นก็ไม่เหมาะสม"
"กลับมาที่คำถาม ค่าแรงในปัจจุบันเราอยู่ที่ 300 บาทกลางๆ แต่พอเอาค่าแรงขึ้นไปถึง 400 บาท ถือเป็นการขึ้นค่าแรงที่ค่อนข้างเยอะ เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ ดังนั้น จึงเป็นจุดชี้ว่าเป็นการเติบโตของอัตราค่าแรงสูงกว่าจีดีพีแน่ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่มีทางโตถึง 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างปีที่ผ่านมาเราโตแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจซึ่งจะนำไปสู่การเลิกจ้างงานได้ ซึ่งการทำธุรกิจนั้นมันไม่ใช่ทุกคนแน่นอนที่จะได้เงิน 400 กว่าบาทนี้มันจะต้องมีหลายคนที่จะไม่ได้งานเพราะธุรกิจไม่สามารถที่จะจ้างได้"
"ผลกระทบทางธุรกิจนั้นผมมองเห็นอยู่ 2 ประการคือประการแรกนั้นก็คือเมื่อไรก็ตามที่รัฐได้ขึ้นค่าจ้าง ก็หมายความว่าจะต้องมีการขึ้นค่าแรงกันทั้งหมดในบริษัทนั้นตามไปด้วย เช่นแรงงานที่มีทักษะมากกว่าสมัยก่อนเขาได้เงิน 450 บาท แต่แรงงานหน้าใหม่ได้เงิน 350 บาท แต่พอมาปรับค่าแรงขั้นต่ำ คนที่เขาเคยได้เงิน 450 บาท เขาก็ต้องได้รับค่าแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย และตรงนี้ก็จะลามไปถึงคนทำงานระดับปริญญาตรี โท เอก ที่เขามีฐานเงินเดือนเดิมอยู่แล้ว เงินที่เขาได้รับก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะมีจุดอันตรายก็คือต้นทุนภาคธุรกิจนั้นสูงขึ้นมากกว่าเงิมมากในทุกระดับ"
"ประการที่ 2 เมื่อค่าแรงขึ้นสูง ธุรกิจที่มีการจ้างงานสูงแต่มีกำไรต่ำ จะได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะ SME ต่างๆที่เป็นเสมือนฟันเฟืองเศรษฐกิจไทย ดังนั้นเขาต้องดูด้วยว่าผู้ประกอบการจะทำอย่างไร"
"อีกประเด็นที่มีความเสี่ยงก็เพราะผู้ประกอบการมีการนำเข้าเทคโนโลยีเข้ามาค่อนข้างมาก จนในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่จะแทนแรงงานคน ดังนั้น ถ้ามีกระบวนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะไปเร่งกระบวนการนำเข้าเทคโนโลยีเหล่านี้ตามมาด้วย และปัญหาสังคมก็จะตามมา อาทิ ในเรื่องการไม่จ้างงานคนไทย"
"หากดูอัตราการว่างงานคนไทยนั้นจะพบว่าแม้อัตรานี้จะต่ำแต่คนทำงานในประเทศไทยนั้นมี 2 กลุ่มคือ 1.งานที่มีสวัสดิการ ที่มีการคุ้มครองตามกฎหมาย และ 2. กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบที่มี่ในเรื่องกฎหมายสวัสดิการคุ้มครอง ซึ่งรวมไปถึงแรงงานภาคเกษตรด้วย ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมันจะไปมีผลบังคับต่อแค่ในกลุ่มที่ 1 เท่านั้น แต่ในกลุ่ม ที่ 2 จะมีช่องว่างทางกฎหมายที่จ่ายเงินให้เขาโดยไม่เต็มได้ อีกทั้งหากเกิดกรณีการเลิกจ้างจากกลุ่มที่ 1. ก็จะทำให้แรงงานไหลเข้ามาสู่แรงงานกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น หรือบางคนก็เป็นแรงงานตามสัญญา แต่พอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เขากลับถูกลดสัญญาการจ้างงานแบบเหมาลง"
เมื่อถามว่า นโยบายเหล่านี้จะนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ นายนณริฏ กล่าวว่า "ต้องดูด้วยว่าภาครัฐจะชดเชยให้ธุรกิจอย่างไร ซึ่งส่วนมากภาครัฐที่ผ่านมาจะมีแพคเกจต่างๆเพื่อช่วยภาคธุรกิจในเรื่องการลดภาษีเงินได้เพื่อลดภาระให้กับทางภาคธุรกิจ ทำให้กำไรภาคธุรกิจมันเพิ่มขึ้น เขาจะได้เอาเงินไปจ่ายให้กับแรงงานแทน แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ทางการคลังของประเทศก็ต้องรับภาระด้วย"
"ประเทศไทยในตอนนี้ต้องยอมรับว่ามีช่องว่างในการก่อหนี้ค่อนข้างสูงเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามเพดานการก่อหนี้ที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่เรามีไว้เพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินเช่นวิกฤติเศรษฐกิจโลก อีกทั้งเรายังมีเครดิตที่ดี มีเงินทุนสำรองที่เหมาะสมเพื่อจะเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตามนโยบายนี้นั้นเป็นนโยบายที่จะก่อหนี้อยู่แล้ว ถ้าหากใช้นโยบายที่ว่านี้แล้วเราเกิดเจอวิกฤติเศรษฐกิจโลกขึ้นมาจริงๆ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหามาก"
"ก็เปรียบกับบ้านเราที่เรามีลูกบ้าน เราเตรียมเงินเอาไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ลูกบ้านป่วย ไฟไหม้ แต่อยู่ดีๆ เจ้าบ้านเอาเงินไปปรนเปรอลูกบ้านหมดแล้ว พอถึงเวลาเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมา เราก็ไม่มีเงินมากู้สถานการณ์ แต่พอถึงเวลานั้นจริง รัฐบาลที่ใช้นโยบายดังกล่าวนี้ก็คงไม่อยู่รับผิดชอบแล้ว"
---------------
ทั้งหมดนี่ เป็นมุมมองจาก 2 นักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อนโยบายโค้งสุดท้าย "ประเทศไทยต้องรวย ด้วยพลังประชารัฐ" ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ ว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่? ถ้าทำจริงแล้วจะเกิดผลตามมาอย่างไร?
ซึ่งมุมมองที่ได้รับทราบนับเป็นใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/