เอสซีจียันทำเหมืองต่ออายุ ใช้พื้นที่ 40% ที่เหลือเป็น Buffer Zone-ฟื้นฟูควบคู่
ชมรมสิ่งเเวดล้อม-มูลนิธิสืบฯ จัดถกประเด็นต่ออายุ 'เอสซีจี' ทำเหมืองปูน บนลุ่มน้ำ 1A 'กรมป่าไม้' เผยสาเหตุอายุประทานบัตรเหลืออีก 18 ปี -พิจารณาเรื่องเศรษฐกิจควบคู่ ด้านผู้เเทนปูนซีเมนต์ไทย ยันใช้พื้นที่เเค่ 40% ที่เหลือเป็น Buffer Zone ระบุหาภูเขาหินปูนที่มีศักยภาพนอกพื้นที่ป่าน้ำซึมซับได้ค่อนข้างน้อย
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 มีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก จนกระทั่งมีข้อถกเถียงและกระแสคัดค้านนั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 15 มี.ค. 2562 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีพูดคุยถึงเหตุผลทำไมทำเหมืองปูนบนลุ่มน้ำชั้น 1A ได้ ในวงเสวนา เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ รอนสิทธิคนอยู่ป่าจริงหรือ? และทำไมทำเหมืองปูนบนลุ่มน้ำชั้น 1A ได้" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายประยุทธ เสี้ยวยิ้ม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ ผอ.ส่วนอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ กรมป่าไม้ เปิดเผยถึงความเป็นมาว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าสงวนแห่งชาติ อนุญาตต่ออายุสัมปทานเหมืองได้คราวละไม่เกิน 10 ปี ขณะที่ พ.ร.บ.แร่ ไม่เกิน 25 ปี ต่อมาเปลี่ยนเป็น 30 ปี ซึ่งเอสซีจียื่นขออนุญาตประทานบัตรครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2535 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น อนุญาตเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2544
“ขณะนั้นยังไม่มีมติคณะกรรมการลุ่มน้ำ จึงไม่มีการทำผ่อนผัน ครม. ตามที่เป็นข่าวเหมือนปัจจุบัน เพราะ ครม. มีมติคณะกรรมการลุ่มน้ำ เมื่อปี 2538 แต่เอสซีจียื่นคำขอฯ เมื่อ 15 ธ.ค. 2535 จึงไม่อยู่ในบังคับต้องทำขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A”
ทั้งนี้ การขอออกประทานบัตรได้ต่อเมื่อมีหนังสืออนุญาตจากกรมป่าไม้ ขณะนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงทำหนังสือออกประทานบัตรเป็น 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2554-27 เม.ย. 2579 แต่เมื่อหนังสืออนุญาตหมดไปก่อนประทานบัตร จึงมีการยื่นขอการใช้พื้นที่เดิม ซี่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A และชั้น 3 เลยนำเข้าครม. พิจารณาผ่อนผันเป็นราย ๆ
ผอ.ส่วนอนุญาตฯ กรมป่าไม้ กล่าวต่อถึงสาเหตุต้องอนุญาตทำเหมืองปูนในลุ่มน้ำชั้น 1A ต่อไปว่า เพราะอายุประทานบัตรเหลืออีก 18 ปี จนถึงปี 2579 เมื่อครม.ผ่อนผัน อำนาจการอนุญาตขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมี 12 ราย มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน และหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ จะนำเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อออกหนังสืออนุญาตให้ได้
“การพิจารณาเหมืองปูนหนึ่งเหมือง เริ่มมาจากท้องถิ่นให้ความเห็น เกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน รวมถึงรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และโดยมติครม.ที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่า กรณีอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A มีความจำเป็นต้องใช้ ให้นำเสนอ ครม. ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกรมป่าไม้จะไม่อนุญาตก็ได้ แต่ต้องมองเศรษฐกิจควบคู่ด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตัวแทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี และเอสซีจี เข้าตรวจสอบสภาพเป็นอย่างไรและตรงกับระเบียบหรือไม่” นายประยุทธ กล่าว
ด้านนายศาณิต เกษสุวรรณ ผู้แทนจากเอสซีจี กล่าวว่า พื้นที่ประทานบัตรแปลงใหม่ของเอสซีจี ประมาณ 3 พันไร่ จะทำเหมืองปูนเพียงร้อยละ 40 และเหลือเป็นพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ร้อยละ 60 และตักเฉพาะตรงกลาง เหมือนลูกแตงโม เหลือขอบภูเขาไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฝุ่น รวมถึงพื้นที่ป่ายังเหลืออยู่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติน้อยที่สุด โดยธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้
“เอสซีจีเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาค ช่วงที่เกิดวิกฤต ส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งพม่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเรา กัมพูชา ลาว อาเซียน ส่วนหนึ่ง ซึ่งช่วงนั้นเรามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเยอะ จึงต้องทำให้สมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติให้ได้ ถ้าเราไม่มีคนซื้อซีเมนต์เลย เราก็ไม่รอดเหมือนกัน แต่หลัง ๆ เริ่มรู้ว่าแหล่งที่ต้องการซีเมนต์เยอะ ๆ ส่งออกจากประเทศไทย เอสซีจีจึงย้ายฐานการผลิตอยู่ในพม่า กัมพูชา 2 แห่ง ลาว 1 แห่ง เวียดนาม 2 แห่ง และอินโดนีเซีย”
ขณะที่ นายมงคล พรชื่นชูวงศ์ ผู้แทนจากเอสซีจี กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่แปลง 3 พันไร่ ที่ขออนุญาตประทานบัตรได้ เอสซีจีจะดำเนินการเท่าที่จำเป็น ขณะเดียวกันจะมีการฟื้นฟูพื้นที่ควบคู่ด้วย โดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นหลัก นำความรู้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ต่าง ๆ มาปรับใช้ว่า พื้นที่เสื่อมโทรมมีหลักการอย่างไร และปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอด ดังนั้น ยืนยันสามารถฟื้นฟู ดำรงสถานะความเป็นลุ่มน้ำได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา และองค์ความรู้
ทั้งนี้ เหตุผลแหล่งหินปูนต้องอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A เนื่องจากพบว่า ในการคิดลุ่มน้ำดังกล่าวจะมี 7 สมการ หนึ่งในนั้นคือ ความลาดชันของภูเขา ซึ่งภูเขาหินปูนในไทยเกือบทั้งหมดจะถูกจำแนกเป็นลุ่มน้ำ 1A ดังนั้น ภูเขาหินปูนที่มีศักยภาพนอกพื้นที่ดังกล่าวจึงหาได้ค่อนข้างน้อย
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม กล่าวเสนอแนะว่า การผลิตปูนซีเมนต์ส่งผลกระทบต่อป่าต้นน้ำโดยตรง ดังนั้นในอนาคตผู้เกี่ยวข้องต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ Strategic Environmental Assessment:SEA) จากนั้นค่อยวางแผนให้เกิดประโยชน์สูงสุดว่าพื้นที่ใดเหมาะกับการทำหินปูน หรือสงวนไว้
นอกจากนี้กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเหมืองแร่ต้องเร่งทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่โดยไม่กระทบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บนลุ่มน้ำ 1A ทุกแห่ง เป็นเขตศักยภาพแร่เพื่อการเหมืองแร่ Mining Zone เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นลำธารและป่าน้ำซับ
“การอนุญาตให้เอสซีจีเข้าทำเหมืองหินปูนบนพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A หลังปี 2560 ขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.แร่ 2560 หรือไม่ซึ่งมาตรา 17 พ.ร.บ. แร่ บอกไว้ชัดว่า พื้นที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคง แห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ำซับซึม” ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าว .
อ่านประกอบ:3 ปี ครม.ผ่อนผันใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำ-ต่อประทานบัตรเหมือง ให้ผู้ประกอบการหลายราย
ปูนซิเมนต์ไทย ขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1
เอสซีจี ยืนยันทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการต่ออายุเหมือง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/