ป.ป.ช.โอน 15,000 สำนวน ‘ไม่ยุ่งยาก-ซับซ้อน’ ให้ ตร.สอบ-ค่าตอบแทน 3-8 พันบ.
สตช.-ป.ป.ช. สรุปผลหารือ โอนสำนวน ‘ไม่ยุ่งยาก-ไม่ซับซ้อน’ รวม 15,000 สำนวน ให้ พนง.สอบสวนจาก บช.น.-ตร.ภูธรภาค 1-9 ไปดำเนินการโดยตรง เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. ที่ต้องการให้คดีเสร็จใน 2 ปี เผยค่าตอบแทนถ้าสำนวนเล็ก 3,000 บาท-กลาง 6,000 บาท-ใหญ่ 8,000 บาท จ่อเปิดรับ ตร.วุฒิเนติบัณฑิตมาเสริม หญิง 500 อัตรา ชาย 250 อัตรา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สรุปข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่องแนวทางในการดำเนินการเมื่อรับมอบสำนวนการสอบสวนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ผลการหารือคือ สำนักงาน ป.ป.ช. จะทยอยส่งมอบสำนวนการสอบสวนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการประมาณ 15,000 สำนวน ให้กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และตำรวจภูธรภาค 1-9 โดยตรง ซึ่งมีการส่งมอบไปแล้วบางส่วนให้กับตำรวจภูธรภาค 4 และภาค 5 โดยเมื่อ บช.น. และตำรวจภูธรภาค 1-9 รับมอบสำนวนการสอบสวนแล้ว ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และตำรวจภูธรภาค 1-9 เป็นผู้พิจารณามอบหมายให้พนักงานสอบสวน ได้แก่ กองบังคับการสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรประจำจังหวัด หรือสถานีตำรวจนครบาล หรือสถานีตำรวจภูธรท้องที่ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนวนที่สำนักงาน ป.ป.ช. จะส่งมอบให้กับ บช.น. และตำรวจภูธรภาค 1-9 จะเป็นสำนวนที่ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อน
ส่วนค่าตอบในการทำสำนวนการสอบสวนที่ได้รับมอบมาจากสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการหารือแนวทางของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย เพื่อเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาอนุมัติ โดยค่าตอบแทนในการทำสำนวนจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ
1.สำนวนการสอบสวนที่มีขนาดเล็ก ค่าตอบแทน 3,000 บาท
2.สำนวนการสอบสวนขนาดกลาง ค่าตอบแทน 6,000 บาท
3.สำนวนการสอบสวนขนาดใหญ่ ค่าตอบแทน 8,000 บาท
สำหรับขั้นตอนการสอบสวนนั้น ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบสำนวน ดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นสั่งฟ้อง ให้เสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการ กรณีมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ให้เสนอสำนวนการสอบสวนให้สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาก่อนเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สตช. มีแผนจะเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ในตำแหน่งรองสารวัตร (สอบสวน) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวน โดยรับบุคคลภายนอกหญิง วุฒิเนติบัณฑิต 500 อัตรา และบุคคลภายนอกชาย วุฒิเนติบัณฑิต 250 อัตรา และข้าราชการตำรวจชั้นประทวน วุฒิ น.บ. ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยพนักงานสอบสวนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ให้ทุกหน่วยงานแจ้งให้ผู้ช่วยพนักงานสอบสวนทราบ และเตรียมพร้อม หรือรักษาสิทธิ์ในการสอบคัดเลือกของข้าราชการตำรวจดังกล่าว เช่น เอกสารหรือคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน ส่วนข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่มีวุฒิ น.บ. สมัครใจทำหน้าที่ผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ให้ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องพิจารณามีคำสั่งให้ทำหน้าที่เพื่อให้มีคุณสมบัติและสิทธิในการสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรต่อไป เมื่อปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 3 ปี
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า การส่งมอบสำนวนให้ตำรวจดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ โดยตามมาตรา 61 ที่หาก ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง สามารถมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานภายใน 30 วัน ก่อนจะส่งกลับให้ ป.ป.ช. พิจารณาได้ โดยสาเหตุสำคัญคือเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และสอดคล้องกับมาตรา 48 ที่ ป.ป.ช. ต้องไต่สวนคดีให้เสร็จภายใน 2 ปี และขยายเวลาได้อีก 1 ปี รวมเป็น 3 ปี (อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ประกอบ คลิกที่นี่)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/